วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS‘คอร์รัปชันเบ่งบาน’ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘คอร์รัปชันเบ่งบาน’ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง

เสียบปลั๊กรธน.ปราบโกงกลับไปเหมือนเดิม นับเป็นการถอยกรูดของพรรคพลังประชารัฐ โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ผู้ยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรับปากกลางสภา ผ่านวาระ 1 รับหลักการแล้วจะผลักดันในชั้นกมธ.ให้คงหลักการเดิมไว้

หลังจากนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกฯ ส่งสัญญาณจากทำเนียบรัฐบาลถึงรัฐสภาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยที่จะตัดหัวใจป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐธรรมนูญ 60 

สำทับด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันไม่แก้แน่นอน  

เพื่อตัดชนวนที่เริ่มถาโถมโหมไฟร้อนแรงอีกระลอกถล่มรัฐบาล

หลัง นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. จงใจตั้งคำถามต่อสาธารณะถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆว่า “สมนาคุณพรรคใหญ่? ถอดปลั๊กรธน.ปราบโกง? ปิดสวิทซ์ส.ว.?” 

โดยเฉพาะประเด็น ถอดปลั๊กรธน.ปราบโกง ซึ่งแก้ไขตัดบทลงโทษรุนแรงต่อนักการเมืองและข้าราชการประจำที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการใช้งบประมาณแผ่นดิน 

ขณะเดียวกัน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ถึงกับยืนไม่ติด ออกแถลงการณ์ด่วน “คัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดประตูให้คดโกงงบประมาณแผ่นดิน” พุ่งเป้าที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคพลังประชารัฐ 

เพราะต้องยอมรับว่า ในอดีตผลของการสอดแทรกใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ถูกต้อง ส่งผลต่องบประมาณแผ่นดินถูกจัดสรรอย่างไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด 

การเสนอแก้ของพรรคพลังประชารัฐ เท่ากับเปิดให้คอร์รัปชันและขัดต่อหลักธรรมาภิบาล มีผลประโยชน์ทับซ้อนตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ 

นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการ ACT ออกโรงดักคออีกรอบว่า แม้นายไพบูลย์ นิติตะวัน พร้อมปรับถ้อยคำในชั้นกมธ. ขอเสียบปลั๊กรธน.ปราบโกงกลับไปเหมือนเดิม หลังผ่านวาระ 1 ไปแล้ว 

แต่ ACT อ่านเกมทะลุว่า ไว้ใจนักการเมืองไม่ได้ เพราะ “ในชั้นกมธ. การแปรญัตติอาจอ้างว่าไม่สามารถแก้ไขให้ผิดไปจากหลักการที่ได้รับรองในวาระที่ 1 แล้ว” 

ทางออกที่ดี สมาชิกรัฐสภาต้อง “ไม่รับหลักการ” ตั้งแต่วาระแรก

หรือถ้าไม่ยอมถอนร่างออกไป ขอให้ตัดถ้อยคำในหลักการและเนื้อหาทั้งหมดเกี่ยวกับปมร้อนนี้ 

ก่อนหน้านั้น 16 พ.ค.64 นายกฯประกาศการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ และวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลแต่ละปี นายกฯย้ำตลอดถึงการยืนอยู่ตรงข้ามกับฝ่ายที่คอร์รัปชัน 

ขนาดนายกฯขึงขังเอาจริงกับการต่อต้านคอร์รัปชัน แต่รัฐบาลคสช.มาถึงรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งมีผู้นำคนเดียวกัน 7 ปีเต็ม ยังถูกตีแสกหน้าโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เปิดดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลก ประจำปี 63

ปรากฏว่า 2 ใน 3 ของ 180 ประเทศทั่วโลกได้คะแนนต่ำกว่าครึ่ง จากคะแนนเต็ม 100 สะท้อนให้เห็นปัญหาคอร์รัปชันในหลายประเทศ ยังแก้ปัญหาไม่สะเด็ดน้ำ 

โดยประเทศไทยได้คะแนนแค่ 36 คะแนน เท่ากับปี 62 แต่ลำดับการทุจริตแย่กว่าปี 62 ถึง 3 ลำดับ หล่นไปอยู่ที่ 104 สะท้อนให้เห็นว่าการทุจริตยังคงบานสะพรั่ง 

และภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2560-2564 ขีดเส้นให้ประเทศ ต้องยกระดับคะแนนดัชนี้ชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันให้สูงเกินครึ่ง คือกว่า 50 คะแนน 

คะแนนดัชนีด้านนี้ของไทยกลับสอบตกตลอด ตั้งแต่ปี 60 ได้แค่ 37 คะแนน ปี 61 ลดลงเหลือ 36 คะแนน ปี 62 ได้ 36 คะแนนเท่าเดิม แต่ลำดับการทุจริตล่นไปอยู่ที่ 96-99-101 ตามลำดับ 

นั้นหมายถึงการมีกฎเหล็กเสียบปลั๊กรธน.ปราบโกงอยู่ ดัชนีด้านนี้ยังสอบตกยกชั้น หากรัฐบาลและสมาชิกรัฐสภากล้าถอดปลั๊กรนธ.ปราบโกง เท่ากับเป็น ตราบาปของสมาชิกรัฐสภาและรัฐบาลชุดนี้ 

เมื่อ “ราษฎรเต็มขั้น” ส่องดูสภาพการเมืองที่พยายามผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ แบ่งเป็นส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน  

ย่อมเข้าทางพรรคการเมืองที่มีอำนาจ ทุนรอน และผู้สมัครส.ส.มีบารมีในพื้นที่ สามารถล็อคดาวน์คะแนนเขตเลือกตั้งนั้นๆ ได้ ให้ผลการเลือกตั้งเป็นไปตามที่พรรคตัวเองต้องการ 

ตราบใดที่การเมืองแข่งขันชนิดเอาเป็นเอาตาย เพื่อช่วงชิงตำแหน่งทางการเมือง และเข้าแสวงหาผลประโยชน์บนสภาพกลไก ระบบควบคุม ตรวจสอบขาดประสิทธิภาพ  

นับเป็นอีกสาเหตุสำคัญของการคอร์รัปชันในยุคนี้ ยิ่งป้องกันและปราบปรามยิ่งบานสะพรั่ง 

………………………………………….
คอลัมน์ : ไขกุญแจ-ไขแหลก
โดย “ราษฎรเต็มขั้น”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img