วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVEม็อบ19ก.ย.63ก้าวล่วงสถาบัน ทำลายความชอบธรรมแก้รธน.
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ม็อบ19ก.ย.63ก้าวล่วงสถาบัน ทำลายความชอบธรรมแก้รธน.

สถานการณ์การเมืองเข้าสู่ภาวะอึมครึม ม็อบเยาวชน-นักศึกษาที่ดาหน้าออกมาประกาศปลดแอก และขอทวงอำนาจคืนให้ราษฎร โดยออกมาเรียกร้องข้อเสนอต่างๆ โดยล่าสุด ความจงใจเลือกวันชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2563 เพื่อให้ตรงกับเหตุการณ์การยึดอำนาจวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งครั้งนั้น พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในขณะนั้น เข้าทำการยึดอำนาจจาก “ทักษิณ ชินวัตร” และจัดตั้ง “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช.) จากนั้นมีการส่งมอบอำนาจการจัดตั้งรัฐบาลให้พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมตรี

เพื่อให้ฉายถึงภาพที่ชัดเจน ต้องคัดสรรคนที่เข้าใจและเกาะติดเหตุการณ์ทางการเมืองมาโดยตลอด “เดอะ คีย์ นิวส์ : The Key News” ขอนำไปพูดคุยกับ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และเคยเป็นหัวหน้าคณะสำนักงานเลขาธิการ คมช. ที่มีพล.อ.สนธิฯ เป็นประธาน คมช. มีพล.อ.วินัย ภัททิยกุล เป็นเลขาธิการ คมช. เพื่อให้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การเมือง การชุมนุม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำลังร้อนฉ่า!!!

@@ มองการการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง?
A : การชุมนุมวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ประเด็นแรก…จะเห็นว่าการกำหนดวันชุมนุมให้ตรงกับวันที่ 19 กันยายน ก็เป็น “สัญลักษณ์” มาจากเหตุการณ์ของยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นครั้งแรกที่ทำให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องหลุดจากการเป็นรัฐบาล เป็นจุดที่เชื่อมโยงกับกรณีที่นายทักษิณ มักพูดเสมอว่า การที่หลุดจากอำนาจเพราะสถาบันอยู่เบื้องหลัง เพราะฉะนั้นการที่เอาเหตุการณ์นี้มาประจวบเหมาะกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์และมีแนวคิดชัดเจนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบัน จึงเป็นเหตุที่กำหนดวันที่ 19 กันยายนร่วมการชุมนุม ภาพการชุมนุมเข้าใจว่าเป็นเยาวชน นักศึกษา ที่จะเป็นหลักใหญ่

@@ การชุมนุม 19 กันยายน 2549 เด็ก-เยาวชน ที่ออกมาเคลื่อนไหวยังเป็นเด็กที่ไม่รู้เรื่องว่าเกิดอะไรขึ้น และเงื่อนไขที่ทำให้เกิดเพราะอะไร?
A : ใช่ เด็ก-เยาวชนเหล่านั้น ยังไม่รู้เรื่อง และไม่เข้าใจว่า “ทำไมทหารถึงเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น” แต่เมื่อพูดถึงความเข้าใจของทุกฝ่าย ที่มองถึงการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน 2563 คิดว่าน่าจะเป็นม็อบของเยาวชน-นักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนปลดแอกนักศึกษา ที่ออกมาเคลื่อนไหวช่วงนั้น แต่ปรากฎว่า ภาพที่ออกมาไม่ใช่เยาวชน-นักศึกษา กลายเป็นภาพของ “ผู้ใหญ่” และเหมือนลักษณะของม็อบจัดตั้ง สำคัญที่สุดคือ “กลุ่มคนเสื้อแดง” เข้ามาร่วมชุมนุม ฉะนั้นเมื่อเป็นลักษณะของคนเสื้อแดง “ม็อบจัดตั้ง” มีข้อมูลว่ามี “กลุ่มนักการเมือง” ที่ขนเอาม็อบเสื้อแดงมาร่วมชุมนุม ก็ไปทำลายความชอบธรรมของกลุ่มม็อบวันที่ 19 กันยายน 2563

