ประเทศไทยมีจิตแพทย์ประมาณ 800 คน และเมื่อดูสัดส่วนพบว่าจิตแพทย์ 1 คน ดูแลประชากรเกิน 1 แสนคน จึงไม่แปลกที่จะเกิดวลี “ลงทะเบียนชาตินี้ ได้ตรวจชาติหน้า”
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงแนวทางการผลิตจิตแพทย์เพิ่มเติมว่า ขณะนี้เราต้องยอมรับว่าสถานการณ์ก่อนว่า เรามีจิตแพทย์น้อยมากเปรียบเทียบประชากร โดยทั้งประเทศมีจิตแพทย์ 800 คน เมื่อเทียบสัดส่วนจิตแพทย์ 1 คน ดูแลประชากรเกิน 1 แสนคน และในจำนวนนี้จิตแพทย์ส่วนหนึ่งปฏิบัติงานในภาคเอกชน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งไม่ได้ทำหน้าที่จิตแพทย์แล้ว
พญ.อัมพร กล่าวว่า ดังนั้นเหลืออยู่ในภาครัฐที่ช่วยกันแบกจริงๆ ในอัตราที่น่าเป็นห่วงมาก บางจังหวัดไม่มีเลย โดยเฉพาะจิตแพท์เด็กน้อยมาก อย่างเด็กถูกบูลลี่ 1 คน กว่าจะได้พบจิตแพทย์ต้องรอนานถึง 6 เดือน จนมีคำล้อเลียนว่า “ลงทะเบียนชาตินี้ ได้ตรวจชาติหน้า” ทั้งๆ ที่ปัญหาตอนนี้คูณสิบ คูณร้อย
“องค์การอนามัยโลกมีคำแนะนำสัดส่วนที่เหมาะสม แต่เราคงไม่มีทางไปถึง จึงมองว่าทำอย่างไรจึงจะมีมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ต่อให้เรามีจิตแพทย์เพิ่มขึ้นอีก 5 เท่า จากปัจจุบันที่ผลิตได้ปีละ 50 คน เราก็ยังต้องผลิตเช่นนี้อีกกว่า 10 ปี ถึงจะเพียงพอในการดูแลประชาชน’’อธิบดีกรมสุขภาพจิต”
พญ.อัมพร ยังกล่าวถึงสาเหตุที่มีจิตแพทย์น้อยว่า ในการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ยังไม่สมดุลเท่าไหร่ แพทย์ฝ่ายกายมีคนสนใจและ สามารถผลิตได้มาก แต่ในด้านจิตใจภาพรวมการผลิตเป็นแบบต้วมเตี้ยมๆ มาโดยตลอด ความสนใจเข้ามาฝึก มาเรียนรู้ไม่มาก และระบบการผลิต การอุดหนุน การผลักดันเชิงนโยบายยังมีไม่เพียงพอ เลยกลายเป็นปัญหาที่ถูกสะสมมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านสุขภาพจิตมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มอีกหลายเท่า ในขณะที่การเพิ่มจิตแพทย์ต้องใช้เวลา แต่ระบบการดูแลสุขภาพจิตอื่นๆ ไม่ได้สร้างความราบรื่นของการดูแลนัก เช่น การดูแลเชิงรุกในชุมชน การดูแลเชิงรุกต่อเนื่อง ยังมีข้อจำกัดในสังคม สวัสดิการ อย่างการให้ค่าตอบแทน 1323 ซึ่งเป็นงานเชิงลึก ที่ใช้เวลานาน แต่สปสช.ก็ยังจ่ายเหมือนคนโทรมา “ฮัลโหล ยาตัวนี้กินก่อนหรือหลังอาหาร” เทียบกับการโทรมาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาการฆ่าตัวตายได้ค่าตอบแทนเท่ากัน ดังนั้นปัญหาจิตเวช ณ เวลานี้ จึงเป็นไปในรูปแบบที่ยิ่งทำ ยิ่งเข้าเนื้อ ทำให้หน่วยงานมีข้อจำกัดเรื่องงบฯ โอกาสการพัฒนามีจำกัด ทางเลือกในการใช้ยาก็น้อย โดยสรุปก็เป็นไปในทิศทาง “หมอมีน้อย ทำงานก็ยาก แถมจนอีกต่างหาก”
พญ.อัมพร เปิดเผยว่า ล่าสุด ครม.วันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติงบ 686 ล้านบาทสำหรับโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบด้านการดูแลสุขภาพจิต ระยะเวลา 5 ปี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2570 แล้ว โดยปีแรกได้ประมาณร้อยกว่าล้านบาท ซึ่งได้หารือร่วมกับปลัดสธ.แล้วว่าอาจจะมีการเสนอครม.ของบกลางเพิ่มอีกประมาณร้อยล้านบาท
สำหรับแผนการผลิตจะเป็นแบบรวมสหวิชาชีพรวม 590 คนต่อปี ได้แก่ 1.จิตแพทย์ 30 คนต่อปี 2.พยาบาลเฉพาะทางสุขภาพจิต 300 คนต่อปี 3.พยาบาลเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและจิตเวช (ป.โท) 20 คนต่อปี 4.นักจิตวิทยาคลินิก 80 คนต่อปี 5.นักสังคมสงเคราะห์เฉพาะทางจิตเวช 80 คนต่อปี 6.นักกิจกรรมบำบัดเฉพาะทาง 50 คนต่อปี และ7.เภสัชกรจิตเวช 30 คนต่อปี