วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVEเปิดผลศึกษา“การพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสุราไทย”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เปิดผลศึกษา“การพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสุราไทย”

ชงแก้ก.ม.-หั่นงบ ส.ส.ส.-เลิกกฎห้ามขายเหล้าวันหยุดพุทธศาสนา ท่ามกลางกระแสข่าวเรื่องโหวตคว่ำ ทำหมัน “พระราชบัญญัติสุราก้าวหน้า” ของพรรคก้าวไกล และต่อมามีการปฏิเสธโดยโฆษกรัฐบาลแล้ว

ในช่วงต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง “การพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสุราไทย” ของ คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร โดยผลการศึกษาทางคณะอนุกรรมาธิการแบ่งเป็น 2 ประเด็นหลักคือ

1.กฎระเบียบภาครัฐ สร้างอุปสรรค ทำให้เกิดข้อจำกัด ของความสามารถในการแข่งขัน

2.นโยบายของภาครัฐ ไม่ส่งเสริมต่อการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสุรา

มีการยกข้อเสนอแนะ  2 ประการคือ

1.ข้อเสนอแนะให้เปลี่ยนแปลงกฎหมาย

2.ขอเสนอแนะให้แก้ไขเชิงนโยบาย

เมื่อลงรายละเอียดข้อเสนอแนะให้เปลี่ยนแปลงกฎหมาย ที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการแข่งขัน

1.การแก้ไขพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต 2560 มาตรา 153 ให้ใช้ข้อความว่า

“ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุรา เพื่อการพาณิชย์ หรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ใช้เพื่อการพาณิชย์ ให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดี และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนด”

ความเปลี่ยนแปลง

การกำหนดเงื่อนไขของการขอรับอนุญาตเอาไว้ ในลักษณะเป็นการสร้างอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบกิจการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหม่ เช่น

-กำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบกิจการผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ (เบียร์) โดยกำหนดให้ผู้ขอรับ ใบอนุญาตจะต้องเป็นบริษัท และมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

-กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยมีกำลังการผลิตขั้นต่ำ

สำหรับกรณีโรงอุตสาหกรรมผลิตเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brew pub) จะต้องมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตร/ปี  และไม่เกิน 1 ล้านลิตร/ปี

สำหรับโรงอุตสาหกรรมผลิตเบียร์ประเภทผลิตลงบรรจุภัณฑ์เพื่อจำหน่ายจะต้องมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตร/ปี 

กรณีของสุรากลั่นชนิดพิเศษประเภทวิสกี้ บรั่นดี และยิน จะต้องมีกำลังการผลิตขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 3 หมื่นลิตร/วัน และสุรากลั่นอื่น ๆ ไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นลิตร/วัน เป็นต้น

เมื่อคณะอนุกรรมาธิการได้เชิญผู้แทนของกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง มาชี้แจง พบว่า ไม่ได้มีเหตุผลเจาะจงถึงความจำเป็นในการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว

รวมทั้งเมื่อตรวจสอบเงื่อนไขการประกอบกิจการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในต่างประเทศ ไม่พบว่ามี การกำหนดเงื่อนไขในลักษณะเดียวกันกับประเทศไทย

ส่วนข้อเสนอแนะถัดไป ได้แก่

2.การแก้ไขความไม่สอดคล้องกันของกฎหมายโรงงานกับกฎหมายสรรพสามิต

-กฎหมายสรรพสามิต กำหนดให้ใช้เครื่องจักที่มีกำลังรวมต่ำกว่า 5 แรงม้า หรือแรงงานน้อยกว่า 7 คน

-กฎหมายโรงงาน กำหนดบทนิยามโรงงานว่า ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้่งแต่ 50 แรงม้าหรือเทียบเท่า หรือใช้คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป

3.การแก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสุรา

มีความไม่เป็นธรรมในการคิดภาษี เช่น สุราขาวที่มีดีกรีสูงกว่า แต่เสียภาษีน้อยกว่า

4.ทบทวนบทบัญญัติ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551

-การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นดาบ 2 คม กระทบผู้ประกอบการรายย่อย

-สร้างหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการประกอบกิจการ มีลักษณะจำกัดสิทธิ เสรีภาพของบุคคล

-ไม่มีเหตุผลสมควร เช่นห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์

-กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยยึดโยงกับวันสำคัญทางศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาเดียวของคนทั้งประเทศ โดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนในทางสถิติ ในลักษณะเป็นการลดความเสี่ยงจากอันตรายที่จะเกิดขึ้น จากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทว่าการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะดังกล่าวกลับสร้างอุปสรรคให้กับผู้ประกอบการ ทำให้ไม่สามารถประกอบธุรกิจจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันดังกล่าวได้

-เนื้อหาซ้ำซ้อนกับกฎหมายคุ้มครองเด็ก เยาวชนและมีอัตราโทษสูงกว่า

ข้อเสนอแนะเพื่อให้มีการแก้ไขเชิงนโยบาย

จุดประสงค์เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการสนับสนุนธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างแท้จริง

1.จัดทำแนวปฏิบัติสำหรับจำหน้าที่รัฐ

ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่  ตีความไม่ตรงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ตีความต่างกันในแต่ละพื้นที่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความไม่แน่นอนในการปฏิบัติตามกฎหมาย

2.ยกเลิกสินบนนำจับตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551

เพราะสินบนนำจับสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย โดยไม่สนใจเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่สำคัญคือกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ให้อำนาจแก่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในการจ่ายเงินสินบนนำจับเอาไว้ แต่อาศัยอำนาจประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง พ.ศ.2546

3.จัดตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย

หากมีการแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 เพื่อขจัดอุปสรรคให้กับผู้ประกอบการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา คือ ผู้ประกอบการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ควบคุมคุณภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีมาตรฐาน ความสะอาด และมีคุณภาพเหมาะสมแก่การดื่ม 

4.การจัดการกับภาษีเสริมบางรายการที่ไม่เหมาะสม

การจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเอามาใช้ในกิจกรรมรณรงค์ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกองทุน ส.ส.ส. การศึกษาพบว่า กฎหมายของกองทุน ส.ส.ส.นั้น ไม่ได้กำหนดเพดานขั้นสูงของการได้รับการอุดหนุนจากภาษีเสริมเอาไว้ ทำให้สามารถได้รับภาษีเสริมในอัตรา ร้อยละ 2 ต่อเนื่องโดยตลอด 

แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการรณรงค์แล้วน้อยมาก จึงเสนอให้กำหนดเพดานขั้นสูงของเงินที่ส่งให้กับกองทุน ส.ส.ส. และลดสัดส่วนเงินอุดหนุนจากภาษีเสริมที่ส่งให้กับกองทุน ส.ส.ส. ให้สอดคล้องกับประสิทธิภาพของการใช้เงินเพื่อรณรงค์ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

นี่คือสาระสำคัญส่วนหนึ่ง ของรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง “การพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสุราไทย” ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร สามารถเข้าไปโหลดอ่านรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของทางกรรมาธิการ

…………………….

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img