วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightแนะ'ทางออกม็อบ'ลงสวยๆ ถ้าดันทุรัง'แกนนำ'จะลำบาก
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แนะ’ทางออกม็อบ’ลงสวยๆ ถ้าดันทุรัง’แกนนำ’จะลำบาก

“อดีตรองอธิการบดี มธ.” ฟื้นความจำการเมืองไทย ให้ข้อมูลครบด้าน ไล่เรียงตั้งแต่ยุคอภิสิทธิ์-ยุคยิ่งลักษณ์ จนมาถึงยุคประยุทธ์ แนะทางออกม็อบ ให้เลิกชุมนุม เดินเข้าสู่โหมดเจรจา มุ่งกดดันแก้รธน. ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ แต่เลิกหวังจะล้มสถาบันกษัตริย์ เพราะไม่มีโอกาสเป็นไปได้ ย้ำถ้ายังดันทุรัง “แกนนำ” เองจะลำบาก

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr มีเนื้อหาดังนี้…

ในขณะที่รัฐบาลและท่านประธานรัฐสภากำลังเอาจริงเอาจังกับการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ และพรรคเพื่อไทยก็ดูจะมีทีท่าอ่อนลง ยอมเข้าร่วมด้วย แต่กลุ่มคณะราษฎร 2563 ยังคงยืนกระต่ายขาเดียวไม่ยอมเจรจาใดๆ ประกาศยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อ เช่นเดิม คือพลเอกประยุทธ์ต้องลาออก แก้รัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ที่กล่าวหาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าทำผิดร้ายแรง เนื่องจากทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่สู้เป็นธรรมต่อพลเอกประยุทธ์เท่าใดนัก เพราะเป็นการกล่าวหา โดยเลือกให้ข้อมูลเฉพาะที่สนับสนุนข้อกล่าวหามาบอก แต่ตั้งใจตัดข้อมูลส่วนที่เป็นเหตุผลความจำเป็นของการทำรัฐประหารออกไปเสียทั้งหมด

เพื่อความเป็นธรรม ในที่นี้จะให้ข้อมูลทั้ง 2 ด้าน เราจะย้อนกลับไปดูว่ารัฐบาลที่ว่ามาจากการเลือกตั้ง คือรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีที่มาอย่างไร การทำรัฐประหารมีเหตุผลสมควรหรือไม่ อย่างไร

รัฐบาลชุดก่อนรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ คือ รัฐบาลคุณอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ซึ่งก็เป็นรัฐบาลที่มาตามครรลองของประชาธิปไตยเช่นกัน แต่ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมจนทุกวันนี้ว่าล้อมปราบและเข่นฆ่าประชาชน (เสื้อแดง) ที่เพียงออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ในเดือนพฤษภาคม 2553

ประการแรก การชุมนุมน่าจะไม่ใช่เป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะคุณอภิสิทธิ์ก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎร แต่ผู้ชุมนุมประท้วง ยื่นคำขาดให้คุณอภิสิทธิ์ยุบสภาภายใน 7 วัน เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะทราบดีว่า ผู้ที่กลุ่ม นปช. สนับสนุนจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีก

ประการที่ 2 การพูดว่า “ล้อมปราบ และเข่นฆ่า…” เป็นการพูดที่เกินจริง เพราะไม่ใช่เป็นการล้อมปราบ แต่เป็นการใช้กำลังทหารเข้าสลายชุมนุม เนื่องจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีกองกำลังติดอาวุธปะปนอยู่ในที่ชุมนุมด้วย หลังการชุมนุมยุติลง ก็ยังมีการเผาทำลายสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และมีการเผาศาลากลางในจังหวัดต่างๆ หลายจังหวัด

แม้สลายการชุมนุมได้ แต่หลังจากนั้นอีก 1 ปี คุณอภิสิทธิ์ ก็ทำตามที่ได้ลั่นวาจาไว้ คือยอมยุบสภาตามข้อเรียกร้องของ นปช. เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่

ในการเลือกตั้งหลังยุบสภา คุณทักษิณ ชินวัตร ให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งใช้สโลแกนว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ส่งคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวคุณทักษิณ ซึ่งไม่ประสีประสา และไม่มีความพร้อมแม้แต่น้อย ลงสมัครเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี

ถึงกระนั้นพรรคเพื่อไทยก็ชนะการเลือกตั้ง เป็นผลให้คุณยิ่งลักษณ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมใจคุณทักษิณ

เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เคยประท้วงขับไล่ระบอบทักษิณ ก็ไม่กลับมาประท้วงอีก เพื่อให้โอกาสรัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำงานพิสูจน์ตัวเอง

รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ เมื่อบริหารประเทศ ก็ยังคงบริหารตามแบบระบอบทักษิณ กล่าวคือ ส่งคนของตัวเองเข้าไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่ทำกำไรทุกรัฐวิสาหกิจ แทรกแซงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แทรกแซงวุฒิสภา และมีการทุจริตคอรัปชั่น ที่เป็นการทุจริตที่ชัดเจนที่สุดคือโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ซึ่งทั้ง TDRI และ ป.ป.ช. มีหนังสือทักท้วงหลายครั้ง ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น แต่คุณยิ่งลักษณ์ ก็ยังดึงดันทำต่อไป จนสร้างความเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ยังไม่รวมถึงจำนวนเงินที่มีการทุจริต โดยขายข้าวให้กับพรรคพวกตัวเอง แต่ทำหลักฐานเป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐ

ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้มีคนออกมาประท้วงบนท้องถนนเป็นเรือนล้าน คือการที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอย คือนิรโทษกรรมทั้งหมด ทั้งผู้ที่ต้องคดีการเมือง รวมทั้งคนที่โดนข้อหาทุจริต ก็จะได้อานิสงส์ไปด้วย ซึ่งหากผ่านแล้ว คุณทักษิณจะสามารถกลับเข้าประเทศได้แบบไม่มีคดีอะไรติดตัวเลย

พรรคเพื่อไทยใช้เสียงข้างมากผ่านพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวในสภาผู้แทนราษฎร อย่างฉลุยในเวลา 02.30 น. ทำให้คนออกมาประท้วงชนิดมืดฟ้ามัวดิน เป็นผลให้วุฒิสภาไม่กล้าผ่านให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงตกไปในที่สุด

การประท้วงไม่ได้หยุดยั้งลง ยังคงดำเนินต่อไป โดยคราวนี้เป็นการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี คือคุณยิ่งลักษณ์ลาออก แต่จะอย่างไรคุณยิ่งลักษณ์ก็ไม่ยอมลาออก แต่เลี่ยงไปเป็นการยุบสภา เพราะเชื่อว่าภายใต้กติกาเดิม ต้องได้รับเลือกตั้งกลับมาใหม่

ผู้ชุมนุมประท้วงก็ทราบดีว่า หากคุณยิ่งลักษณ์ได้รับการเลือกตั้งกลับมาใหม่ ผลก็คือรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์จะทำอะไรก็ได้ โดยอ้างความชอบธรรมที่ได้รับเลือกตั้งกลับมาอีกครั้ง การประท้วงจึงเปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นการขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้ง

ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เนื่องจากไม่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งถึง 28 เขตเลือกตั้ง

คุณยิ่งลักษณ์ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีมีคำสั่งย้ายคุณถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ อย่างไม่เป็นธรรม คุณชัยเกษม นิติศิริ ต้องรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ แต่รัฐบาลก็ยังไม่ยอมออก

การประท้วงยังคงยืดเยื้อต่อไป แต่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีรักษาการ ยังคงยืนกรานไม่ลาออก

สถานการณ์บ้านเมืองจึงมาถึงทางตัน ไม่มีใครยอมใคร รัฐบาลรักษาการก็ไม่มีอำนาจพอที่จะบริหารประเทศตามปกติได้ เช่น กรณีการจำนำข้าว เนื่องจากขาดทุนมหาศาล รัฐบาลไม่มีเงินจ่ายชาวนา ต้องกู้เงิน แต่รัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจกู้เงินได้ ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินให้กับชาวนาได้ ทำให้มีชาวนาหลายคนถึงกับฆ่าตัวตาย

การประท้วงครั้งนี้ แม้ไม่มีการสลายการชุมนุม แต่ก็มีคนบางกลุ่ม ไม่ชัดเจนว่าเป็นใคร วางระเบิด ขว้างระเบิด และมีการใช้อาวุธสงครามกราดยิงผู้ประท้วงที่ค้างคืนที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นเหตุให้มีบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายคน รวมทั้งหมดตลอดการประท้วง มีผู้เสียชีวิต 27 ราย บาดเจ็บกว่า 200 ราย นอกจากนี้กลุ่ม นปช. ก็จัดการชุมนุมคู่ขนานไปด้วย ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าจะมีการปะทะกัน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ได้เชิญผู้แทนทั้งฝ่ายประท้วงและฝ่ายรัฐบาลรักษาการ มาเจรจาทำความตกลงกันที่สโมสรทหารบก และขอให้ผู้รักษาการนายกรัฐมนตรี คือคุณชัยเกษม นิติศิริ ลาออก คุณชัยเกษมปฏิเสธทันที แบบไม่มีการลังเล

นั่นเป็นจุดแตกหักที่ทำให้เกิดการทำรัฐประหาร

จะเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้ทำรัฐประหารโดยไม่มีเงื่อนไขที่สุกงอม