@@ การที่ม็อบอยู่เพียงวันเดียวและไปปักหมุดกลางสนามหลวง มองเรื่องนี้อย่างไร?
A : จริง ๆ เชื่อว่า คืนวันนั้น “ผู้นำม็อบ” น่าจะรู้แล้วว่าสิ่งที่ตัวเองคาดหวังว่าจะมีมวลชนมาจำนวนมหาศาล ไม่เป็นจริง เพราะฉะนั้นอาจจะมีวิธีการเปลี่ยนแผนเดิม จากแผนเดิมที่จะมาทำเนียบรัฐบาล มองว่าจะมาที่ลานพระบรมรูป ร.5 ก็เปลี่ยนแผนไปที่ทำเนียบองคมนตรี ส่วนเรื่องการวางหมุดเป็นแผนเดิมที่เตรียมมาแล้ว เพราะการเตรียมหมุดจะต้องใช้เวลาในการสร้าง เพียงแต่ข่าวข้อมูลตรงนี้ไม่ปรากฎ คงจะคาดการณ์ว่าคงจะมีเซอร์ไพรส์ บึ้ม ๆ คิดว่าคงเป็นเซอร์ไพรส์ บึ้ม ๆ ของกลุ่มที่ชุมนุม

@@ มองว่าการจัดตั้งม็อบในวันที่ 19 กันยายน ต่อเนื่องเช้าวันที่ 20 กันยายน มีกลุ่มการเมืองที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่เบื้องหลังหรือไม่?
A : การชุมนุมวันที่ 19 กันยายน ผมไม่ได้ติดตาม เพราะคิดว่า “ม็อบไม่มีพลัง” สาเหตุที่ไม่มีพลัง เพราะว่าผู้นำม็อบที่เป็นเยาวชน จะมานำม็อบขนาดใหญ่ โดยประสบการณ์ต่าง ๆ ที่จะมาทำ…ไม่ได้ทำได้ง่าย แต่การที่จะมาทำในลักษณะนี้ได้ ต้องมีคนหนุนหลัง แต่คนที่หนุนหลัง…ต้องมีประสบการณ์ ที่อออกมาเคลื่อนไหวจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะเป็นหุ่นเชิดก็ตาม ย้อนไปดูสมัยการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ การชุมนุมของกลุ่ม นปช. การจัดชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ทุกกระบวนการถูกวางแผน ถูกกำหนด “การนำ” ไว้ชัดเจน มี “แกนนำ” ชัดเจน ไม่ใช่ใครก็ได้ขึ้นมาเป็น เพราะลักษณะการทำงานของม็อบจะต้องตัดสินปัญหาหน้างาน เพราะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตลอด

ทุกอย่างมีกระบวนการจัดการ ปัญหาการดูแลม็อบ ปัญหาการนำของม็อบถ้าไม่สามารถที่จะนำไปได้ ถ้าเกิดไปแล้วไม่สามารถควบคุมม็อบได้ เป็นอันตรายอย่างยิ่ง การชุมนุมไม่สามารถที่จะชักใยอยู่เบื้องหลังเหมือนหนังตะลุงได้ ที่พูดไม่ได้ดูถูก แต่การทำงานเป็นเช่นนั้น ผมจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ชุมนุมมากนัก ไม่ได้ติดตาม ไม่ได้ดู

แต่การชุมนุมก็ก่อให้เกิดความเสียหาย เห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปกระทบต่อ “สถาบัน” เสียหายชัดเจน และม็อบนี้จะทำลายความชอบธรรมของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะไปยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทำให้เห็นชัดเจนว่าเจตนารมณ์ของกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มบุคคล รวมทั้งพรรคการเมืองบางพรรคการเมือง ที่เข้าไปสนับสนุน เข้าไปมีบทบาทต่าง ๆ มีทัศนคติอันเลวร้ายที่จะบั่นทอน หรือลดความคงอยู่ของ “สถาบัน” เชื่อว่าม็อบ 19/20 กันยายน ทำลายความชอบธรรมของการที่จะไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

