วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSทิ้งทวนก่อนเลือกตั้ง...?
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ทิ้งทวนก่อนเลือกตั้ง…?

ปีสุดท้ายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครบเทอม 4 ปีเต็มมี.ค.65 เกิดปรากฏการณ์ “สภาอับปางซ้ำซาก” บรรยากาศการประชุมสภาไร้ชีวิตชีวา ส.ส.แต่ละพรรคแต่ละขั้วเล่นชิงไหวชิงพริบทางการเมือง ถูกตั้งคำถามถึงทำหน้าที่ไม่คุ้มเงินเดือนที่มาจากภาษีของประชาชน

ล่าสุดลามไปถึงการประชุม “ครม. 8 ก.พ.65” ร้าว 7 รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยบอยคอต ร่อนใบลาไม่ร่วมวงครม. คัดง้างค้านต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี จากสิ้นสุดปี 2572 เป็นสิ้นสุดปี 2602 แลกกับเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย

เท่ากับครม.ถอนเผือกร้อนร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) หลังกระทรวงมหาดไทย  โดย “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ตั้งเสนอครม.

เพื่อขยายสัญญาสัมปทานให้บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) BTS ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 7 ที่เสนอเข้าครม.แล้ว

“เสี่ยโอ๋” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เอาปากกามาวง “ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย-ขัดธรรมาภิบาล” ต้องพิจารณาให้รอบคอบ

สวนทางปืน “บิ๊กตู่” ซึ่งตั้งการ์ดสูงหวั่นทำผิดกฎหมายอาญา ม.157 – หากไม่รีบเคาะ แม้ “บิ๊กป๊อก” พยายามอธิบายต่อครม.ให้เห็นว่า “เป็นการแก้ไขสัญญาเพื่อแก้ไขหนี้สินที่เกิดขึ้น 5 หมื่นล้านบาท (เงินต้น 55,704 บาทและดอกเบี้ย 13,401 บาท) ไม่ใช่การต่อสัมปทาน”

“เสี่ยไก่” จุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ อยากให้เคาะทันที สอดรับมุก “บิ๊กตู่-บิ๊กป๊อก” ซึ่งมีท่าทีเปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อครั้งเข้าครม.ก่อนหน้านั้น

ต่างกับ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถามย้ำตลอดว่า ไม่ขัดต่อหลักกฎหมายใช่ไหม

รมต.ของพรรคประชาธิปัตย์ขัดแย้งกันเอง ระหว่างฝ่ายแรกต้องการให้เคาะทันที แต่ฝ่ายหลังตั้งคำถามว่าขัดต่อหลักกฎหมายหรือไม่

ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแน่นอนรัฐบาลและกทม.มีหน้าที่แก้ปัญหา โดยเปิดโต๊ะเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมระหว่างภาครัฐกับเอกชน พร้อมเปิดสัญญาทุกแผ่นกระดาษให้สาธารณะได้ดูว่าติดเงื่อนไขอะไร

อย่างน้อยหนี้ค่าก่อสร้าง พร้อมดอกเบี้ยที่รฟม.ทิ้งมรดกให้กทม. ราวเกือบ 7 หมื่นล้านบาท ควรเป็นภาระของบีทีเอสรับผิดชอบหรือไม่

สัดส่วนรายได้ตลอดสัมปทานที่บีทีเอสต้องแบ่งให้กทม. แถมดูสัญญาจ้างเดินรถระหว่างกทม.-บีทีเอสที่ยังเหลืออีก 20 ปีควรยกเลิกหรือไม่ เพื่อรวมเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาสัมปทาน

ที่สำคัญค่าโดยสายตลอดสายไม่ควรเกิน 25 ตลอดสาย ซึ่งสามารถทำได้จริงภายใต้เปิดสัญญาสัมปทานทุกโครงการเพื่อทำตั๋วใยแมงมุมให้เกิดขึ้น

ทั้งหมดทั้งมวล ควรรอผู้ว่าฯกทม.คนใหม่เข้ามาสะสาง โดยเปิดประมูลใหม่ ทุกบริษัท รวมถึงบีทีเอสมีสิทธิ์เหมือนกันหมด

“เหลือเวลาอีก 8 ปีถึงหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ไม่ควรรีบดำเนินการ” หากมีมติครม.เห็นชอบต้องปฏิบัติตาม สุดท้ายสร้างภาระต่อผู้บริโภค สารี อ๋องสมหวัง สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอทางออกที่ชอบด้วยกฎหมายและยึดหลักธรรมาภิบาล

ฉะนั้นหากครม.ลุงตู่ กทม. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม ไฟเขียว ย่อมถูกมองว่า “ทิ้งทวนก่อนเลือกตั้ง”

………………..

คอลัมน์ : ไขกุญแจ/ไขแหลก

โดย…#ราษฎรเต็มขั้น

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img