“คดีตากใบ” หมดอายุความ 25 ต.ค.67 “คน” ในกระบวนการยุติธรรมประเทศไทย ถูกประจานไปทั่วโลก เหม็นคลุ้งไปทั้งโลกา
เราต้องแยกให้ออกระหว่าง “กระบวนการยุติธรรม” กับ “คนในกระบวนการยุติธรรม” กระบวนการยุติธรรมไทยมีมาตรฐานระดับไอเอสโอการันตีคุณภาพ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับ “คน” โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้มีอำนาจ” ส่วนใหญ่ลงเอยที่ “คนผิดลอยนวล” ทิ้งความอยุติธรรมไว้ให้ดูต่างหน้า
โดยเฉพาะปัญหาปลายด้ามขวาน จากอดีตถึงปัจจุบัน “ชวน หลีกภัย” อดีตนายกฯ เป็นอีกคนหนึ่งที่มองทะลุ เพราะลงพื้นที่ตั้งแต่สมัยต้องพกพจนานุกรมฉบับไทย-มลายู ศึกษาประวัติศาตร์ในพื้นที่ละเอียดยิบ
ขอขีดเส้นเริ่มต้นในยุคสมัยรัชกาลที่ 6 มีหลักรัฐประศาสนโยบาย สำหรับปกครองหัวเมืองภาคใต้ โดยเฉพาะ “ส่งคนดีไป” ไม่ส่งข้าราชการไปลงโทษ มาถึงรัชกาลที่ 9 เสด็จพร้อมสมเด็จพระพันปีหลวงทุกปี กว่า 40 ปี เสด็จในพื้นที่เหล่านั้น
ความรุนแรงลดลงโดยลำดับ ถึงขึ้นพูดได้เต็มปาก “เหตุการณ์สงบแล้ว” มีบ้างประปราย เช่น เอากระสอบป่านชุบน้ำมันก๊าดเผาบันไดโรงเรียน เผาสถานีอนามัย แต่ไม่มีเสียชีวิต
มาถึงยุคเปลี่ยนแปลงนโยบายความมั่นคง 8 เม.ย.44 หลังวันที่ 7 เม.ย. มีเหตุระเบิดสถานีรถไฟหาดใหญ่ ข้อมูลดิบๆ หัวโจกมีไม่เกิน 18 คน จัดการเดือนละ 10 คน 2 เดือนหมด ส่งมือเก็บระดับอ๋องสายสีกากี…ลงไปจัดการ
เป็นมาตรการเด็ดขาดนอกกฎหมาย นอกหลักนิติธรรม เป็นจุดเริ่มต้นเสียงปืนแตก เหตุการณ์ตากใบ-กรือเซะ กลุ่มมุสลิมก่อตัวใหม่ในนาม “อาร์เคเค” ฟักไข่ 3 ปี ปีกกล้าขาแข็ง ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส 4 ม.ค.47 จำนวน 413 กระบอก 1 “ปล้นรุนแรงที่สุดในยุครัตนโกสินทร์”
จนถูกตั้งข้อสังเกตว่า ปืนเหล่านี้ใช้เขย่าปลายด้ามขวาน เป็นชนวนความไม่สงบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สูญเสียชีวิตเพิ่มขึ้น รัฐทุ่มงบมหาศาลลงไปแก้ไม่สะเด็ดน้ำเสียที
จากนโยบายความมั่นคงในยุคนั้น ถูกเปลี่ยนเป็น “นโยบายโจรกระจอก” หรือ “นโยบายตามอำเภอใจ” ไม่สนไม่แคร์นโยบายสภาความมั่นคง ตามสไตล์ของ “ท่านผู้นำ”…สั่งตามเก็บ จนเกิดเหตุ “กรือเซะ-ตากใบ” โดยเฉพาะคดีตากใบเสียชีวิต 85 คน รูปคดีซับซ้อนซ่อนเงื่อน เกี่ยวข้องหลายมิติ นับจากปี 47 ถึงปี 67 คดีตากใบขาดอายุความ
คำถาม…ทำไมผู้ต้องหาที่เป็นฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร ถึงไม่ต่อสู้คดี โดยเฉพาะคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ ไม่มีตำแหน่ง สู้คดีมีโอกาสศาลยก เพราะตามขั้นตอนการไต่ส่วนจนฟ้องศาล ศาลยกองค์ประกอบกฎหมายชัดเจน “ฆ่าคนโดยเจตนา”
แต่ทั้งหมดทั้งมวลมันโยงกับ “อำนาจรัฐ” และ “อำนาจการเมือง” ขืนผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าหน้าที่ไม่มีตำแหน่ง เดินหน้าสู้คดีเสี่ยงสูง ตกเป็นเป้าของขบวนการเถื่อนเล่นงานเอาได้
ไหนๆ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ มี “จาตุรนต์ ฉายแสง” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธานอยู่แล้ว
ต้องขยายเวลาของกมธ. ถอดบทเรียนคดีตากใบ กระซากหน้ากาก “คนในกระบวนการยุติธรรม” ในขั้นตอนใด “โกงความตาย” ให้ “ผู้ต้องหา” แต่โยนระเบิดเวลาตอกลิ่มขัดแย้งให้เกิดขึ้นปลายด้ามขวาน
เพื่อเป็นสารตั้งต้นฟื้นฟูความเชื่อมั่นคนในกระบวนการยุติธรรม รัฐต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส
……….
คอลัมน์ : ไขกุญแจ/ไขแหลก
โดย…..#ราษฏรเต็มขั้น