“กระดาษชำระ” สิ่งสำคัญที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เพื่อกำจัดคราบสกปรกต่างๆ ล่าสุดการตรวจสอบกระดาษชำระจากทั่วโลก และพบว่า ส่วนมากปนเปื้อนสารกลุ่ม PFAS ที่อาจจะปนเปื้อนเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ MTEC อธิบายว่า สารตระกูล PFAS (per- and polyfluoroalkyl substances) หรือสารเคมีชั่วนิรันดร์ (forever chemicals) คือ ตระกูลของสารเคมีที่มีจำนวนมากกว่า 4,000 ชนิดที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น สารตระกูลนี้มีสมบัติลดแรงตึงผิว ลดแรงเสียดทาน กันน้ำ น้ำมัน และสิ่งสกปรกต่างๆ จึงมีการใช้งานอย่างกว้างขวางในหลายอุตสาหกรรม เช่น สี บรรจุภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ผลิตภัณฑ์กันเปื้อน อุตสาหกรรมชุบโลหะ น้ำมันหล่อลื่น สารเคลือบเครื่องครัวเพื่อกันติด สารฆ่าแมลง สิ่งทอ และโฟมดับเพลิงชนิดโฟมสร้างฟิล์มน้ำ หรือ AFFF (aqueous film-forming foam) เป็นต้น
เนื่องจาก สารตระกูล PFAS มีเสถียรภาพทางความร้อนและทางเคมีสูงทำให้สลายตัวในสิ่งแวดล้อมได้ยากเกิดการตกค้างยาวนาน สะสมในสิ่งมีชีวิต และเป็นอันตราย การที่มนุษย์ใช้ สารตระกูล PFAS อย่างกว้างขวาง เป็นเหตุให้มีการตรวจพบสารตระกูลนี้ปนเปื้อนอยู่ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำต่างๆ ดิน อากาศ ผงฝุ่น และสิ่งมีชีวิต มนุษย์และสัตว์รับสารนี้เข้าสู่ร่างกายจากการบริโภคอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน การหายใจอากาศที่ปนเปื้อน และการสัมผัสสารที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม เมื่อสารเข้าสู่ร่างกายก็จะยึดกับโปรตีนในเลือดและตับ ส่งผลต่อการทำงานของตับ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบสืบพันธุ์ ระบบหลอดเลือดหัวใจ การเจริญเติบโตของทารก และเป็นสารก่อมะเร็ง เช่น สาร PFOA (perfluorooctanoic acid) ถูกจัดในกลุ่ม 2B (อาจจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์) เป็นต้น
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาความเป็นไปได้ที่ สารตระกูล PFAS ที่อยู่ในแหล่งที่ไม่คาดคิดอย่างกระดาษชำระจะปนเปื้อนสู่ระบบน้ำเสีย เนื่องจากผู้ผลิตกระดาษชำระบางรายใช้สารตระกูล PFAS เป็นสารลดแรงตึงผิวสำหรับช่วยให้เปียก (wetting agent additive) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษ อีกทั้งในกรณีที่กระดาษชำระผลิตจากเส้นใยกระดาษรีไซเคิล ก็มักมี สารตระกูล PFAS ปนเปื้อนอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงเก็บตัวอย่างกระดาษชำระที่มีจำหน่ายในอเมริกาเหนือ, อเมริกาใต้และกลาง, แอฟริกา และยุโรปตะวันตก รวมถึงกากตะกอนน้ำเสียจากโรงบำบัดน้ำเสียจำนวน 8 แห่งในฟลอริดามาสกัด สารตระกูล PFAS และตรวจวัด ซึ่งผลการศึกษานี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Science & Technology Letters
จากการตรวจวัดตัวอย่างกระดาษชำระพบ สารตระกูล PFAS ได้แก่ PFHxA (perfluorohexanoic acid), PFOA (perfluorooctanoic acid), PFDA (perfluorodecanoic acid), 6:2 diPAP (6:2 fluorotelomer phosphate diester), 6:2/8:2 diPAP (6:2/8:2 fluorotelomer phosphate diester) และ 8:2 diPAP (8:2 fluorotelomer phosphate diester) แต่สารที่มีปริมาณสูงที่สุดคือ diPAPs คิดเป็น91% ของค่าเฉลี่ยมวลรวมของ PFAS แต่ก็อยู่ในระดับหนึ่งส่วนในพันล้านส่วน หรือ ppb
ส่วนการตรวจวัดกากตะกอนน้ำเสียทั้ง 8 แห่งสารที่พบมากคือ diPAPs โดยผลรวมของ diPAPs 3 ชนิด (6:2, 6:2/8:2, และ 8:2 diPAP) คิดเป็น 54% ของค่าเฉลี่ยมวลรวมของ PFAS โดยกระดาษชำระมีส่วนเพิ่มสาร diPAP ในกากตะกอนน้ำเสียของประเทศต่างๆ ดังนี้ ในสหรัฐและแคนาดาประมาณ 4% สวีเดน 35% และฝรั่งเศส 89% ซึ่งสารชนิดนี้สามารถเปลี่ยนไปเป็น สารตระกูล PFAS ชนิดอื่นที่มีความเสถียรอย่าง PFOA ได้
ในสหรัฐอเมริกาจากข้อมูลพบว่าชาวอเมริกันใช้กระดาษชำระเฉลี่ยคนละ 26 กิโลกรัม/ปี ซึ่งสหรัฐอเมริกามีประชากร 332 ล้านคน ดังนั้นจะประมาณได้ว่าน่าจะมีกระดาษชำระที่ใช้แล้วสูงถึง 8,300 กิโลกรัม/ปีที่ถูกกดทิ้งลงชักโครก ซึ่งการใช้กระดาษชำระโดยรวมมีส่วนที่ทำให้สาร diPAP ปนเปื้อนในน้ำเสียราว 80 ไมโครกรัม/คน-ปี ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์จึงออกมาเตือนให้ตระหนักว่า “กระดาษชำระน่าจะเป็นแหล่งที่มาที่สำคัญของสาร PFAS ที่สามารถปนเปื้อนเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย”
…………………………
ข้อมูล : ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