วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVEเปิด“กฎเหล็ก”กระทรวงพาณิชย์ กระทบ“รถดับเพลิง”บริจาคให้ไทย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เปิด“กฎเหล็ก”กระทรวงพาณิชย์ กระทบ“รถดับเพลิง”บริจาคให้ไทย

ผลกระทบจากกฎหมายเกี่ยวกับการนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วจากต่างประเทศ เป็นระเบียบกระทรวงพาณิชย์ฉบับปี 2562 ที่ส่งผลกระทบต่อการรับบริจาครถดับเพลิง ของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด พวกเขาพยายามต่อสู้เรียกร้องให้มีการปรับแก้กฎหมาย เพื่อนำรถดับเพลิงบริจาคมาใช้ประโยชน์ในการบริการสาธารณะ

นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางท้องถิ่นได้รับผลกระทบจากระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการอนุญาตให้นำรถยนต์ที่ใช้แล้ว เข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2562 เพราะทางเทศบาล ไม่สามารถนำเข้ารถดับเพลิง 2 คัน ที่ได้รับการบริจาค จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทยได้

นายบรรจง บอกว่า เดิมการนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วจากต่างประเทศ ได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงพาณิชย์ฉบับปี 2549 ในส่วนของรถดับเพลิง ไม่ได้มีการกำหนดอายุการใช้งานของรถเอาไว้ และในช่วงปี 2561 เทศบาลได้รับการบริจาครถดับเพลิงจากประเทศญี่ปุ่นสภาพดีมา 2 คัน โดยคันแรกรับมอบเดือนมิถุนายน คันที่สอง รับมอบเดือนสิงหาคม (แต่ละคันวิ่ง 5-6 หมื่นกม. วิ่งน้อย แม้อายุการใช้งานจะเกิน 10 ปี)

ต่อมา กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศใหม่ ฉบับปี 2562 มีผลบังคับใช้วันที่ 10 ธันวาคม 2562 ออกมาตรการกำหนดการนำเข้าประเภทรถยนต์ใช้แล้วใหม่ขึ้น มุ่งควบคุมการปล่อยมลพิษในประเทศ (ควบคุมค่าไอเสีย// แก้ปัญหารถยนต์จดประกอบ )

โดยรถพยาบาล ต้องมีอายุการใช้งานไม่เกิน 7 ปีนับตั้งแต่ผลิต

รถดับเพลิง ต้องมีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปีนับตั้งแต่ผลิต

เรื่องนี้ส่งผลกระทบให้ทางเทศบาล ไม่สามารถนำเข้ารถดับเพลิงสภาพดีจากประเทศญี่ปุ่น ที่เตรียมบริจาคให้อีก 2 คัน กำหนดส่งมอบให้ในช่วงปี 2563

กรมการค้าต่างประเทศ ยืนยันหลักเกณฑ์-ไม่ผ่อนปรน

ต่อมาต้นปี 2563 เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด มีหนังสือร้องเรียนถึงกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้ช่วยทบทวนหลักเกณฑ์นำเข้ารถยนต์ใช้แล้ว ประเภทรถพยาบาล รถดับเพลิง เพราะถือเป็นประโยชน์สาธารณะที่ประเทศชาติจะได้รับ แต่กรมการค้าต่างประเทศ ยืนยันตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดิม จากนั้นเทศบาลจึงทำเรื่องถึงหน่วยงานต่างๆ ให้ช่วยเหลือ

นายบรรจง ย้ำว่า เรื่องนี้ทำให้เทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะรถยนต์ใช้แล้วประเภทรถดับเพลิง ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศ มีราคาสูงมาก คันละ 2-60 ล้านบาท

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เลยไม่สามารถจัดซื้อได้ด้วยงบประมาณของหน่วยงาน โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจ จากภาวะโควิด-19 นอกจากนี้ ยังขาดโอกาสร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในต่างประเทศ ที่พร้อมสนับสนุนความช่วยเหลือ บริจาครถ จัดการอบรมให้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีเพียงค่าขนส่งและค่าธรรมเนียมเท่านั้น

ซึ่งในอนาคต อาจมีการบริจาครถประเภทอื่นๆ ที่ไม่ก่อมลพิษ เป็นรถไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นๆ ที่สะอาดมากขึ้น จึงทำให้ภาครัฐขาดโอกาสทีควรจะได้ ส่งผลเสียต่อประเทศชาติและประชาชน

นายบรรจง บอกว่า ที่ผ่านมา ได้ร้องเรียนไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าต่างประเทศ สมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย คณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร

เปิดหนังสือ “วิษณุ” ให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย

ต่อมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565

เนื้อหาระบุว่า ทางคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณาเรื่องร้องเรียนแล้ว เห็นว่าการแก้ไขระเบียบกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการอนุญาตให้นำรถยนต์ใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2562 จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดบริการสาธารณะ ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถจัดหารถดับเพลิงใช้แล้วจากการรับบริจาค ซึ่งเป็นรถดับเพลิงที่มีศักยภาพสูงพร้อมใช้งาน รวมทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

