สึนามิ 26 ธ.ค.2547 คลื่นยักษ์ม้วนตัวสร้างหายนะให้ “ไทย” สูญเสียรุนแรง สะเทือน ทุกจังหวัดปลายด้ามขวาน กระเพื่อมถึง “กทม.” อาคารสูงหลายแห่งรับรู้ได้ โดยเฉพาะ 6 จังหวัดภาคใต้ “ภูเก็ต-พังงา-กระบี่-ตรัง-ระนอง-สตูล” กวาดชีวิตผู้คน ราว 54,000 คน
ครบรอบรำลึก 20 ปี ภัยพิบัติสึนามิ ในปี 67 ดู “รัฐบาลอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ไม่เต็มร้อย ยังดีที่ “ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว” จับมือ “สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ” (วช.) ภายใต้ กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้จัดงานวิจัยแผ่นดินไหวของประเทศไทย ที่จ.พังงา ในรูปแบบเวิร์กช็อปเตรียมรับมือภัยพิบัติ
ลงภาคสนามในหลายจุดที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ “คณะวิจัย-ผู้เชี่ยวชาญทั้งไทย-เทศ” มุ่งมั่นมาก ร่วมเรียนรู้รับมือ “ภัยพิบัติ” ผ่านการบรรยาย เน้นกิจกรรมเชิงปฏิบัติแก่นักเรียน ใช้เครื่องมือจริง มีกลอุบายเรียนรู้ผ่านการเล่นเกม สร้างความตระหนักความปลอดภัยจากภัยพิบัติ
เอางานวิจัยตลอด 20 ปี มาถอดบทเรียน หาแนวทางรับมือภัยพิบัติในอนาคต โดยเฉพาะไทย-ญี่ปุ่น จับมือมัดข้าวต้มร่วมมือพัฒนาความปลอดภัยจากสึนามิ
“ระดับนโยบายของประเทศไทยยังมุ่งเน้นเยียวยาเป็นหลัก” รัชนีกร ทองทิพย์ สมาชิกวุฒิสภา ตีแสกหน้ารัฐบาล เอาให้เห็นภาพหลังเกิดเหตุ “สึนามิโคลนถล่มเชียงราย” ครม.ตีปี๊บเร่งเยียวยา ฟื้นฟูพื้นที่เป็นงานรูทีนที่ต้องเร่งทำ
แต่มาตรการป้องกัน เตือนภัย ซักซ้อม รับมือสถานการณ์ฉุกเฉินภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ กลับ “เงียบฉี่” เหมือนป่าช้า รัฐบาลไม่เทคแอคชั่นตีเหล็กตอนร้อน แก้ไขที่ต้นเหตุ ไม่ใช่เยียวยาคือจบ ปิดจ๊อบ
ถึงบรรทัดนี้รัฐบาลได้เวลากำหนดนโยบายรับมือภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ สนับสนุนการศึกษาพื้นที่เสี่ยงภัย ออกแบบผังเมือง ก่อสร้างเมืองให้พร้อมรับมือภัยพิบัติ โดยนำเอาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมาช่วย ควรมีหลักสูตรการเรียนการสอนภัยพิบัติทุกรูปแบบ ให้เยาวชนอนาคตของชาติไม่เกิดความตระหนกจนสูญเสียการควบคุม
ถึงอย่างไรในอนาคตภัยพิบัติต่างๆ รุนแรงมากขึ้น จากปัจจัยภาวะวิกฤติโลกเดือด โลกรวน อุณหภูมิร้อนขึ้นกว่าเดิม สภาพอากาสแปรปรวน ถึงขั้นทำนายกำลังเข้าสู่ยุคโลกหายนะ ทั้งหมดเป็นผลกระทบจากกิจกรรมของมวลมนุษยชาติ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตัดไม้ทำลายป่า ใช้พลังงานฟอสซิล
ที่แน่ๆ ในงานครบรอบ 20 ปี มีเสียงเตือนดังๆ ถึงแนวโน้ม “เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่-สึนามิขึ้นอีก” ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ระบุโดยชี้ให้เห็นถึงรอยต่อแผ่นดินไหวอาระกันที่ยังไม่คลายพลังงาน “อาจเกิดเหตุรุนแรงในหมู่เกาะอันดามัน” อีกครั้ง
แต่ประเทศไทยยังไม่พร้อม ระบบเตือนภัยหลายพื้นที่ อยู่ห่างไกลจากหอเตือนภัย เกิดเหตุจริงกดปุ่มเตือนภัยก็ไม่ได้ยิน รัฐบาลควรทดสอบระบบส่งข้อความจากวิทยุโทรทัศน์ เป็นส่งข้อความเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เข้าถึงผู้คนจำนวนมากเหมือนในต่างประเทศ
ข้อเสนอเหล่านี้ รัฐบาลที่วิสัยทัศน์ยาวไกล คำนึงประโยชน์ของประเทศและประชาชนจริง เชื่อมั่นว่าไม่ปล่อยโอกาสทองลอยหลุดมือ ควรเร่งลงมือปฏิบัติ ช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิต-ทรัพย์สินของประชาชน
หมดยุครัฐบาลที่ถนัดควักงบประมาณแผ่นดินที่เป็นภาษีของประชาชนจ่ายเยียวยา ฟื้นฟู แล้วอ้างเป็นผลงาน สะท้อน “กึ๋น” ของ “รมต.ที่เกี่ยวข้อง” และ “ผู้นำรัฐบาลในแต่ละยุค” ได้เป็นอย่างดี
…………………………….
คอลัมน์ : ไขกุญแจ-ไขแหลก
โดย…. #ราษฎรเต็มขั้น