วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVE“รฟม.”เร่งผลักดันรถไฟฟ้าเชียงใหม่-โคราช-ภูเก็ต หวังเปิดบริการปี 2571
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“รฟม.”เร่งผลักดันรถไฟฟ้าเชียงใหม่-โคราช-ภูเก็ต หวังเปิดบริการปี 2571

แผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเขตเมืองหลักภูมิภาคของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้น ในเบื้องต้นมีการศึกษาและจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสม

ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็ก (Steel Wheel Tram), รูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (Tire Tram), รูปแบบระบบ E-BRT (Electric Bus Rapid Transit), รูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (Autonomous Rail Rapid Transit) หรือ ART ซึ่งจากการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในแต่ละจังหวัด (เชียงใหม่ -นครราชสีมา-ภูเก็ต) ต่างก็มีความเหมาะในการลงทุนของระบบรถไฟฟ้าที่แตกต่างกัน

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ต.ค.65 รฟม.จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินงานโครงการที่เหมาะสม สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) เป็นโครงการระบบขนส่งสาธารณะหลักของจังหวัดเชียงใหม่ ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีข้อเสนอแนะให้เริ่มก่อสร้างก่อนเป็นลำดับแรก

โครงการฯ มีระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร มีสถานีรับ-ส่ง ผู้โดยสาร 16 สถานี ได้แก่ สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์ สถานีศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ สถานีสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี สถานีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ สถานีแยกหนองฮ่อ สถานีโพธาราม สถานีข่วงสิงห์ สถานีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สถานีขนส่งช้างเผือก สถานีมณีนพรัตน์ สถานีประตูสวนดอก สถานีแยกหายยา สถานีแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ สถานีท่าอากาศยานเชียงใหม่ สถานีบ้านใหม่สามัคคี และสถานีแม่เหียะสมานสามัคคี โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง บริเวณพื้นที่ว่างใกล้สถานีแยกหนองฮ่อ

นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รฟม. เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้ได้นำเสนอผลการศึกษารูปแบบการดำเนินงานโครงการที่เหมาะสมจำนวน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย

1) รูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็ก (Steel Wheel Tram) แนวเส้นทางผสมใต้ดินและระดับดิน วิ่งบนรางในเขตทางเฉพาะตลอดสาย คาดว่าจะใช้กรอบวงเงินลงทุนรวม 26,595 ล้านบาท

2) รูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็ก (Steel Wheel Tram) ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง กรอบวงเงินลงทุนรวม 9,552 ล้านบาท

3) รูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (Tire Tram) ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง กรอบวงเงินลงทุนรวม 9,255 ล้านบาท อย่างไรก็ตามมูลค่าการลงทุนโครงการเป็นราคา ณ ปีฐาน พ.ศ. 2565 ยังไม่รวมเงินเฟ้อ

โดยเมื่อเปรียบเทียบทั้ง 3 รูปแบบอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านการลงทุนและผลตอบแทน ค่าลงทุน ค่าบำรุงรักษาและดำเนินการค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รายได้ค่าโดยสารและรายได้อื่นของโครงการ และด้านสิ่งแวดล้อม ผลการศึกษา พบว่า รูปแบบที่มีความเหมาะสมมากที่สุดในการพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดงฯคือ ระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (Tire Tram)

ส่วนแผนการดำเนินโครงการนั้นในเบื้องต้นทาง รฟม. วางแผนจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ดำเนินงานก่อสร้าง เดือนม.ค.67 คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ในรูปแบบ Net Cost ระยะเวลา 30 ปี ภายในเดือน ส.ค.67-ส.ค. 68 เริ่มงานก่อสร้าง เดือนก.ย.68 พร้อมเปิดให้บริการในเดือนธ.ค.71 คาดมีปริมาณผู้โดยสารในปีที่เปิดให้บริการอยู่ที่ 14,000 คน-เที่ยวต่อวัน และในอีก 40 ปี ข้างหน้าคาดว่าปริมาณผู้โดยสารในปีที่เปิดให้บริการอยู่ที่ 60,000 คน-เที่ยวต่อวัน

ส่วนโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รฟม.ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ได้นำเสนอผลการศึกษาระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้า 3 ระบบ ได้แก่ 1.รูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็ก (Steel Wheel Tram) 2.ระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (Tire Tram) 3.ระบบ E-BRT (Electric Bus Rapid Transit) ซึ่งผลการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า ระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมกับเมืองนครราชสีมามากที่สุด คือ ระบบ E-BRT

ทั้งนี้โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมาสายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.17 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 8,275 ล้านบาท นั้นในเบื้องต้น รฟม. คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2568 และเปิดให้บริการได้ในปี 2571 (แผนการดำเนินงานโครงการฯ ณ เดือนเมษายน 2565)

ขณะที่ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง มีระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร มีจำนวนสถานีทั้งหมด 21 สถานี และระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น-เมืองใหม่ มีระยะทางประมาณ 16.5 กิโลเมตร มีจำนวนสถานีทั้งหมด 3 สถานี ซึ่ง รฟม. จะเริ่มดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 เป็นลำดับแรก

ทั้งนี้จากผลการศึกษาในเบื้องต้นสำหรับการลงทุนในระยะที่ 1 ได้มีการเปรียบเทียบการลงทุน 3 รูปแบบ คือ 1.รถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อเหล็ก (แทรมป์) กรอบวงเงินลงทุน 35,201 ล้านบาท 2.รูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (Tire Tram) กรอบวงเงินลงทุน 33,600 ล้านบาท 3.ระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (Autonomous Rail Rapid Transit) หรือ ART กรอบวงเงินลงทุน 17,754 ล้านบาท ซึ่งระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมกับเมืองภูเก็ตมากที่สุด คือ ระบบ ART อย่างไรก็ตามโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่สร้างได้ในปี 68 และเปิดให้บริการในปี 71

……………………………….

รายงานพิเศษ : ไรวินทร์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img