จึงเห็นสมควรให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณามอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศ รับความเห็นของสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ไปพิจารณาปรับปรุงระเบียบแก้ไข ในประเด็นการกำหนดอายุการใช้งานของรถยนต์ใช้แล้ว ที่จะนำเข้ามาในราชอาณาจักร

เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถนำเข้ารถดับเพลิงที่ได้รับบริจาค มาใช้ประโยชน์ในการบริการสาธารณะ ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและที่เกี่ยวข้องต่อไป

นับแต่เทศบาลเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ทำเรื่องร้องเรียนมาตั้งแต่ปี 2563 เพราะรับรถดับเพลิงสภาพดีอีก 2 คันจากญี่ปุ่นไม่ได้ ถึงวันนี้ ยังไม่มีการผ่อนผันหรือปรับแก้กฎหมาย ตามที่หลายหน่วยงานเสนอไปยังกระทรวงพาณิชย์ แม้หนังสือคำแนะนำฉบับล่าสุด จะถูกส่งไปในนามของรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม แล้วก็ตาม

ทีมข่าวตรวจสอบเพิ่มเติม ในมติการประชุม เรื่องการพิจารณา (ร่าง) ระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการอนุญาตให้นำรถยนต์ใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อวันที 10 กุมภาพันธ์ 2565

เอกสารการประชุมนี้ ระบุ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ 10 หน่วยงานหลักๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมศุลกากร กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนผู้แทนจากหน่วยงานภาคเอกชน ประกอบด้วย สถาบันยานยนต์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

กล่าวโดยสรุปในการประชุมครั้งนี้ ทางกรมการค้าต่างประเทศ ได้ประชุมกับ 12 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (10 หน่วยงานรัฐ 2 เอกชน) เพื่อปรับปรุงระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการอนุญาตให้นำรถยนต์ใช้แล้ว เข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2562

นอกเหนือจากข้อกำหนดเดิม ให้ผู้นำเข้าเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การสาธารณกุศลตามที่กระทรวงการคลังกำหนด และนำเข้ามาเพื่อใช้ในภารกิจของหน่วยงานแล้ว

มีการปรับหลักเกณฑ์ ตามที่ท้องถิ่นเสนอมา โดยกรมการค้าต่างประเทศได้ยกร่างดังกล่าว เสนอต่อที่ประชุม และมีมติเห็นชอบปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขนำเข้าดังนี้

รถดับเพลิงใช้แล้ว

ปรับความเดิมของระเบียบกระทรวงพาณิชย์ฯ โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณีดังนี้

1.กรณีมีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี นับแต่ปีที่ผลิต ไม่ต้องแสดงหนังสือรับรองมาตรฐานมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะ (ไอสีย) จากหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานที่รัฐให้การรับรองของประเทศต้นทางที่ใช้รถ

2.กรณีมีอายุการใช้งานมากกว่า 5 ปี นับแต่ปีที่ผลิต ต้องมีหนังสือรับรองมาตรฐานมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะ (ไอเสีย) ซึ่งแสดงค่ามาตรฐานมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะ (ไอเสีย) ของประเทศต้นทางที่ใช้รถ และแสดงคำมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะ (ไอเสีย) ของรถที่ขออนุญาตนำเข้า ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานที่รัฐให้การรับรองของประเทศต้นทางที่ใช้รถ

และต้องผ่านความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ และกรมการค้าต่างประเทศ ว่าค่ามลพิษทางอากาศจากยานพาหนะ (ไอเสีย) ของรถที่ขออนุญาตนำเข้าดังกล่าว ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสำหรับรถใช้งานที่ประเทศไทยใช้บังคับอยู่ ณ เวลาที่ขออนุญาตนำเข้า

รถยนต์ลักษณะพิศษใช้แล้ว และรถพยาบาสใช้แล้ว

เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการนำเข้ารถดับเพลิงใช้แล้ว ซึ่งมีการปรับปรุงถ้อยคำ “มาตรฐานมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะ (ไอเสีย) เพื่อให้เกิดความชัดเจน

ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการนำเข้า โดยตัดถ้อยคำ “หน่วยงานที่ใด้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล” ออก เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นหน่วยงานที่ใด้รับการรับรองตามมาตรูฐานสากลหรือไม่

โดยมติที่ประชุม ระบุด้วยว่า ให้มอบฝ่ายเลขานุการยก (ร่าง) ระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการอนุญาตให้นำรถยนต์ใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ…. และเวียนหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมพิจารณารับรอง ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาลงนามต่อไป

หลังการประชุมเอเปคเสร็จสิ้นลง เราจะมาตามความคืบหน้าเรื่องนี้กันต่อ ว่าหน่วยงานรัฐ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะต้องบอกว่า ค่อนข้างชัดเจนว่าผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เห็นด้วยให้ปรับปรุงการนำเข้ารถดับเพลิงมือสอง สภาพดี มาใช้เพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะ

และที่ประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่กรมการค้าต่างประเทศเชิญมา ได้เห็นชอบยกร่างแก้ไขระเบียบนำเข้ารถยนต์ไปตั้งแต่ต้นปี 2565 แล้ว แต่อาจติดขัดขั้นตอนบางอย่างอยู่นั่นเอง

……….

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img