การเป็น “หนี้” ไม่ใช่ความล้มเหลวของชีวิต อาจเป็นเรื่องที่ทำพลาด แต่ไม่ใช่เรื่องที่ทำผิด ที่สำคัญต้องเป็นหนี้แบบมีวัน “จบ” และไม่ท้อ พร้อมลุกขึ้น “สู้” หาทางแก้หนี้ด้วยการหาความรู้เพิ่มเติม ลงมือสร้างโอกาสพลิกสถานการณ์เพื่อปลดล็อกชีวิตหนี้
“สายชล รักกำเหนิด” เคยติดกับดัก “ชีวิตหนี้” ที่แทบล้มทั้งยืน เพราะถูกโกงแชร์และคิดการใหญ่ลงทุนเกินตัว จนหนี้ท่วมมืดแปดด้านหาทางออกไม่เจอ จากหนี้แค่หลักแสนเบ่งบานกลายเป็นหนี้ก้อนโตถึง 3 ล้านบาท แต่ด้วยความไม่ยอมแพ้ พยายามวิ่งหาทุกโอกาสที่จะทำให้กลับมายืนได้ขึ้นอีกครั้ง จนวันนี้สามารถปลดล็อกหลุดจากกับดักก้าวสู่วิถีชีวิตใหม่ที่ “ปลอดหนี้”
จุดเปลี่ยนจากมนุษย์เงินเดือนสู่ชาวสวนยาง สร้างหนี้หวังรวย
เส้นทางชีวิตของ “สายชล” พลิกผันจากมนุษย์เงินเดือน ทำงานเป็นพนักงานด้านการเงินบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ใน จ.ภูเก็ต เรียกได้ว่าฐานะดีมีรายได้มั่นคงและมีชีวิตที่สุขสบาย ก้าวสู่การเป็นเกษตรกรสวนยางพารา เพราะต้องกลับบ้านที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อทำหน้าที่ดูแลคุณแม่ที่อายุมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ในการเปลี่ยนชีวิตต้องปรับตัวและเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด จากที่เคยจับเงินหลักหมื่นมาจับเงินแค่หลักร้อย บางวันทำงานหาหน่อไม้เกือบ 4 ชั่วโมงได้เงินแค่ 4 บาท ใช้เวลาปรับตัวเรียนรู้เป็นเกษตรกรเกือบ 10 ปี เมื่อปรับตัวได้เริ่มมีเงินเก็บได้หลายแสนบาท มีลานยางพาราเป็นของตัวเอง และคิดต่อยอดใช้วิธีเอาเงินต่อเงิน สร้างหนทางทำให้รวยเร็วได้เงินเยอะขึ้น ผันตัวเองมาเป็นท้าวแชร์ ตั้งวงแชร์มีทั้งหมด 42 คน
“เรามีลานยางพาราเป็นของตัวเองเป็นที่น่าเชื่อของคนในหมู่บ้าน ความรู้สึกตอนนั้นคิดว่าเราต้องมีมากกว่าสมัยเป็นมนุษย์เงินเดือน จะต้องมีบ้านใหม่ รถใหม่ ให้คนอื่นยอมรับว่าเราเป็นเศรษฐีคนหนึ่งในหมู่บ้าน วันแรกที่เปิดแชร์ได้เงินมาหลักแสน เอาไปซื้อที่ดินเพื่อสร้างรีสอร์ท ตอนนั้นในใจคิดว่าเราจะกลับมาสบายอีกครั้ง แต่ก็เหมือนโชคชะตาเล่นตลก เพราะความที่เราไว้ใจทุกคน ในที่สุดมีคนที่ได้เงินแชร์ไปแล้วไม่ยอมส่ง เราเลยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตัดสินใจไปกู้เงินนอกระบบมาจ่ายให้สมาชิกในฐานะท้าวแชร์ที่ต้องรับผิดชอบให้ทุกคน รู้ว่าดอกเบี้ยโหดมาก ๆ แต่เมื่อไม่มีทางเลือกก็จำเป็นต้องยอม สุดท้ายจากยอดหนี้เพียงหลักแสนดอกเบี้ยทบต้นสะสมกลายเป็นหนี้ก้อนโต 3 ล้านบาท ตอนนั้นไม่รู้จะใช้คำอธิบายกับชีวิตอย่างไร รับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”
กู้ไม่หยุด หนี้ไม่มีวัน “จบ” ดอกทบต้นจากหลักแสนเป็น 3 ล้าน
ที่แย่กว่านั้นคือ แม้เป็นหนี้อยู่แล้วก็ยังไม่หยุดกู้ ตัดสินใจกู้เงินในระบบเพิ่มอีก หวังจะทำธุรกิจรับซื้อเศษยางเพื่อปลดหนี้ สุดท้ายก็ขาดทุน กลายเป็นหนี้ซ้ำสองวนไปหาทางออกไม่เจอ ซึ่งเมื่อรู้ว่ายอดหนี้ท่วมตัว “สายชล” บอกว่า ช็อกไปสามวัน นอนติดเตียงทำอะไรไม่ได้ ร้องไห้อย่างเดียว และหนักที่สุดก็คือ มือปืนเอาปืนมาจ่อหัวทวงหนี้ถึงหน้าบ้าน ก็คิดว่าต้องตายแน่ ๆ จะทำอย่างไรกับหนี้ 30 ล้านบาท ต้องทำสวนอีกกี่ปีกว่าจะปลดหนี้ได้ และยังมีภาระค่าเทอมลูก ค่าผ่อนรถ ทุกอย่างแย่ไปหมด หาเงินได้เท่าไหร่ต้องเอามาใช้หนี้ แม้ชุดชั้นในขาดก็ยังไม่มีเงินซื้อ จนคุณแม่พูดเตือนสติว่า ท้อทำไม สมัยก่อนแม่มีหม้อข้าวแค่สองใบ ยังเลี้ยงลูกได้ตั้ง 12 คน ถ้าท้อให้ลุกขึ้นไปทำงานให้หายเครียด และทุกคนในครอบครัวต่างก็เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจเลิกท้อ ไม่ยอมแพ้ลุกขึ้นสู้ตั้งใจปลดหนี้ให้ได้
