วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“แก้รัฐธรรมนูญ” เพื่อประเทศ หรือ นักการเมือง?
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“แก้รัฐธรรมนูญ” เพื่อประเทศ หรือ นักการเมือง?

ระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมัน ไม่กินเส้นพรรคการเมืองใหญ่ๆ “พรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ” เพราะอะไร เป็นคำถามที่ต้องรอคำตอบให้แก้ไขประเด็นนี้สะเด็ดน้ำและนำไปใช้ในการเลือกครั้งต่อไป

ในโลกใบนี้มี “ระบบเลือกตั้งเสียงข้างมาก” และ “ระบบเลือกตั้งสัดส่วน” ทั้งสองระบบมีข้อดี-ข้อด้อยต่างกัน มีหลายประเทศที่นำมาผสมเข้าด้วยกัน

กลายเป็น สูตรแรก ระบบคู่ขนาน Parallel System การนับคะแนนส.ส.เขตและส.ส.บัญชีรายชื่อ แยกกันเด็ดขาด เหมือนคู่ขนาน ประเทศไทยใช้สูตรตาม รธน.40

สูตรสอง ระบบสัดส่วนผสม Mixed-Member Proportional MMP เอาคะแนนเลือกพรรคมาเป็นตัวตั้ง เพื่อกำหนดจำนวนส.ส.ทั้งสภา ที่เรียกกันว่า ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมัน

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ cr / สำนักงาน ป.ย.ป.

หากจำกันได้ “ดร.ปื๊ด” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยุคต้นรัฐบาล คสช. ก็กำหนดให้มีการเลือกตั้งรูปแบบนี้ สุดท้ายถูกคว่ำไป

“พี่มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ เคยดีเบตผ่านรายงานเสวนาเกี่ยวกับการแก้รธน. ถึงขั้นเสนอล้ำหน้า นอกจากกำหนดบัญชีรายชื่อนายกฯแล้ว ควรเสนอชื่อบัญชีครม.ด้วย

ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมันที่กลับกลายมาประเด็นอีกครั้ง เพราะพรรคก้าวไกลภูมิใจนำเสนอ “เลือกคนที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบ” เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างระบบเลือกตั้งตาม รธน.40 และ รธน.60

กำหนดให้มีบัตร 2 ใบ ซึ่งใบแรกเลือกส.ส.เขต และใบที่สองเลือกพรรค ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง

ใบที่เลือกพรรคเอาคำนวณเป็น “ส.ส.พึงมี” เป็นตัวกำหนดว่า แต่ละพรรคควรมีส.ส.จำนวนเท่าไหร่

ถ้าได้ส.ส.เขตมากกว่า “ส.ส.พึงมี” พรรคนั้นก็ได้ส.ส.ไปเท่านั้น แต่ถ้าได้ส.ส.เขตน้อยกว่าส.ส.พึงมี ก็ไปบวกส.ส.ในบัญชีรายชื่อ คล้าย รธน.60

ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมันจำเป็นต้องมี Over Hang Seat คือมีจำนวนส.ส.มากกว่า 500 คน เพื่อให้สัดส่วนส.ส.ในสภาของแต่ละพรรค สะท้อนต่อโหวตเตอร์หรือตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน

ภาพ/ FB ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เคยฉายภาพต่อกมธ.ชุด “ดร.ปื๊ด”

โดยเปรียบเทียบให้ภาพชัดเจนมากขึ้น ยกตัวอย่างการเลือกตั้งปี 50 ในยุคพลังประชารัฐ/เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์

พลังประชารัฐ/เพื่อไทย ได้ส.ส. 233 คน-คิดตามสูตรเยอรมัน ได้เพียง 197 คน

ขณะที่ประชาธิปัตย์ ได้ส.ส. 164 คน-คิดสูตรเยอรมันได้ถึง 194 คน

ไปดูการเลือกตั้งปี 54 พลังประชารัฐ/เพื่อไทย ได้ส.ส.เขต 205 คน บัญชีรายชื่อ 60 คน รวม 265 คน – คิดสูตรเยอรมัน ได้ส.ส.เขต 205 คน บัญชีรายชื่อเพียง 37 คน รวม 242 คน

ประชาธิปัตย์ ได้ส.ส.เขต 114 คน บัญชีรายชื่อ 45 คน รวม 159 คน – คิดสูตรเยอรมัน ได้ส.ส.เขต 114 คน บัญชีรายชื่อขยับเป็น 62 คน รวม 176 คน

สะท้อนเสียงโหวตเตอร์หรือตอบโจทย์ประชาชนในการเลือกตั้ง ป้องกันพรรคใหญ่ ๆ รวบอำนาจ และฝ่ายค้านอ่อนแอ

ยังดีที่พรรคก้าวไกลซึ่งแจ้งเกิดจากรธน.60 กล้าเสนอระบบการเลือกแบบเยอรมันให้สังคมได้ฉุกคิด

โดย “เดอะจ้อน” พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กรุยทางประเด็นนี้มาตลอด เพื่อพัฒนาไปสู่สถาบันการเมืองเต็มตัว

แต่พรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแนวร่วมฝ่ายค้าน ไม่รับมุกร่วมลงเสียงสนับสนุนร่างแก้ไขรธน.ฉบับก้าวไกล ซึ่งมีเสียงส.ส.ลงชื่อสนับสนุนไม่ถึง 100 คน ตกเวทีประกวดไปตั้งแต่ไก่โห่

พรรคเพื่อไทยกล้าหักเหลี่ยมโหดพรรคก้าวไกล เพราะต้องการบอนไซเพื่อนร่วมอุดมกรณ์ โดยเฉพาะฐานเสียง 2 พรรคนี้ ทับสัมปทานกันอยู่

ที่สำคัญพรรค เพื่อไทยเชื่อมั่นบุญเก่าของ “นายใหญ่” นำพาสู่ชัยชนะชนิดแลนด์สไลด์

ฉะนั้น “ราษฎรเต็มขั้น” ขอให้บรรดานักการเมือง นักวิชาการ หรือฝ่ายอื่น ๆ ต้องใช้จังหวะนี้ เฟ้นหารูปแบบการเลือกตั้งที่เหมาะสมกับประเทศไทย

ไม่ใช่แก้ไขรธน.แต่ละครั้ง ต้องการเพียงให้ฝ่ายตัวเองชิงความได้เปรียบคู่แข่ง

โดยไม่สนใจประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตยตัวจริง

“ราษฎรเต็มขั้น” ขอเตือน หาก “รัฐบาลลุงตู่” และ “พรรคเพื่อไทย” เดินหน้าลุยถั่วแก้ไขรธน.ใช้ระบบเลือกตั้งสูตรระบบคู่ขนาน โดยไม่ปรับโครงสร้างการตรวจสอบถ่วงดุล และที่มาองค์กรอิสระทั้งหมด เพื่อให้อิสระจริง

เท่ากับผลักดันให้เกิดเผด็จการรัฐสภา บังคับให้ประชาชนเลือกข้าง ตอกลิ่มความแตกแยกในสังคม

……………………………………

คอลัมน์ : ไขกุญแจ/ไขแหลก

โดย… “ราษฎรเต็มขั้น”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img