ตอนนี้เข้าฤดูแล้งของประเทศไทยแล้ว คนส่วนใหญ่จะวิตกกังวลกันว่า “น้ำจะพอใช้ไหม” จะต้องขอความร่วมมือชาวนางดทำนาปรัง แต่เวลาหน้าน้ำหลาก น้ำก็ท่วมพื้นที่เกษตร ปล่อยให้ท่วมพื้นที่ทำนาไม่ได้อยู่หลายเดือน และจะมีปริมาณน้ำเพียงพอปล่อยจาก 4 เขื่อนใหญ่ ลงมาดันน้ำทะเลไม่ให้ลุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา ให้คนเมืองหลวงต้องกินน้ำกร่อยกันหรือไม่
ปัญหาเหล่านี้เริ่มวิกฤติหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะปัญหาปริมาณน้ำไหลเข้า 4 เขื่อนใหญ่ลดลง ทั้ง เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติส์ เขื่อนแควน้อยบำรงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แต่ละปีมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 30-40% เขื่อนภูมิพลไม่เคยมีน้ำเต็มเขื่อน ยกเว้นปี 2554 ที่เกิดอุทกภัยใหญ่ น้ำเข้าเต็มเขื่อนครั้งแรกตั้งแต่สร้างเขื่อนมา ซึ่งสวนทางกับการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นในทุกกิจกรรมของคน 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา และพื้นที่ภาคอีสานเกิดภัยแล้งซ้ำซาก จึงต้องมาจับเข่าคุยกับ
“เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรรัตน์” รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายวิชาการ มืองานของกรมชลประทาน ผ่าวิกฤติหาทางออกสร้างความมั่นคงน้ำของประเทศ มาไขคำตอบให้กับประชาชน
Q : โครงการผันน้ำจากลำน้ำยวมมาเติมเขื่อนภูมิพล แก้ภัยแล้งให้กับลุ่มเจ้าพระยาอย่างไร
A : การผันน้ำจากลำน้ำยวม ซึ่งไหลออกนอกประเทศลงแม่น้ำสาละวิน มาเติมเขื่อนภูมิพล ปีละ 1.8-2 พันล้านลบ.ม. มีความจำเป็นมาก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด มีพื้นที่การเกษตรกว่า 10 ล้านไร่ บางปีต้องขอความร่วมมืองดทำนาปรับ หากปีไหนน้ำใน 4 เขื่อนหลัก เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ เขื่อนป่าสักฯมีน้อย จะให้ชาวนางดทำนาปรัง พวกเขาก็ต้องเดือดร้อนแน่ๆ ไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร ไม่ปลูกข้าวก็ไม่มีเงินมาใช้จ่าย เมื่อฤดูแล้งมาถึง การส่งน้ำเพื่อการเกษตรต้องงดอยู่บ่อยครั้ง จะได้เห็นภาคการผลิตของการเกษตรหายไปเลย จึงต้องมองหามาตรการแก้ปัญหาในระยะยาว ต้องหาน้ำมาให้สมบูรณ์ เรามีเขื่อนหลัก เขื่อนภูมิพล สร้างไว้ขนาดใหญ่ รองรับน้ำได้อีกมาก และปริมาณน้ำไหลเข้าแต่ละปีไม่เต็มอ่าง
“เขื่อนภูมิพลมีน้ำใช้การได้ไม่เกินครึ่งเท่านั้น สิ่งที่มองในระยะยาวๆ เราต้องหาน้ำมาให้สมบูรณ์ มาเติมได้ เพราะเขื่อนสร้างไว้รับน้ำมาก แต่ปริมาณน้ำไหลเข้าแต่ละปี ไม่เต็มอ่าง มีปริมาณน้ำเต็มจริงๆ เมื่อปี 2554 จากพายุเข้ามาหลายลูก หลังจากนั้นมาหรือย้อนกลับจากอดีตถึงปัจจุบัน มีน้ำไม่มาก น้ำใช้การ 30-40% แต่ปริมาณการใช้น้ำเพิ่มขึ้นมา มีทั้งภาคเศรษฐกิจ การเพาะปลูกและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ใช้น้ำมากตลอดแนวสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เราจำเป็นจะต้องสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้กับลุ่มเจ้าพระยา”
Q : ปริมาณน้ำที่นำมาเติมเขื่อนภูมิพลจากลำน้ำยวม มีความคุ้มทุนอย่างไร
A : พื้นที่ตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพลลงมา ได้รับประโยชน์หมด ทำไมจึงต้องวางแผนภาพใหญ่ ลองหลับตานึกดูว่า ถ้าวันหน้าน้ำขาด เราจะอยู่อย่างไร เกิดความเดือดร้อนแสนสาหัสเลย เพราะแล้งไม่มีฝนมาเติม ถ้าท่วมเราก็เดือดร้อน สามารถหาทางบรรเทา คลี่คลายภายใน 2-3 เดือน แต่ระยะเวลาแล้งนาน 6 เดือนบางปี 9 เดือน เราไม่มีน้ำมาเติมให้ประชาชนใช้
“ความคุ้มค่า น้ำที่ได้มาเติมเขื่อนส่วนหนึ่ง และน้ำมาอยู่ในระบบด้วย ทำให้พื้นที่การเกษตรได้น้ำเพิ่มขึ้นเป็นล้านๆ ไร่ เดิมปลูกไม่ได้เพราะไม่มีน้ำ ความคุ้มทุนระยะยาว มีแน่นอน ตอบโจทย์ได้หมด”
โครงการนี้ตอนนี้ผ่านกระบวนการศึกษา EHIA ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เหลือความพร้อมของภาคประชาชน เราต้องไปสร้างการรับรู้ก่อน ประชาชนเห็นด้วยตอบรับมา รัฐบาล นายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมเดินหน้า
สำหรับการลงทุน ต้องดูความเหมาะสมและคุ้มค่า จะเป็นเอกชนมาร่วมด้วย หรือภาคเอกชนทั้งหมด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ข้อคิดเห็นแต่แรกๆ โครงการนี้มีความสำคัญต้องสร้างความมั่นคงของน้ำเป็นความมั่นคงของประเทศ โครงการนี้ใช้เวลาศึกษามา 5-6 ปีแล้วศึกษามาอย่างเป็นระบบ ใช้เวลาศึกษานานกว่าโครงการอื่นๆ หากผ่านขั้นตอนต่างๆ การก่อสร้างประมาณ 7-8 ปีแล้วเสร็จ ทั้งนี้การสร้างเขื่อนใหม่ ปัจจุบันยากมาก บางพื้นที่อยู่ในแหล่งมรดกโลก เช่น จ. นครนายก ปราจีนบุรี เป็นพื้นที่สัตว์ป่า พื้นที่ป่าไม้ หรือมีประชาชนอยู่มาก
“จริงๆ มองทั้ง 22 ลุ่มน้ำในประเทศ ต้องนำกลับมาใช้ ไม่ปล่อยไหลทิ้งออกนอกประเทศ พยายามนำมาให้ประชาชนใช้เกิดประโยชน์สูงสุด มองดีๆ เราจะเข้าใจได้ ถ้าไม่มีโครงการขนาดใหญ่ๆ เช่น เขื่อนภูมิพล เราจะสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา มาใช้อย่างไรให้เพียงพอใช้ปีละ 3-4 พันล้านลบ.ม. พื้นที่การเกษตรจะร้าง คนตกงานจำนวนมาก ไม่มีทางที่น้ำจะงอกจากป่า ไหลมาเต็มคลอง ปริมาณน้ำจากป่าต้นน้ำก็ลดลง”
Q : โครงการนี้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาอย่างไร
A : การเติมน้ำเพื่อนำมาใช้ เพื่ออุปโภค บริโภค เพื่อการเกษตร เพื่อรักษาระบบนิเวศวิทยา พูดง่ายๆ น้ำประปาที่เราใช้มาตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพล มาถึงจ.กำแพงเพชร จนมาถึง นครสวรรค์ ชัยนาท พิจิตร พิษณุโลก จนมาถึงนนทบุรี และกรุงเทพฯ พี่น้องประชาชน สองฝั่งเจ้าพระยาใช้น้ำประปา ใช้น้ำเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม มีสถานีสูบน้ำมากมาย ทั้งระบบประปาท้องถิ่น อบต. จำเป็นต้องหาปริมาณน้ำมารองรับสถานการณ์ไว้ ซึ่งต้องมองหาน้ำที่จะนำมาเติมเขื่อนภูมิพล มีน้ำในพื้นที่อยู่ระหว่าง 3-4 จังหวัดที่เป็นชนแดนกันมาเติมลงเขื่อนภูมิพลได้ มีปริมาณน้ำจาก ท่าสองยาง จ.ตาก จ.แม่ฮ่องสอน และจ.เชียงใหม่ ขณะที่น้ำนี้จะไหลลงลำน้ำยวม ลงแม่น้ำเมย และลงแม่น้ำสาละวิน ซึ่งในแต่ละปีฝนตกหนักในเขตนี้ มีปริมาณน้ำ 4 พันกว่าล้านล.บ.ม. เพราะฉะนั้นก็ไปศึกษา
เราพบว่าสามารถเอาน้ำมาเติมได้ โดยไม่กระทบในพื้นที่ตรงนั้นเลย ถ้าเราเติมได้โดยนำมาปีละ 1.8-2 พันล้านลบ.ม.ในช่วงฤดูฝนมีน้ำหลาก ซึ่งใช้กระบวนการสูบ ปล่อยลงอุโมงค์ใหญ่ 8 เมตร ยาว 62 กม. เอาน้ำจากน้ำยวม ทอดไปใต้แผ่นดินมาลงทะเลสาบรอยต่อเขื่อนภูมิพล เพื่อมาช่วยแต่ละปีมีช่วงแล้งยาว ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคม ประเทศไทยฝนก็ไม่มี จึงต้องเตรียมน้ำไว้ให้ประชาชนใช้ได้ตลอดทั้งปี ซึ่งพื้นที่ใช้น้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพล ลงมาให้พี่น้องประชาชน จ.ตาก กำแพงเพชร พิจิตร จนมาถึงภาคกลาง น้ำที่นำมาเติมมาสนับสนุนการเกษตรในฤดูแล้ง จะเขียวขจีขึ้นมาเลย
Q : มาตรการแก้ภัยแล้งพื้นที่ภาคอีสานโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล มีความคืบหน้าแค่ไหน
A : โครงการฯ โขง เลย ชี มูล อยู่ในการกระบวนการศึกษา ยังไม่ผ่าน จะต้องลงพื้นที่เก็บรายละเอีดยมากขึ้น โครงการใหญ่ๆ พวกนี้กระทบมาก เหมือนโครงการเติมน้ำเขื่อนภูมิพล ใช้งบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท กระทบแน่ๆ อาจจะเป็นป่าไม้ ส่วนโครงการโขง เลย ชี มูล กระทบประชาชนในพื้นที่ เพราะโครงการกระจายน้ำไปหลายจังหวัด ได้ลงพื้นที่พูดคุยหลายพื้นที่เก็บข้อมูล ทั้งเรื่องปลา เรื่องตะกอน ระบบกระจายน้ำเป็นอย่างไร มีทั้งประเด็นเห็นด้วยให้เกิดโครงการนี้ และเห็นต่างไม่อยากให้ทำเลย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นผู้ศึกษา เป็นหลัก กรมชลฯเข้าไปเป็นกรรมการ ดูภาพรวม
