ย้อนปฏิบัติการ ในการเจรจาต่อรองกับ พ.ต.ท.กิตติกานต์ แสงบุญ หรือ สารวัตรกานต์ ที่เกิดคลุ้มคลั่ง ใช้อาวุธปืนยิงข่มขู่ในบ้านพัก ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 14 มีนาคม เหตุการณ์ยุติ ช่วงเที่ยงเศษๆ วันที่ 15 มี.ค. โดยใช้เวลาทั้งสิ้นเกือบ 28 ชั่วโมง
เรามาไล่เรียงยุทธวิธีของเจ้าหน้าที่ ในการยุติสถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น
1.อพยพผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่
เจ้าหน้าที่ได้ปิดล้อมกั้นพื้นที่เกิดเหตุ ตั้งแต่ช่วงเริ่มเกิดเหตุการณ์ กันประชาชนที่บ้านเรือนใกล้เคียงออกไปนอกพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ได้รับอันตราย
2.ยึดหลักเจรจาต่อรอง
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่ใช้ความรุนแรง ในการเกลี้ยกล่อม ควบคุมตัวสารวัตรกานต์ เพราะถือว่าเขาเป็นผู้ป่วย จะใช้การต่อรองให้มากที่สุด
3.นำคนใกล้ชิดมาพูดคุย
ชุดสืบสวนกองบังคับการสืบสวนสอบสวนนครบาล ได้ใช้ชุดเจรจาต่อรอง นำคนใกล้ชิด ทั้งแม่ อดีตภรรยา ลูกชาย เพื่อนร่วมงาน ของสารวัตรกานต์ เข้ามาเกลี้ยกล่อมให้สารวัตรกานต์ ยอมวางอาวุธออกมาจากบ้านพัก แต่ในจังหวะนั้น ไม่เป็นผล แม้กระทั่ง ท่านผบ.ตร.เอง ได้อาศัยความใกล้ชิดในแง่เป็นคนทางภาคเหนือด้วยกัน มาร่วมเจรจาด้วย
4.ปิดล้อมกดดัน ใช้อาวุธเบาไปหาหนัก
ต้องบอกว่าตลอด 28 ชั่วโมงในการปิดล้อมเจรจาต่อรองครั้งนี้ ตำรวจเองได้ใช้ความระมัดระวังอย่างมาก ในการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับชาวบ้านข้างเคียง
ตลอดจนหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ทั้งหน่วยอรินทรราช หน่วยคอมมานโด ได้ใช้ยุทธวิธีที่ใช้ตอบโต้กับสารวัตรกานต์ โดยไม่มีอาวุธที่ร้ายเเรงถึงชีวิต ไล่มาตั้งแต่กระสุนยาง แก๊สน้ำตา และระเบิดเสียง หรือสตันท์ บอมบ์
แต่สุดท้าย เมื่อการเจรจาถึงที่สุดไม่เป็นผล และเจ้าหน้าที่ได้รับความเห็นเพิ่มเติมแพทย์ที่มาร่วมสังเกตการณ์ ตำรวจเลยตัดสินใจใช้ยุทธวิธีเด็ดขาด คือใช้อาวุธจริง ในการควบคุมตัวสารวัตรกานต์
“ดร.กฤษณพงค์” ชี้ตร.เครียดสูงกว่าอาชีพอื่น 2 เท่า
รศ.ดร.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยกับทีมข่าวว่า การใช้ยุทธวิธีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการระงับเหตุครั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า มีการเรียนรู้ในการเข้าระงับเหตุ มาจากหลายๆ คดีที่เกิดขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น เหตุกราดยิงที่โคราช เหตุตำรวจคลั่งที่หนองบัวลำภู รวมถึงเหตุชายคลุ้มคลั่งสติไม่ดี ที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิต ทำให้ตำรวจได้บทเรียน เพิ่มความระมัดระวังในการเจรจา ต่อรอง จับกุม เป็นการใช้ยุทธวิธีเท่าที่สถานการณ์จะเอื้ออำนวย
เมื่อถามว่า มีแนวโน้มที่เหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้อีกหรือไม่ อาจารย์กฤษณพงค์ ระบุว่า จากการศึกษาวิจัยจากทั่วโลก พบว่า อาชีพตำรวจมีความเครียดมากกว่าอาชีพอื่น ๆ ถึง 2 เท่า เหตุผลเพราะตำรวจต้องรับฟังปัญหาแก้ปัญหาของประชาชนตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นคดีต่อชีวิต ประสงค์ต่อทรัพย์
แนะสวัสดิการตร. ควรมีตรวจสุขภาพจิตประจำปี
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องปัญหาส่วนตัวอีก เช่นปัญหาเรื่องงาน เรื่องหนี้สินต่างๆ จึงอาจทำให้ตำรวจมีภาวะความเครียดสะสมมากเกินไป โดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ตำรวจไม่ได้รับการปรึกษาที่ดี ไม่มีทางออก และจากการศึกษาพบว่า จิตแพทย์ในประเทศไทยเอง ก็มีไม่เพียงพอกับสัดส่วนประชากร
อาจารย์กฤษณพงค์ ได้เสนอ ทางแก้ไขด้วยการมีมาตรการเชิงเฝ้าระวัง โดยผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ต้องช่วยกันสอดส่องดูแล หากพบว่ามีเพื่อนร่วมงานเครียดมากเกินไป ก็ต้องส่งตัวไปรักษาหาทางแก้ไข รัฐบาล เช่นกระทรวงสาธารณสุข ควรมีสวัสดิการ ให้ตำรวจได้รับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ฟรี เป็นต้น
ชี้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ส่งผลตร.เครียดสะสม
ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง คือสายงานบังคับบัญชาของตำรวจในประเทศไทย มีลักษณะการบังคับบัญชา ไม่ต่างจากทหาร จึงมีศัพท์ที่เรียกว่า “โพลิซ ฟอร์ซ” ที่มีการรับคำสั่งปฏิบัติอย่างเข้มข้นจากผู้บังคับบัญชา ส่งผลให้การทำงานของตำรวจ ยิ่งห่างไกลจากประชาชน
แต่จากการไปศึกษาดูงานจากต่างประเทศ พบว่าหลายๆ ประเทศในยุโรป จะใช้เป็นระบบ “โพลิซ เซอร์วิส” คือ ตำรวจจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับประชาชน ชุมชน และสังคม ทำให้ไม่มีความเครียด ในการทำงาน
ชวนพรรคการเมืองออกนโยบาย แก้ปัญหา ตร.
อ.กฤษณพงศ์ สรุปทิ้งท้ายว่า ในมาตรการระยะสั้นเร่งด่วน นอกเหนือจากผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ช่วยกันสอดส่องดูแลตำรวจด้วยกันแล้ว ควรมีจิตแพทย์เข้ามาให้คำปรึกษา อาจกำหนดการตรวจสุขภาพจิตเจ้าหน้าที่ ตามหลักวิชาการ
หรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นนี้ อาจารย์กฤษณพงค์ ได้เรียกร้องให้พรรคการเมืองต่างๆ ออกนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง แก้ไขปัญหาความเครียดและปัญหาทางจิต ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะเป็นหน่วยงานสำคัญ ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชน
………………………………………………
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม