“กระทรวงคมนาคม” เป็นกระทรวงอันดับต้นๆ ของไทยที่ช่วยให้เกิดการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในแต่ละปี จะมีการผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการ ทั้งทางน้ำ ทางบก ทางราง และทางอากาศ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า การขับเคลื่อนการลงทุนในปี 2566 นั้น จากนโยบายในปี 2565 ทั้งหมด 79 นโยบาย 167 โครงการในส่วนที่ยังไม่แล้วเสร็จจำนวน 106 โครงการ หน่วยงานจะต้องเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จ ซึ่งตนได้มอบนโยบายใหม่ 24 นโยบายที่จะต้องดำเนินการในปี 2566 โดยแบ่งเป็น
ด้านการขนส่งทางถนน จำนวน 4 นโยบาย 15 โครงการ ประกอบด้วย 1) การพัฒนาระบบ M-Flow ทางพิเศษสายฉลองรัช สายบูรพาวิถี สายกาญจนาภิเษก 2) การแก้ไขปัญหาจราจรบนทางด่วน คือ ศึกษาความเหมาะสมทางพิเศษ สายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 3) ต่อเติมโครงข่ายทางพิเศษเชื่อมโยงภูมิภาค อาทิ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงนครปฐม-ปากท่อ PPP มอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา-อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุงและโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และ 4) จัดทำมาตรฐานการควบคุมงานก่อสร้างในพื้นที่เปิด
ด้านการขนส่งทางบก จำนวน 5 นโยบาย 5 โครงการ ประกอบด้วย 1) แผนพัฒนาการบริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งานฐานข้อมูลระบบ GPS 2) แผนเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า คือ การศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทางเพื่อเข้าสถานีรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 3) ต่อยอดการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนส่งสินค้า คือ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนส่งสินค้า 4) โรงเรียนสอนขับรถขนาดใหญ่ โดยเปิดรับคัดเลือกโรงเรียนสอนขับรถขนาดใหญ่ และ 5) ยกระดับด้านทะเบียนอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนาระบบการจดทะเบียนรถ
ด้านการขนส่งทางราง จำนวน 5 นโยบาย 5 โครงการ ประกอบด้วย 1) เร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วม คือ ศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง 2) พัฒนามาตรฐานรถไฟทางคู่ คือ ศึกษารวบรวมข้อมูลและจัดทำร่างมาตรฐานการซ่อมบำรุงของรถไฟสายประธาน 3) พัฒนารถไฟความเร็วสูง คือ ศึกษาความเหมาะสมการเชื่อมโยงรถไฟไทย สปป.ลาว และจีน 4) พัฒนามาตรฐานรถไฟฟ้าในเมือง คือ การศึกษาจัดทำร่างมาตรฐานระบบไฟฟ้า และอาณัติสัญญาณ และ 5) ผลักดันการพัฒนารถไฟฟ้าในเมืองภูมิภาค คือ โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง และส่วนต่อขยายท่าฉัตรไชย
ด้านการขนส่งทางน้ำ จำนวน 6 นโยบาย 9 โครงการ ประกอบด้วย 1) แนวป้องกันการกัดเซาะตลิ่งต้องคงทน เช่น การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในแม่น้ำป่าสัก ระยะที่ 2 และ 3 2) Master Plan ฟื้นฟูชายหาด ต้องครอบคลุม เช่น การเสริมชายหาดจอมเทียน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ระยะที่ 2 สำรวจแหล่งทรายเพื่อเสริมชายหาดชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง 3) ท่าเรือยอร์ชคลับ ต้องสร้างรายได้ เช่น ศึกษา Marina Hub และท่ามารีนาชุมชน 4) แผนการเชื่อมต่อท่าเรือกับสถานีรถไฟฟ้าต้องสมบูรณ์ เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือพระราม 5 พัฒนาท่าเรือพระปิ่นเกล้า พัฒนาท่าเรือปากเกร็ด 5) เพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางน้ำ เช่น ศึกษาพัฒนาประสิทธิภาพการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ และ 6) การพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่หลังท่า คือ การศึกษาทบทวนแผนการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port)
ด้านการขนส่งทางอากาศ จำนวน 4 นโยบาย 24 โครงการ ประกอบด้วย 1) พัฒนาท่าอากาศยาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับ/เพิ่มประสิทธิภาพ เช่น โครงการขยายลานจอดเครื่องบินท่าอากาศยานขอนแก่น โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานตรังและนครศรีธรรมราช โครงการก่อสร้างสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายด้านตะวันออก และทางวิ่งเส้นที่ 3 2) พัฒนาห้วงอากาศ/ระบบการเดินอากาศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับ/เพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ก่อสร้างอาคารหอควบคุมการจราจร และสำนักงานแห่งใหม่ (เชียงใหม่) 3) ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการบิน เช่น โครงการบริหารและการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data & Analytics) 4) เตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวตามนโยบายการเปิดประเทศ เช่น การการแก้ไขปัญหาในการให้บริการผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง
เร่งผลักดันเข้า ครม. อนุมัติส่งท้ายรัฐบาล 9 โครงการ 5 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แผนการขับเคลื่อนการลงทุนในปี 2566 นั้น นายศักดิ์สยาม ระบุว่า มีหลายโครงการที่ต้องการเร่งผลักดันเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนจะมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรใหม่ หลังจากครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ซึ่งจากการพิจารณาในเบื้องต้นจากภาพรวมโครงการที่มีความพร้อมผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.2566 ซึ่งอยู่ในช่วงของการทำงานภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ประเมินว่า จะมีประมาณ 9 โครงการ วงเงินรวมกว่า 5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย
1.รถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท
2.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 10,670 ล้านบาท
3.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร วงเงิน 4,694 ล้านบาท
4.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงิน 6,468 ล้านบาท
5.โครงการระบบรถไฟ ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร วงเงิน 47,000 ล้านบาท
6.รถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 29,748 ล้านบาท
7.รถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร วงเงิน 6.28 หมื่นล้านบาท
8.รถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 3.75 หมื่นล้านบาท
9.ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) บางปะอิน-นครราชสีมา จำนวน 16 ตอน วงเงินราว 6.7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการเปิดประมูลก่อสร้างหลังจากที่ก่อนหน้านี้มีความจำเป็นต้องปรับแบบก่อสร้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
………………………………
รายงานพิเศษ : ไรวินทร์