ผลตอบรับของพี่น้องประชาชน ดึงน้ำจากแม่น้ำเลย ที่ไหลลงแม่น้ำโขง เข้ามา จ.เลยได้รับประโยชน์ กรมชลฯมีแนวตั้งสถานีสูบน้ำ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย เพิ่มน้ำให้พื้นที่ทำการเกษตรได้มากขึ้น ส่วนจะเดินหน้าเมื่อไหร่ ต้องศึกษาให้ผ่าน ข้อกังวลต่อพี่น้องประชาชน ในปีนี้ชี้แจงรายละเอียด ต่อประชาชน ถ้าผ่านได้ไปออกแบบ ปี 2567-2568 เตรียมความพร้อมโครงการ
ในพื้นที่ของโครงการเติมน้ำเขื่อนภูมิพล มีผู้ได้รับผลกระทบ 20 กว่าราย หรือจะกี่รายก็แล้วแต่ หากกระทบพื้นที่ทำกิน หรืออยู่ใกล้ๆ ทางออกอุโมงค์ จะเป็นพี่น้องชนเผ่า และคนไทยด้วย ต้องดูแลค่าชดเชยเยียวยาชัดเจน ให้เป็นธรรม การอยู่ร่วมกัน เขาเคยอยู่อย่างไร ดูแลให้ดีที่สุด เรื่องสิ่งแวดล้อมเอามวลดินออกจากอุโมงค์ ไม่ว่าการระเบิด การเจาะ ให้ความสำคัญผู้ได้รับกระทบเต็มที่ มวลดินขนออกจากอุโมงค์ การวางกองดินที่ต้องระวังเรื่องมลภาวะ รวมทั้งเรื่องการประมง เรื่องของพันธุ์ ปลา อาศัยอยู่เดิม และปลาที่อาจมีผลกระทบ กับปลามาเจอกัน ปลาต้นน้ำและปลาปลายน้ำ มีวิธีแก้ปัญหาตามหลักวิชาการของกรมประมง
“ผมติดตามข้อมูลข่าวสาร ความห่วงใยของสังคม ที่ห่วงว่าทำไมต้องให้เกิดโครงการนี้ ถ้าเราไม่ผลักดัน วันหน้าเราขาดน้ำ ถ้าเราไม่ทำตามแผน เราขาดน้ำจากที่เราสร้างไม่ทัน ต้องถามว่าถ้าไม่สร้าง ไปเริ่มอีก 10 ปีข้างหน้า กว่าจะสร้างเสร็จ ใช้เวลาเท่าไหร่ ให้คิดถึงการสร้างอุโมงค์ยาว 60 กว่ากิโลเมตร เกือบ 10 ปี กว่าจะแล้วเสร็จ เราจึงต้องศึกษาเตรียมความพร้อม ส่วนเรื่องไฟฟ้า กังวลว่า กระแสไฟฟ้าจะตกในระหว่างการก่อสร้าง ยืนยันว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำเต็มที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมเข้าไปดูแล สร้างความมั่นคงเรื่องกระแสไฟฟ้าใช้พื้นที่ในการก่อสร้าง และประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ด้วย ถัดมามีประเด็น ทำไม ปี 2554 น้ำมากเกิดอุทกภัยใหญ่ ทำไมต้องนำน้ำมาเติมเขื่อนภูมิพล ถ้าวันหน้าน้ำขาดจะทำอย่างไร ต้องเข้าใจว่าพื้นที่ข้างล่างมีการพัฒนาต่อเนื่องอยู่แล้ว พยายามทำอ่างเก็บน้ำ แก้มลิงหลายพื้นที่ แต่เพิ่มน้ำได้หลักพันล้านลบ.ม. ซึ่งภาคกลางมีคนหลายสิบล้านคน ทุกภาคส่วนมีการใช้น้ำเพิ่มขึ้น”