สายชล เล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นพยายามทำทุกทาง ไม่ได้หยุดตัวเองค่าการเป็นเกษตรกร เพราะตั้งใจปลดหนี้ให้ได้ พยายามทำทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ทั้ง OTOP การสร้างรายได้จากของในท้องถิ่น เพื่อเพิ่มช่องทางในการหารายได้ เข้าอบรมหาความรู้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้เข้าร่วมกับ โครงการพลังชุมชน ที่สนับสนุนโดย เอสซีจี ซึ่งสอนให้รู้จักการสร้างมูลค่าเพิ่มสิ่งของในท้องถิ่น การวางแผนการตลาด หาช่องทางการขายที่มากกว่าส่งพ่อค้าคนกลาง เพิ่มเรื่องราวให้สินค้าและการทำแบรนด์ รวมไปถึงการกระจายความเสี่ยงของรายได้ ทำให้เริ่มเห็นโลกภายนอกกว้างขึ้นเปลี่ยนจากชาวบ้านชาวสวนธรรมดา มองเห็นโอกาสที่จะหาเงินได้มากขึ้น ที่สำคัญได้เพื่อนใหม่มีเครือข่ายเพิ่มขึ้น และมีอาจารย์ที่มาอบรมคอยให้คำปรึกษาชี้แนะตอบความสงสัย
วิ่งหาทุกโอกาส เรียนรู้ลงมือทำ ลองผิดลองถูก พลิกชีวิต
“ที่ไหนมีโอกาสทำให้เราสร้างเงินได้ที่นั่นต้องมีสายชลในงานเพื่อวิ่งหาโอกาสนั้น การเข้าอบรมหาความรู้ทำให้มองเห็นโอกาส ที่สำคัญคือเราต้องลองทำจริง เริ่มต้นจาก การขายมังคุดอินทรีย์ผ่านช่องทางออนไลน์ จากปกติเคยขายตามท้องตลาดวันละ 50 กิโลกรัม แต่พอขายทางออนไลน์ชูจุดขายเป็นมังคุดอินทรีย์ ทำให้ผู้ซื้อได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากเกษตรกรตัวจริงก็สามารถพลิกชีวิตทำให้ขายหมด 1 พันกิโลกรัม หรือ 1 ตันภายในวันเดียว หากเป็นก่อนหน้านี้เมื่อหมดฤดูกาลของมังคุดก็ไม่รู้จะทำอะไรนอกจากรับจ้าง แต่ตอนนี้เราเห็นโอกาสใหม่หันมาหยิบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในท้องถิ่นไปขายในออนไลน์และกระจายไปยังเครือข่ายต่าง ๆ ทั่วประเทศที่เรารู้จักจากการเข้าอบรม”
ปัจจุบันความรู้ที่ได้จากการลองผิดลองถูกของสายชล ได้นำมาสู่การสร้างแบรนด์ของตัวเองภายใต้ชื่อ “หมูฝอยน้ำผึ้งเดือนห้า 9 ด่านความเลิศรส” ที่สร้างจุดต่างคือ ผสมคุณค่าทางสารอาหารจากน้ำผึ้งซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี กลายเป็นรายได้หลักในวันที่ผลผลิตทางการเกษตรยังไม่พร้อมออกจำหน่าย ซึ่งในที่สุดผลจากความพยายาม จนเกิดไอเดียในการต่อยอดทั้งสร้างแบรนด์ มองหาสินค้าในท้องถิ่นมาส่งต่อ และการขายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งสร้างเครือข่าย จนรู้ว่าอะไรคือหนทางที่ใช้ในการสร้างรายได้เดินทางมาถึงวันที่สามารถปลดหนี้ได้ 1.5 ล้านบาทภายใน 1 ปี
ตลอด 13 ปี บนเส้นทางของการต่อสู้จนกระทั่งมีวันนี้ “สายชล” เชื่อมั่นว่า สิ่งที่ต้องทำคือ สู้ ชีวิตไม่ได้ล้มเหลวและจบที่การเป็นคนมีหนี้ ตราบใดที่ลุกขึ้นสู้ย่อมไม่มีคำว่าแพ้ โดยกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ปลดล็อกชีวิตหนี้คือ การตั้งหลักปรับวิธีคิดและพฤติกรรมใหม่ วิ่งหาทุกโอกาส พร้อมเรียนรู้ลองผิดลองถูก นำสิ่งที่พลาดไปมาเป็นบทเรียน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ตกอยู่ในวังวนเดิมได้อีก