@@ สนใจคนที่อยู่เบื้องหลังการชุมนุมหรือไม่?
A : สนใจ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่เชื่อว่ามนุษย์ปุถุชนมองออก ว่าใครอยู่เบื้องหลัง อย่างไร แต่จะมีหลักฐานโยงไปถึงหรือไม่ ไม่มั่นใจซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคง ที่จะต้องเข้าไปดูแล เข้าไปดูว่าคนที่เข้าไปอยู่เบื้องหลังคือใคร? เพราะขบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้น การใช้เงิน การพิมพ์หนังสือ 5 หมื่นเล่ม คิดเล่มละ 10 บาท ก็เป็นเงิน 5 แสนบาทแล้ว อย่างเยาวชนเหล่านี้จะมีเงิน 5 แสนหรือไม่ เป็นเรื่องที่ยาก ต้องมีคนอยู่เบื้องหลัง หรือจะบอกว่ามาจากการบริจาค ก็ต้องแสดงหลักฐานว่าใครบริจาค และคนที่บริจาคให้จัดทำหนังสือแบบนี้ ในฐานะผู้สนับสนุนการล้มล้างสถาบันหรือไม่ ก็ถูกเชื่อมโยงไปได้อีก เชื่อว่าทุกฝ่ายทราบ ทุกฝ่ายเชื่อว่าม็อบนี้มีเบื้องหลัง ในอดีตเดิม ๆ ม็อบที่เริ่มเป็นแฟลชม็อบ อาจจะยังไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง แต่หลังจากเหตุการณ์ วันที่ 10 ส.ค.ที่มีการชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสตร์

เชื่อว่าม็อบนี้ถูกการชี้นำทั้งสิ้น ต้องมีคนอยู่เบื้องหลัง และยิ่งขบวนการมีการใช้เครื่องเสียง หรือสิ่งต่าง ๆ ใช้เงินทั้งสิ้น จากประสบการณ์ทางการเมืองที่มา แม้แต่การจัดสัมมนายังต้องใช้เงินเป็นแสน แล้วนี่คนจำนวนมาก เงินต้องถึงล้าน และเด็กเหล่านี้เอาเงินล้านมาจากไหน เมื่อเป็นลักษณะนี้ก็ต้องมองว่ามีคนให้ และคนให้มุ่งหมายปรารถนาต่อเด็กพวกนี้ เชื่อว่าเด็กทุกคนมีความคิด แต่สุดท้ายก็เป็นเครื่องมือของเขาในการทำ นำไปในทิศทางที่เขาต้องการ ซึ่งเวลานี้เขายังไม่เปิดเผยตัว แต่เชื่อว่าสังคมเข้าใจว่าคือใคร คือกลุ่มไหน

@@ แสดงว่ากระบวนการยังไม่จบสิ้น เพราะว่าการทำยังไม่สำเร็จ
A : กระบวนการไม่จบสิ้น มีความเชื่อมโยงมาจากคนที่มีทัศนคติอันเลวร้ายต่อสถาบัน การทำก็จะยังคงไปเรื่อย ๆ แต่ทั้งนี้ต้องมาดูว่าสิ่งที่เขาทำ มันจะแตกลายเพิ่มมากขึ้น เป็นที่พึงพอใจของคนทั้งประเทศ ต้องถามคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย ว่าพึงพอใจต่อเหตุการณ์สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้หรือไม่

@@ กลุ่มผู้ชุมนุมอาจจะเปลี่ยนรูปแบบการชุมนุม เป็นเดือนละครั้ง หรือเลือกวันสำคัญในแต่ละเดือน หรือจัดเป็นช่วง ๆ เพื่อไม่ให้ต่อเนื่อง
A : เขาก็ต้องจัดไปเรื่อย ๆ แต่การจัดเหมือนกับที่ราชการระมัดระวังในอดีต เขาจะถือเอาวันสำคัญต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์ และถ้าเป็นกองกำลังติดอาวุธจะไปทำในวันสำคัญ ๆ ของฝ่ายเขา แนวคิดเดียวกัน หรือครั้งหน้าจะทำเดือนตุลาคมก็จะมีเป้าต่อไป ว่าเป็นเดือนอะไร จะทำไปเรื่อย ๆ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทางภาครัฐจะต้องติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่มองว่า เนื่องจากผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ แม้ว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเยาชน การที่จะไปดำเนินการอะไรเหมือนให้เกิดความรุนแรง ให้เยาวชนบาดเจ็บ ถ้าเราคิดว่าเขาคือลูกหลานเรา ก็จะเสียใจหากเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้นภาครัฐต้องดำเนินการนุ่มนวล มากกว่าคนที่มีสันดานเป็นอาชญากรรม พวกนี้อาจจะมีแนวคิดที่รุนแรง ใช้คำพูดที่หยาบคาย ทุกอย่างจะถูกสังคมกำหนด ตัดสินใจเองว่าการกระทำของเด็ก ๆ เหล่านี้ถูกต้องหรือไม่ และเมื่อไม่ถูกต้องสิ่งที่เด็กทำมีผลกระทบกฎหมาย จะติดตัวเด็กไปจนตลอด

