วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSปฏิรูปประเทศไทยกับอุดมการณ์ทางการเมือง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ปฏิรูปประเทศไทยกับอุดมการณ์ทางการเมือง

วันนี้ใกล้เข้าสู่เดือนแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง “ปฏิวัติสยาม 24 มิ.ย. 2475” นับจากวันนั้นถึงวันนี้ยังไม่มียุคไหนเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ในมุมมองของ “ราษฎรเต็มขั้น”

เพราะในแต่ละยุค แต่ละสมัย นักการเมือง นักวิชาการ ซ้ายสุดโต่ง หรือขวาตกขอบ ต่างขับเคี่ยวต่อสู้ทางความคิด เสนอแนวทางที่ดีให้กับบ้านเมือง โดยมี “กลุ่มผลประโยชน์” รวมถึง “ชนชั้นนำ” ที่คอยผสมโรงเกือบทุกจังหวะ 

และมีกลิ่นอายอิทธิพลของ 2 ขั้วอำนาจโลกฟุ้งเข้ามาเจือปนมากบ้าง-น้อยมาก แล้วแต่สถานการณ์ในห้วงนั้นๆ

สถานการณ์การเมืองในยุคโควิด-19 ก็ยังตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น แต่โชคดีที่ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง การเมืองท้องถิ่น การเมืองระดับชาติต่างปรับตัว เพื่อให้ตกเป็นตัวเลือกของประชาชน 

กลไกรัฐราชการ-ทหาร-ตำรวจ-ผู้นำท้องถิ่น-ทุนใหญ่ ต้องยอมรับว่ายังเป็นปัจจัยใหญ่สำหรับผลชี้ขาดในการเลือกตั้งทุกระดับ 

“อุดมการณ์ทางการเมือง” นับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ แต่ช่วงหลังๆ ขอให้ช่วยกันตอบโดยไม่ต้องคิดว่าบนกระดานการเมืองไทย พรรคไหนมีอุดมการณ์จริงและเลือกตั้งใช้จ่ายเงินทุกบาททุกสตางค์ตามที่กฎหมายกำหนดบ้าง  

คิดไม่ออก บอกไม่ถูก ไม่แน่ใจ ไม่ขอตอบดีกว่า หรือ อ๋อ!! พรรคนี้ที่ฉันชอบมีอุดมการณ์  

บางพรรคที่เคยครองความยิ่งใหญ่ ขอให้ส่องดูไส้ใน ล้วนไม่มีต้นกล้าประชาธิปไตยตกอยู่ในกระเพาะของพรรคเลย เพราะการตัดสินใจที่สำคัญเกือบทุกครั้ง คณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเพียงเงาคอยเคลื่อนไหวตามเจ้าของเงาพรรคเท่านั้น เลือกตั้งครั้งต่อไปคงเกาะเกี่ยวกินบุญเก่า 

บางพรรคที่หมายมั่นปั้นมือต้องขึ้นเป็นนายกฯให้ได้ เพราะทุนพร้อม กองหนุนพร้อม การบริหารภายในดูแลเป็นมุ้ง ทำงานเข้าเป้าเอารางวัลไป และขึ้นอยู่กับผู้นำนอกพรรค พรรคนี้น่าเกรงขาม สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะล็อกเป้านิ่งแล้วยิงเต็มข้อ

อีกพรรคเคยมีอุดมการณ์กล้าแกร่ง รูปแบบการบริหารขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารพรรค การบริหารภายในก็ดูแลเป็นกลุ่มก๊วน ลุ้นอยู่ว่าจะมีการเปลี่ยนม้ากลางศึกก่อนถึงเลือกตั้งใหญ่หรือไม่ และยังตกอยู่ในสภาพเลือดไหลไม่หยุด   

ขณะ พรรคพลังประชารัฐ โดยพฤตินัยไม่ได้ถูกบริหารโดยคณะกรรมการบริหารพรรค มีกองหนุนทุนและกองกำลังเต็มพิกัด จนถูกนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์มองว่าเป็น “พรรครัฐราชการ-ทหาร” และร้อยรัดอำนาจด้วย “ก้อนเค้กทางเศรษฐกิจ” เลือกตั้งครั้งต่อไปยังได้เปรียบ เพราะเริ่มต้นด้วย 250 เสียงในกำมือ 

ส่วนอีก 75 พรรคการเมือง ขออนุญาตไม่พูดถึง ยกเว้น “พรรคก้าวไกล” คู่แฝดอินจัน “คณะก้าวหน้า” หลังได้เห็นบทบาทการทำหน้าที่ในสภา การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นทุกระดับ 

“ราษฎร์เต็มขั้น” ขอบอกว่า บทบาทในสภาไม่ต้องพูดถึง เชื่อว่าส่วนใหญ่ต่างชื่นชม เพราะทุกครั้งที่ก้าวขึ้นเวทีสภา แต่ละคนทำการบ้านมาดี มีทีมคอยสนับสนุนข้อมูล การอภิปรายแต่ละครั้งถึงน่าติดตาม เพราะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง  

ขณะที่ภาคปฏิบัติพื้นที่เลือกตั้ง นับตั้งแต่ผ่านการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา ใช้งบหาเสียงส.ส.ทั่วประเทศไปแค่ 300 ล้านบาท กวาดส.ส.เข้าสภาได้มากกว่าพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ 

แม้ถูกวิจารณ์ในทางลบว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับแพ้ราบคาบ ล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่หากวิเคราะห์ให้ดีย่อมพบว่า ไม่มีการเลือกตั้งครั้งไหนทำให้ “บ้านใหญ่” ส่วนใหญ่ออกแรงหนักมากถึงเก็บเกี่ยวชัยชนะได้  

ต่างกับ “คู่แฝดอินจัน” บอกความในใจตรงว่า ทั้งหมดที่ได้คือคะแนนบริสุทธิ์ผุดผ่อง 

ขอรดน้ำพวนดินต้นกล้าประชาธิปไตยให้ผลิบาน รอเวลาการเลือกตั้งอีกสัก 3 รอบ 

ถึงวันนั้น พรรคที่เดินตามอุดมการณ์คง “ปฏิรูปประเทศไทย” ได้สำเร็จตามเป้าหมาย 

ภายใต้วัฒนธรรมเก่าและวัฒนธรรมใหม่เปิดสวิตช์สปาร์คไฟไปด้วยกัน

…………………………………………..
คอลัมน์ : ไขกุญแจ-ไขแหลก
โดย “ราษฎรเต็มขั้น”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img