“คุก” “ตะราง” หรือ “เรือนจำ” แค่ได้ยินก็รู้ว่าไม่น่าเข้าไป ยกเว้นไปเยือนชั่วขณะเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น การศึกษาดูงาน ซึ่งผมก็มีโอกาสระหว่างเข้าอบรมหลักสูตรด้านกระบวนการยุติธรรม
เมื่อเข้าไปด้านใน ได้เห็นกำแพงสูงที่กั้นโลกภายนอกไว้ ได้ดูพื้นที่คุมขังที่แยกเป็นแดนต่าง ๆ มีโรงครัว มีสถานพยาบาล มีสถานประกอบกิจทางศาสนา มีพื้นที่ประหารด้วยการยิงเป้าในสมัยก่อน รวมถึงห้องประหารด้วยการฉีดยาในปัจจุบัน ฯลฯ ผมกลับออกมาด้วยความรู้สึกโหวง ๆ อย่างอธิบายไม่ถูก รู้แต่เพียงว่าไม่เหมือนตอนก่อนเข้าไป
ผมยังพบอีกว่าผู้ถูกคุมขังชั่วคราวจำนวนไม่น้อยเป็น “ผู้บริสุทธิ์” แต่ “ถูกคุมขังระหว่างรอพิจารณาคดี” ซึ่งส่วนใหญ่ก็เกิดจากไม่มีเงินหรือหลักทรัพย์มาประกันตัว หรือเกิดจากศาลพิจารณาแล้วเห็นควรไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากมี “ความเสี่ยง” ที่ผู้ต้องหาจะ “หนีคดี” หรือ “ทำความผิดซ้ำ” หรือ “วุ่นวายกับพยานหลักฐาน” ประสบการณ์ครั้งนั้นมีส่วนทำให้ผมเลือกทำวิจัยเรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบโมเดลประเมินความเสี่ยงเพื่อการปล่อยตัวชั่วคราว (โดยไม่ต้องวางเงินประกัน)” โดยมุ่งเรียนรู้จากกรณีศึกษาในประเทศใหญ่อย่าง “สหรัฐอเมริกา” ซึ่งมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจำนวนมากเผยแพร่ไว้อย่างกว้างขวาง
ขอนำข้อมูลสืบเนื่องจากงานวิจัย มาแบ่งปันเพื่อประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจดังนี้ครับ
1.ผู้ถูกคุมขังชั่วคราวที่เป็น “ผู้บริสุทธิ์” มีจำนวน “มากกว่า” ผู้ที่ถูกตัดสินว่า “ทำผิดจริง” ข้อมูลล่าสุดที่เผยแพร่ในปี 2020 ของสหรัฐอเมริกาพบว่า จากผู้ถูกจับคุมขังชั่วคราวจำนวน 631,000 คน มีเพียง 161,000 คน ที่ถูกตัดสินว่าทำความผิดจริง หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% เท่านั้น แปลว่า “ทุก 4 คนที่โดนจับเข้าคุกชั่วคราว มีคนทำผิดจริงเพียง 1 คน” ส่วนอีก 3 คน เป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกคุมขังระหว่างรอพิจารณาคดี พูดง่าย ๆ ก็คือ ผู้ถูกคุมขังชั่วคราวส่วนใหญ่เป็นผู้บริสุทธิ์
2.จำนวนผู้ถูกคุมขังชั่วคราวที่เพิ่มขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา “99% เป็นผู้บริสุทธิ์” (ดูภาพประกอบ) ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่าแนวปฏิบัติที่ใช้อยู่น่าจะขัดแย้งกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และหลักพื้นฐานกฎหมายสากลที่ว่า “ผู้ถูกกล่าวหาถือเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะถูกพิจารณาตัดสินว่ากระทำความผิดจริง” โดยที่ “การแสดงพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์การทำความผิดอย่างชัดแจ้งจนสิ้นข้อสงสัยเป็นหน้าที่ของผู้กล่าวหา” ดังนั้น ตำรวจ และอัยการจึงมักต้องใช้เวลาและความรอบคอบมากที่สุดในการรวบรวมพยานหลักฐานก่อนที่จะยื่นฟ้องคดี ส่วนศาลก็ต้องใช้เวลาและความรอบคอบมากที่สุดในการพิจารณาคดี ซึ่งแปลว่ารวมขั้นตอนทั้งหมดต้องใช้เวลาไม่น้อย และส่วนใหญ่ก็นานเกินไป จนเกิดคำกล่าวที่ว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (อังกฤษ: justice delayed is justice denied ฝรั่งเศส: justice différée est justice refusée)” การส่งผู้ต้องหาที่ถือเป็นผู้บริสุทธิ์เข้าคุกทันทีเป็นการชั่วคราวโดยปล่อยให้ถูกคุมขังยาวนาน ไม่มีกำหนดเวลาปล่อยตัวที่ชัดเจนจึงขัดกับทั้งปรัชญาของกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนสากล
3.ต้นทุนการคุมขังชั่วคราวอยู่ที่ “13,600 ล้านเหรียญ หรือกว่า 4 แสนล้านบาท/ปี” ตัวเลขดังกล่าวคืองบประมาณของรัฐที่ใช้จริงเฉพาะเพื่อคุมขังชั่วคราวระหว่างรอการพิจารณาคดี ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายทั้งค่าอาคารสถานที่ ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ค่าบำรุงรักษา ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำและอาหาร ค่ารักษาพยาบาล ค่ากิจกรรม และค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น ซึ่งไม่ควรต้องเกิดขึ้นเลยหากรัฐมีกลไกอื่น ๆ ในการกำกับดูแลเพื่อปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างรอพิจารณาคดี เช่น การประเมินความเสี่ยงโดยใช้โมเดลสถิติและคณิตศาสตร์ประกันภัย การกักบริเวณ รวมถึงการใช้กำไล EM (Electronic Monitoring) เป็นต้น
4.“คุกเปลี่ยนชีวิต” ในขณะที่คุกคือระบบที่ออกแบบมาเพื่อ “เปลี่ยนคนร้ายให้เป็นคนดี” โดยริบอิสรภาพชั่วคราว เพื่อให้ผู้กระทำความผิดใช้เวลาในการไตร่ตรองสิ่งที่ทำไป สำนึกผิด กล่อมเกลาจิตใจ ตลอดจนเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ก่อนกลับออกมาเป็นสมาชิกที่ดีในสังคมอีกครั้งหนึ่ง แต่การดูแลคุกให้มีคุณภาพดีตามที่ออกแบบไว้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายจึงมีเหตุการณ์กดขี่ข่มเหง ทำร้ายร่างกายและจิตใจ ล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ ในคุก ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอยู่เป็นระยะ และทำให้เกิดผลตรงกันข้ามคือ “เปลี่ยนคนดีให้เป็นคนร้าย” โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริสุทธิ์ที่ถูกจองจำชั่วคราวทั้งระหว่างรอพิจารณาคดี และระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งเผชิญกับการสูญเสียทั้งเวลาแห่งอิสรภาพที่ไม่อาจเรียกคืนกลับมา ชื่อเสียงที่ด่างพร้อย ประสบการณ์ในคุกที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต ต่อให้มอบทรัพย์สินเงินทองเท่าใดก็ไม่อาจซื้อเวลาที่สูญเสียไปในคุกกลับมาได้ ต่อให้ใช้ยาที่ดีที่สุดก็ไม่อาจรักษาบาดแผลในใจจากการถูกคุมขังโดยไม่มีความผิดได้ แม้น้ำทั้งมหาสมุทรในโลกก็ไม่อาจชำระล้างความรู้สึกของการถูกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมได้ ผมยังจินตนาการไม่ออกเลยว่าจะมีสิ่งใดที่ชดเชย และเยียวยาพวกเขาได้ หลังจากที่คุกได้เปลี่ยนชีวิตพวกเขาเหล่านั้นไปแล้วอย่างสิ้นเชิง
5.“มีความอยุติธรรมอำพรางตัวอยู่ในกระบวนการยุติธรรม” เมื่อเริ่มทำวิจัยผมได้ยินว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” ด้วยเหตุที่คนจนไม่มีเงิน/หลักทรัพย์มาใช้ในการประกันตัว และการใช้วิจารณญาณในการกำหนดวงเงินประกันในแต่ละกรณีก็แตกต่างกันมากแม้ว่าจะเป็นความผิดที่ใกล้เคียงกัน Robert Kennedy อัยการสูงสุดของสหรัฐอเมริกา พูดถึงเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 1964 ว่า “คนรวยกับคนจนไม่ได้รับความยุติธรรมที่เท่าเทียมกันในศาลของเรา และไม่มีหลักฐานอะไรในเรื่องนี้ที่จะชัดเจนไปกว่าการกำหนดให้วางหลักทรัพย์เพื่อประกันตัว” แต่เมื่องานวิจัยก้าวหน้าไปเป็นลำดับ ประโยคที่ผุดขึ้นมาอย่างแจ่มชัดท่ามกลางการประมวลข้อมูลข้างต้นทั้งหมดก็คือ “คุกมีไว้ขังคนบริสุทธิ์” ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธได้ยากมาก ตราบใดที่ “ประชากรส่วนใหญ่ของผู้ถูกคุมขังชั่วคราว คือผู้บริสุทธิ์ที่รอการพิจารณาคดี” ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่สุดเพราะสะท้อนความอยุติธรรมที่ฝังตัวอยู่ในกระบวนการยุติธรรม และทำให้เกิดสถาบันวิจัย และองค์กรต่าง ๆ มากมายที่มาร่วมมือกันสนับสนุนให้เกิด “ความเป็นธรรมระหว่างรอการพิจารณาคดี” ในขณะเดียวกันก็เพื่อลด “ต้นทุน” ทั้ง ต้นทุนส่วนบุคคล ต้นทุนรัฐ ต้นทุนสังคม ทั้งที่เป็น “ต้นทุนเงิน” และ “ต้นทุนชีวิต” ที่มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งเมื่อสูญเสียไปแล้วก็ไม่อาจเรียกคืนกลับมา หรือเยียวยาได้เลย
…………………………………….
รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร
รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์