วันอังคาร, มิถุนายน 18, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVE‘นิทัศน์’CEO คนใหม่‘ราช กรุ๊ป’กับภารกิจเกาะขบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘นิทัศน์’CEO คนใหม่‘ราช กรุ๊ป’กับภารกิจเกาะขบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ฤกษ์เปิดตัว CEO คนใหม่ “นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์” หลังจากเข้ามาเรียนรู้งานได้ 28 วัน โดยเขาวางวิสัยทัศน์ที่สำคัญว่า “ทำแล้ว ทำต่อ ทำให้ดีขึ้น” วาระ 4 ปีเขาจะทำอะไรบ้าง แต่แน่ๆ ปีนี้การลงทุน 15,000 ล้านบาทกำลังเดินเครื่องตามเป้าหมายแล้ว

นายนิทัศน์ เปิดเผยว่า อิงกระแสโลกโดยกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ.2593 พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายย่อยในปี 2573 ประกอบด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานโดยจะลดปริมาณความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 15% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2558 การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนและธุรกิจสีเขียว ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนให้ได้ 30% ของกำลังการผลิตรวม และการชดเชยหรือดูดกลับคาร์บอน โดยมีเป้าหมายเพิ่มการดูดกลับคาร์บอนจากภาคป่าไม้ให้ได้ 1% ของปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศไทย

ในส่วนของการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทน จะเป็นการปรับสัดส่วนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน จาก 74/26% เป็น 70/30% ภายในพ.ศ.2573 โดยวางเป้าหมายจะเพิ่มกำลังผลิตให้ได้ปีละ 700 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนถือหุ้นที่ลงทุนแล้ว 10,817.96 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่ไฟฟ้า (Non-power) เป็น 10% จากปัจจุบัน 5% ภายในช่วง 4 ปีนี้ที่เขาดำรงตำแหน่ง

ในส่วนของธุรกิจไฟฟ้า ราช กรุ๊ป มีโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาอยู่ 6 ดีลจำนวน 10 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 550 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก (Conventional) 1 ดีล และพลังงานทดแทน 5 ดีล โดยจะมีการลงทุนโครงการ Greenfield เข้ามาผสมผสานกับการซื้อกิจการ (M&A) เพราะ Margin สูงกว่า คาดว่าจะปิดดีลทั้งหมดได้ภายในปีนี้ นอกจากนี้ยังมองการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องร่วมกับพันธมิตรเดิม โดยประเทศที่อยู่ในความสนใจลงทุนจะเป็นฐานธุรกิจเดิมของบริษัทฯ ได้แก่ ประเทศไทย ออสเตรเลีย สปป.ลาว อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

สำหรับธุรกิจที่ไม่ใช่ไฟฟ้า นายนิทัศน์ ระบุว่า จะมุ่งเน้นโครงการระบบโลจิสติกส์โดยเชื่อมโยงกับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ส่วนธุรกิจบริการสุขภาพกำลังศึกษาที่จะไปให้ถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ในธุรกิจคอสเมติคร่วมกับพันธมิตรโดยราช กรุ๊ป จะป้อนวัตถุดิบต้นทางให้แต่เรื่องนี้ต้องใช้เวลาในการศึกษาและหาพันธมิตร

นอกจากนี้ยังเพิ่มน้ำหนักกับเชื้อเพลิงในอนาคต โดยเฉพาะไฮโดรเจน รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพของสินทรัพย์ ได้แก่ เทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน การนำดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อบริหารต้นทุนและระบบดักจับ ใช้ประโยชน์และกักเก็บคาร์บอน เป็นต้น

นายนิทัศน์ มองว่า ในยุคนี้มีการเปลี่ยนผ่านพลังงานในหลายเรื่อง ที่ทำให้บริษัทฯ ต้องทบทวนแผนเป็นระยะ เช่น กรณีที่ทุกประเทศ และบริษัทต่างๆต้องมีแผนลดก๊าซเรือนกระจก สิ่งที่เกิดขึ้นในตลาด คือ โรงไฟฟ้า Gas Turbine ที่เป็นพลังงานสะอาดเดินเครื่องอยู่แล้วมีทางเลือกมากขึ้นในการเลือกผู้ร่วมลงทุน และราคาก๊าซฯก็ทรงตัวไปทางปรับตัวสูง ส่วนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ ทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบอย่างลิเธียมสำหรับผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมที่ใช้ในการเก็บพลังงานจากแผงโซล่าเซลล์ ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

อีกเรื่องสำคัญที่ต้องเกาะติด คือ นโยบายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมให้เอกชนสามารถทำสัญญาซื้อขายไฟกันโดยตรงกับผู้ผลิตพลังงานทดแทน (direct PPA) เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของพลังงานทดแทน ซึ่งสภาอุตสาหกรรมต้องการให้เกิดขึ้น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างวางมาตรการและวิธีการมารองรับที่ชัดเจน ซึ่งราช กรุ๊ป พร้อมในเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันมีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างโรงไฟฟ้ากับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมกันอยู่แล้ว หรือหากจะมีการเปิดพื้นที่ใหม่เพื่อลงทุนพลังงานสะอาดก็พร้อมรองรับ โดยมีพื้นที่พร้อมรับการลงทุนประมาณ 3,000 ไร่ ที่จังหวัดราชบุรี นอกจากนี้ยังติดตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2024) ซึ่งจะมีการใส่เทคโนโลยี SMR (Small Modular Reactor) หรือนวัตกรรมพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็กเข้าไปอยู่ในแผน ซึ่งราชกรุ๊ปก็มีโจทย์เพิ่มเติมที่เราต้องศึกษา

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img