การเมืองเขม็งเกลียวเพิ่มมากขึ้น เมื่อ ผลประชุมร่วมรัฐสภา ระหว่าง “สส.” กับ “สว.” เพื่อพิจารณา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดประตูให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปรากฏว่า ไปคนละทิศละทาง แต่ส่วนใหญ่มีธงเดียวกัน ยังไม่ถึงจังหวะแก้รัฐธรรมนูญ
จนมีคำถามแซวแรง “แก้รัฐธรรมนูญชาตินี้หรือชาติไหน” เพราะเป็นนโยบายเรือธงทางการเมืองของรัฐบาล เพื่อแก้ต้นตอวิกฤติประเทศ ในมิติเศรษฐกิจ มิติความมั่นคงภายใน
วันนี้นโยบายเรือธงการเมืองแป้ก กฎหมายประชามติแพ้เกมพรรคภูมิใจไทย นโยบายเรือธงเศรษฐกิจแจกดิจิทัลวอลเล็ตไม่ตรงปก เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ยังลูกผีลูกคน รัฐบาลเพื่อไทยเป๋ บริหารผิดฟอร์ม
วุฒิสภาเสือตัวใหม่ลายน้ำเงินวาดลวดลายไม่แพ้สภาผู้แทนราษฎร โดยเคลื่อนไหวตีคู่ขนานสภาผู้แทนราษฎรในปมแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทางสภาขยับ ฝ่ายบริหารเคลื่อนมาตั้งแต่ยุค “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” จนถึง “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” เสียงยังแตกในปม “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้งตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 64 โดยไม่มีข้อสรุป
แม้ฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร ที่พอได้ดูคำวินิจฉัยส่วนบุคคลตุลาการรัฐธรรมนูญ ชี้ว่า สุดท้ายแล้วทำประชามติแค่ 2 ครั้ง
ต่างกับสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งยืนอยู่ฝ่ายนิติบัญญัติเหมือนสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอต่อประธานรัฐสภา ถึงแนวทางยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสำนักงานกฎหมายวุฒิสภาชี้ต้องออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง
โดยครั้งที่ 1 ถามประชาชนก่อนว่า ต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าทำประชามติผ่านครั้งที่ 1 ให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอแก้ไข นำเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภา

ถ้ารัฐสภาเห็นชอบ จึงทำประชามติครั้งที่ 2 ถ้าผ่านก็ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ “ส.ส.ร.” มาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จนเสร็จ ก่อนเสนอรัฐสภาพิจารณา ถึงเข้าสู่กระบวนการทำประชามติครั้งที่ 3
สำนักงานกฎหมาย วุฒิสภา ยกคำวินิจฉัยกลางศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า รัฐสภามีหน้าที่ และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงมติเสียก่อนว่าประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่”
ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายกฎหมายสภาผู้แทนราษฎรเห็นแย้งกับสำนักงานกฎหมาย วุฒิสภา เป็นที่มาของ “นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ” สว. เสนอญัตติด่วนขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า “สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนทำประชามติหรือไม่” ต่างกับ “พรรคประชาชน” ฟันธงรัฐสภามีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญ
ต้องโหวตหาข้อยุติ ที่ประชุมรัฐสภาไม่เห็นชอบเลื่อนญัตติด่วนของนพ.เปรมศักดิ์ขึ้นมาพิจารณาก่อนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“เก๋าเกม” อย่าง “นพ.เปรมศักดิ์” ที่รู้ทิศทางลม “เกมแห่งอำนาจ” เป็นอย่างดี เสนอนับองค์ประชุมตบหน้า “พรรคประชาชน” แต่ดันเข้าทางสว.สายสีน้ำเงิน และพรรคสีน้ำเงินอย่างจัง สุดท้ายองค์ประชุมไม่ครบ ล่มไม่เป็นท่า
เบรกแก้กติการื้อค่ายกลโครงสร้างอำนาจประเทศไทย “ภูมิใจไทย” ได้แต้ม “เพื่อไทย” เสียเหลี่ยม
…………….
คอลัมน์ : ไขกุญแจ/ไขแหลก
โดย…#ราษฎรเต็มขั้น