@@ การเคลื่อนไหวของเยาวชน คนที่อยู่เบื้องหลังทำให้วุฒิสมาชิก ได้พูดคุยกันในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่?
A : ในอดีต…การพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการพูดมาบ้าง บางกลุ่มยังไม่มีการดำเนินการ อย่างไม่เป็นทางการมากมาย ครั้งแรกเป็นกลุ่ม ๆ ที่มีแนวคิดเดียวกัน ซึ่งมีนักวิชาการจัดดำเนินการมา 2-3 สัปดาห์แล้ว เพื่อที่จะให้ความรู้ เพราะบรรดาส.ว. มีความหลากหลาย หลายท่านส่วนใหญ่ยังไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง ไม่มีความเข้าใจกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร แก้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น มีการให้ความรู้ทางวิชาการไม่ได้ชี้นำว่าใครจะไปทำอะไร โดยยกเหตุการณ์ในอดีตมาให้ฟัง เพื่อให้ทุกคนได้มีความรู้ ความเข้าใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในอดีตเป็นอย่างไรบ้าง ผลเป็นอย่างไรเกิดอะไรชึ้น และในครั้งนี้จะเป็นอย่างไร เพื่อให้สมาชิกทุกคนได้มีข้อมูลประกอบในการตัดสินใจ ว่าหากมีการลงมติจะให้การลงมติไปอย่างไร

@@ ม็อบมาเคลื่อนไหวในประเด็นการก้าวล่วงสถาบัน หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้วุฒิสมาชิกคิดต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร
A : มันโยงกันหรือไม่ เชื่อว่า แนวความคิดถึงการที่ม็อบวันที่ 19 กันยายนที่มาเคลื่อนไหว รวมทั้งมีพฤติกรรม การดำเนินการต่าง ๆ ที่กระทบกระเทือนต่อสถาบัน มันจะทำให้ความชอบธรรมในการที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มันจะลดน้อยลงไป เพราะหลายฝ่ายที่พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับเก่า แล้วมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ได้เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นครั้งแรก มันเกิดมาแล้วอย่างน้อยล่วงหน้า 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งสำเร็จ ครั้งที่สองไม่สำเร็จ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 เราลองย้อนไปหลาย ๆ ฝ่ายที่จะดำเนินการตามปัจจุบันนี้ มักที่จะอ้างเหตุการณ์ของปี 2539 ที่เป็นต้นเหตุของรัฐธรรมนูญ 2540 ว่ามีการจัดตั้ง ส.ส.ร. มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2535 ในปี 2539 ฉบับที่ 6 ที่จัดให้มีส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วเกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้นในปี 2539 ยกเหตุตรงนี้มาพูด ปี 2563 เชื่อว่าต้องยกเหตุว่าเคยทำมาแล้ว แต่ต้องย้อนไปดูสถานการณ์ปี 2539 ปี 2554-2555 และปี 2562, 2563 ก่อนที่จะมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สถานการณ์ไม่เหมือนกัน

สถานการณ์ปี 2539 ประชาชน มีความสมัครสมานสามัคคี ต้องการที่จะได้รัฐธรรมนูญเต็มใบ อ้างว่ารัฐธรรมนูญ 2535 เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ สิ่งที่ได้มาในรัฐธรรมนูญ 2540 มี 4 ประการ คือ 1.ได้ประธานรัฐสภามาจากประธานสภาผู้แทนราษฏร เดิมประธานรัฐสภา มาจากประธานวุฒิสภา 2.ได้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส.เดิมนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. 3. พรรคการเมืองเข้มแข็ง เนื่องจากในอดีต เมื่อพรรคการเมืองเข้มแข็ง ก็มาเป็นรัฐบาลเข้มแข็ง เนื่องจากในอดีตรัฐบาลนั้น ง่อนแง่นตลอดเวลาจากสาเหตุ ส.ส.ขายตัว พรรคไม่สามารถควบคุม ดูแล ส.ส. และ 4.มีองค์กรอิสระเพื่อมาดุลอำนาจกับรัฐบาลที่เข้มแข็ง ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี

แต่เมื่อมาดูเหตุการณ์ ปี 2539 แม้ว่า จะมีความแตกต่างทางความคิด แต่ไม่ถึงกับแตกแยก ไม่มีพฤติกรรมที่จะไปกระทบกระเทือนกับสถาบัน แต่เมื่อพ้นจากนั้นมา ตั้งแต่ 2547 จนถึงปัจจุบัน มีคนที่มีแนวความคิดที่จะมีพฤติกรรมเข้าไปลบล้างสถาบัน เมื่อมาถึงปี 2562 และ 2563 เดิมเป็นแนวคิดของประชาชน นักวิชาการ ทั่วไป ขณะนี้มีกลุ่มการเมืองมีแนวความคิดทางนี้ด้วย และเมื่อกลุ่มการเมืองจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐ ธรรมนูญย่ิงเป็นสิ่งที่น่าวิตก กังวลว่ามันจะปล่อยให้รัฐธรรมนูญถูกร่างโดยใคร อย่างไร เป้าหมายเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง ถามว่าสถานการณ์แบบนี้สมควรที่จะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นี้แค่สถานการณ์เพียงอย่างเดียว

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ปี 2555-2556 สมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 เพื่อเป็นผลของการล้มรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วจัดตั้ง ส.ส.ร.ขึ้น ร่างใหม่ เช่นเดียวกับการขอแก้ไข มาตรา 256 แล้วไปตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นลักษณะทำนองเดียวกัน ซึ่งผมและ ส.ว.บางท่าน ได้เป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และยังมีกลุ่มภาคสังคม ประชาชน อีก 3 กลุ่ม ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ให้มีผลยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาฉบับใหม่นั้น เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดกับมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ 2550

และในครั้งนั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า แม้รัฐสภาจะมีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 แต่การไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นขัดต่อเจตนารมณ์ของ มาตรา 291 รัฐธรรมนูญ 2550 และศาลรัฐธรรมนูญยังได้ชี้ว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติมาแล้ว เพราะฉะนั้นอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญนั้นเป็นอำนาจของประชาชน รัฐสภาไม่มีอำนาจ รัฐสภาเป็นเพียงองค์กรตามรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจไปสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากต้องการที่จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องไปถามความเห็นชอบจากประชาชนเสียก่อน

@@ มองว่าจะมีโอกาสเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยหรือไม่
A : ไม่ใช่โอกาส แต่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเกิดขึ้นแล้ว มาจากการเสนอ แต่จะซ้ำรอยก็คือ จะผ่านไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะซ้ำรอยปี 2540 หรือจะซ้ำรอย ปี 2555 ถ้าซ้ำรอยปี 2540 ก็สำเร็จ แต่ถ้าซ้ำรอยปี 2555 ก็ไม่สำเร็จ

“การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหมือนพวกคุณจะมาขอสร้างบ้านใหม่ให้กับเรา บ้านเก่าของเราไม่ได้ว่าจะดีไปหมดทุกอย่าง ก็มีดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แต่สิ่งที่เราชอบคือ เรามีห้องพระของเรา ที่เราเคารพ ศรัทธา เราไปทำสมาธิ กราบไหว้ หรือเราชอบหน้าต่างบานนี้ และคุณมาขอรื้อบ้านเราทิ้ง แล้วไปสร้างบ้านใหม่ แล้วคุณเอาหอไอเฟลมาให้เรา เราไม่ชอบก็ได้ เราไม่ต้องการ จะมาบอกว่าหอไอเฟลมีชื่อเสียงกว่าห้องพระ แต่ผมไม่ต้องการ เพราะผมมีความศรัทธาห้องพระผมมากกว่าศรัทธาหอไอเฟล แล้วผมจะไว้วางใจให้คุณได้อย่างไรว่าเหมือนสิ่งที่ผมต้องการ ทำไมไม่ขอตบแต่งบางส่วน คุณจะมาทำหลังคาผมใหม่เพราะมันรั่ว ผมก็ยินดี”

หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ จะแก้ถึง 4 ฉบับ โดย 2 ฉบับเป็นการแก้เกี่ยวกับ ส.ว.คือ เรื่องของการที่ให้ ส.ว.มีอำนาจในการติดตาม เสนอแนะการปฏิรูป ซึ่งการเสนอแนะปฏิรูป เรื่องนี้ผมไม่คัดค้าน ถ้าคิดว่า ส.ว.มาเสนอแนะ ติดตามการปฏิรูปมาช่วยรัฐสภา ช่วยเป็นคนถ่วงดุล ตรวจสอบรัฐบาล ในการปฏิรูปว่า จะปฏิรูปใน 5 ปีที่ ส.ว.อยู่จะปฏิรูปประเทศอย่างไร แต่เมื่อไม่ต้องการให้เรามาเกี่ยวข้องก็ไม่เป็นไร ทั้งนี้ เป็นเรื่องของประเทศชาติ เมื่อ ส.ส.ไม่ต้องการการปฏิรูปประเทศ หรือไม่ต้องการให้ปฏิรูป ก็แล้วแต่ถ้าจะเอาออกไปก็ไม่เป็นไร

ส่วนเรื่องของการยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการที่จะเลือกนายกรัฐมนตรี ตรงนี้ไม่ใช่บทบาทของ ส.ว.ที่ต้องการ แต่เป็นบทบาทของ ส.ว.ที่รับมอบอำนาจมาจากประเด็นในการทำประชามติคำถามพ่วงในช่วงลงประชามติรัฐธรรมนูญ ที่มีคำถามว่า ประชาชนเห็นชอบให้ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งประชาชน 15.1 ล้านเสียงเห็นชอบ ให้ ส.ว.บทเฉพาะกาลนี้มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อไม่ต้องการให้ ส.ว.เลือก ไม่ใช่มาถาม ส.ว.ให้คุณลดบทบาทลงหรือไม่ ส.ว.ปฏิบัติตามบทบาทของรัฐธรรมนูญที่กำหนด ถ้าจะไม่ให้ ส.ว.ทำหน้าที่นี้คุณต้องไปถามประชาชนจำนวนนั้นว่าเห็นชอบหรือไม่

สำหรับประเด็นที่จะให้แก้ไขเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี เดิมที่มาของนายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ 3 รายชื่อ ซึ่งเขาจะเอาออก ซึ่งการเอาออกนั้นต้องไปดูในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่กำหนดว่า อันไหนบ้างทำได้ อันไหนบ้างที่ทำไม่ได้ ในส่วนหนึ่งเขาบอกว่าการที่จะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีผลต่อคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องไปถามประชามติ เพราะฉะนั้นการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีที่จะต้องมาจากบัญชีรายชื่อ นายกรัฐมนตรีมาจากที่อื่น เป็นการแก้ไขคุณสมบัติหรือไม่ ผมเชื่อว่าเป็นการแก้ไขคุณสมบัติ แต่ก็ต้องไปถามประชามติจากประชาชนเช่นเดียวกัน

เรื่องการแก้ไขมาตรา 279 พูดถึงบรรดาประกาศคำสั่งการปฏิบัติของ คสช. ที่ผ่านมาให้ถือเป็นกฎหมายถูกชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อไปยกเลิกผลจะตามมาอย่างมากมาย สิ่งต่าง ๆ หมายถึงยกเลิกรัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 ด้วยหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาจาก คสช.จะไปยกเลิกบรรดาคำสั่งของ คสช.ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริต คอรัปชั่นหรือไม่ คุณคิดว่าถ้าไปยกเลิกสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งหรือเพิ่มความขัดแย้งให้เกิดขึ้น และการแก้ไขประเด็นการเลือก ส.ส.การคำนวณ ส.ส.เป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์ของ ส.ส. ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือ ประชาชนเรียกร้องอย่างที่ ส.ส.ต้องการจริงหรือ ผมคิดว่าเป็นความเดือดร้อนของส.ส.มากกว่า ความเดือดร้อนประชาชน ตรงนี้ผมคิดว่า การเสนอแก้ตรงนี้เพื่อประโยชน์ของส.ส.มากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
…………………………….

ทีมการเมือง “เดอะ คีย์ นิวส์ : The Key News”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img