ที่ไม่เหมาะสมคือ เมื่อทำรัฐประหารแล้ว พลเอกประยุทธ์ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง แทนที่จะให้คนกลางที่มีความรู้ความสามารถที่ได้รับการยอมรับ มาเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งยังตั้งนายทหารเข้ามาเป็นรัฐมนตรีในจำนวนที่มากเกินไป

ความไม่เหมาะสมอีกประการคือ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์หรือรัฐบาล คสช. ใช้เวลานานถึง 5 ปี กว่าที่จะให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยใช้เหตุผลที่ฟังขึ้นว่า ต้องให้มีการปฏิรูปประเทศก่อน แต่แล้ว แต่การปฏิรูป นอกจากการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยผ่านประชามติ และการจัดทำพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว การปฏิรูปด้านอื่นๆ ยังคงอยู่บนแผ่นกระดาษหรือในไฟล์อีเล็คโทรนิค ไม่มีการนำไปปฏิบัติแต่อย่างใด จะเรียกว่าการปฏิรูปประเทศ ตามที่สัญญาไว้ หากจะบอกว่านี่เป็นความล้มเหลวของรัฐบาล คสช. ก็คงไม่ผิดความจริงแต่อย่างใด

ความไม่เหมาะสมประการสุดท้าย คือการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ด้วยเกรงว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว พรรคการเมืองของคุณทักษิณจะชนะเลือกตั้งอีก จึงพยายามสืบทอดอำนาจด้วยการตั้งพรรคการเมืองใหม่ของตัวเอง ลงสู้ในสนามเลือกตั้ง ซึ่งก็ทำให้พลเอกประยุทธ์ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ครั้งนี้มาตามครรลองของประชาธิปไตย มิได้มาจากการยึดอำนาจ

รัฐธรรมนูญที่ว่าเขียนขึ้นโดยเอื้อให้มีการสืบทอดอำนาจได้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ แต่ที่มีเนื้อความที่ทำให้ คสช. ได้เปรียบ ก็อยู่ในบทเฉพาะกาล เหลืออีก 2 ปีกว่าๆ ก็จะสิ้นสภาพไปเอง และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีการถามประชาชน ตามคำถามแนบท้าย และได้ผ่านประชามติมาแล้ว

หากถามว่าพลเอกประยุทธ์ควรลาออกหรือไม่ ว่ากันตามจริงรัฐบาลพลเอกยุทธ์ชุดนี้ ก็ใช่ว่าจะไม่มีผลงานเสียทีเดียว นอกจากความล้มเหลวในการปฏิรูปประเทศแล้ว ผลงานที่เป็นรูปธรรมให้เห็น มีอยู่ไม่น้อย ทั้งการสร้างระบบคมนาคมต่างๆ การจัดระเบียบสถานที่ที่อยู่ริมคลอง จนสะอาด เป็นระเบียบ การผ่านกฎหมายสำคัญ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้าง และภาษีมรดก เรื่องเศรษฐกิจ จะโทษรัฐบาลเสียทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะเป็นปัญหากันทั้งโลก

ที่สำคัญคือรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ยังไม่มีการทุจริตคอรัปชั่นให้เห็นอย่างเด่นชัดเหมือนรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์

หากพลเอกประยุทธ์ลาออก การเมืองก็จะมีความวุ่นวาย วิ่งเต้นจับขั้วกันใหม่ กว่าจะตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็ใช้เวลาไม่น้อย และยังอาจได้นายกรัฐมนตรีคนเดิมกลับมาอีกก็เป็นได้ เพราะหากไม่มีการเจรจาจนบรรลุข้อตกลงกันทุกฝ่าย การที่จะให้วุฒิสมาชิกทุกคนงดออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นความเพ้อฝันที่เป็นจริงได้ยากมาก

ทางเลือกที่ดีที่สุดของม็อบ และเป็นผลดีต่อบ้านเมืองด้วย คือหยุดการชุมนุม ยอมเข้าสู่โหมดเจรจา และมุ่งกดดันข้อเรียกร้องข้อที่ 2 นั่นคือให้มีการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็ว และเรียกร้องให้ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่โดยเร็วเช่นกัน

เช่นนี้จะเป็นการเห็นแก่บ้านเมือง อย่าลืมว่า พลังเงียบใส่เสื้อเหลืองออกมาแสดงพลังมากขึ้นทุกวัน และมีจำนวนมากกว่าม็อบคณะราษฎรแล้ว

เลิกหวังที่จะล้มสถาบันพระมหากษัตริย์เสียเถิด เพราะไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลย

หากยังดันทุรังกันไม่เลิก สุดท้ายแกนนำทั้งหลายนั่นแหละ จะลำบาก ส่วนคนที่อยู่เบื้องหลังจะอยู่รอดปลอดภัย แต่จะนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าผลกรรมที่ก่อไว้ จะตามทันเมื่อใด ต้องคอยดู

…………………………..

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img