วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVEเปิดปมใหม่“กราดยิง” มือปืนคลั่งเครียด “นอนไม่หลับ”ติดต่อกัน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เปิดปมใหม่“กราดยิง” มือปืนคลั่งเครียด “นอนไม่หลับ”ติดต่อกัน

เมื่อสัปดาห์ก่อน (19 ต.ค.) คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้พิจารณาศึกษาเกี่ยวกับ นโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยถอดบทเรียนจาก สถานการณ์ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่จังหวัดหนองบัวลําภู ที่เกิดเหตุกราดยิง เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา

ในที่ประชุม มีการหารือมาตรการทางกฎหมาย แนวทางการบําบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด และปัญหาสุขภาพจิตจากการติดยาเสพติดเรื้อรัง รวมทั้งการบําบัดรักษา ป้องกันการกระทําความผิดจากปัญหาทางสุขภาพจิตที่เกิดจากยาเสพติด ตลอดจนการบูรณาการการดําเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยคณะกรรมาธิการได้เชิญผู้แทนกรมสุขภาพจิต ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และผู้แทนสํานักงาน ป.ป.ส. เข้าร่วมประชุม ที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหายาเสพติด การแก้ไขปัญหา การบําบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด โดยเฉพาะการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์กราดยิง

ที่ประชุม ได้พิจารณาประวัติผู้ก่อเหตุเป็นผู้ติดยาเสพติด โดยมีการใช้ยาจํานวนมากมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่วัยรุ่น อย่างไรก็ตาม กรมสุขภาพจิตได้ให้ข้อมูลว่า การก่อเหตุครั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลสรุปเพียงพอว่า การก่อเหตุเกิดจากปัญหาทางจิตเวช และผู้ก่อเหตุอาจได้รับปัจจัยการกระตุ้น จากการใช้ยาบ้าจํานวนมากมาเป็นระยะเวลายาวนาน

แนะ “ชันสูตรศพเชิงจิตวิทยา” สะท้อนข้อมูล

แต่เนื่องจากวันเกิดเหตุ ไม่มีข้อมูลการพบสารเสพติดในตัวผู้ก่อเหตุ จึงไม่สามารถสรุปข้อมูลได้ว่า การใช้สารเสพติดเป็นเหตุชักนําโดยตรงต่อการก่อเหตุความรุนแรง ซึ่งจะต้องมี การชันสูตรศพเชิงจิตวิทยา (Psychological Autopsy) เพื่อสะท้อนข้อมูลเป็นบทเรียนในการป้องกัน

ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาและป้องการการเกิดเหตุซ้ำซ้อนในสังคม ควรมีวิธีการสังเกตและการแก้ไขความผิดปกติ ซึ่งการพิจารณาศึกษาในต่างประเทศที่มีการก่อเหตุโศกนาฏกรรมโดยใช้ปืน พบต่ำกว่า ร้อยละ 1 ที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่มีลักษณะการกราดยิง โดยส่วนใหญ่ ผู้ก่อเหตุกราดยิงมักเป็นปัญหาจากการถูกโดดเดี่ยวทางสังคม หรือความโกรธแค้น เกลียดชัง และต้องการล้างแค้น โดยอาจไม่พบปัญหาทางจิตเวช

พบ “มือปืน” มีภาวะเครียด-นอนไม่หลับติดต่อกัน

การศึกษาโดยถอดบทเรียนกรณีดังกล่าว อาจจะต้องสังเกตภาวะความเครียด ปัญหานอนไม่หลับติดต่อกัน ซึ่งผู้ก่อเหตุรายนี้ มีปัญหานอนไม่หลับติดต่อกัน หรือภาวะตึงเครียดจนมีพฤติกรรม หรือภาวะทางอารมณ์ ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การใช้สุราหรือสารเสพติดเพิ่มมากขึ้น จนสูญเสียหน้าที่การทํางาน สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือน

รวมถึงสัญญาเตือนด้านอารมณ์ เช่น ความโกรธแค้น การต้องการแก้แค้น การจะทําร้ายคนอื่น การไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ ซึ่งอาจต้องผ่านการสังเกตจากครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน รวมถึงผู้บังคับบัญชาในองค์กร นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตมีแนวทางการเพิ่มยารักษาภาวะทางจิตเป็นสิทธิประโยชน์ในการรักษา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น ควบคู่กับการสร้างความรอบรู้การจัดการกับภาวะสุขภาพจิตให้แก่องค์กร บุคลากร และประชาชน

แนะนำ “องค์กร-หน่วยงาน” ประเมินสุขภาพจิตบุคลากร

ดังนั้น องค์กร/ หน่วยงานต่าง ๆ ควรมีการประเมินภาวะสุขภาพจิตเบื้องต้นของบุคลากร และการประเมินความเครียด พร้อมทั้งการให้คําปรึกษาผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งที่เป็นส่วนตัวและเป็นความลับ และมีการส่งต่อเพื่อพบบุคลากรด้านสุขภาพจิต ตลอดจนมีการสร้างแรงเสริมจูงใจเชิงบวก ร่วมด้วยมากกว่าการลงโทษ โดยการนํานโยบายด้านสุขภาพจิต และการประเมินความเครียดเข้าไปเป็นนโยบายขององค์กร และจัดสรรงบประมาณองค์กรโดยตรง เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขดังกล่าว

เร่งคัดกรองผู้ติดยา-จี้ยกเลิกใบอนุญาตอาวุธปืน

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้มีข้อเสนอแนะว่า หน่วยงานภาครัฐควรมีระบบการคัดกรองผู้ติดยาเสพติด และผู้ป่วยทางจิตเวชในพื้นที่ เพื่อนําบุคคลที่พบปัญหา เข้าสู่ระบบการบําบัดรักษา และการติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง จนกว่าหายเป็นปกติ โดยเฉพาะ สํานักงานสาธารณสุขจังหวัด ควรเป็นหน่วยงานหลักในการดําเนินการแต่ละพื้นที่

รวมทั้งควรมีกําหนดมาตรการควบคุมการใช้อาวุธปืน โดยหากพบว่า ผู้ที่มีประวัติการติดยาเสพติด ควรยกเลิกใบอนุญาตอาวุธปืนสําหรับบุคคลดังกล่าว นอกจากนี้ ควรมีการจัดทําระบบรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการกระทําความรุนแรงในสังคม พร้อมทั้งการศึกษาปัญหาและสาเหตุของแต่ละกรณี เพื่อนําไปสู่การกําหนดมาตรการและแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมต่อไป

………………

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img