ภายหลังเกิดเหตุไม่คาดฝันกับ “คุณเอ๋-ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม” ทายาท “วัฒนา อัศวเหม” เจ้าพ่อเมืองปากน้ำ หลังจาก “ชนม์สวัสดิ์” ไปซ้อมแข่งขันรถที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา
คนใกล้ชิดอย่าง “อนุทิน ชาญวีรกูล” ให้ข้อมูลว่า “หลังจากคุณเอ๋ ซ้อมแข่งขันรถเสร็จในช่วงบ่ายๆ พอลงมาจากรถเกิดอาการอ่อนเพลีย เจ้าหน้าที่ได้รับนำส่งโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ในสภาพที่คนไข้หมดสติ แพทย์ประเมินว่า เกิดจากภาวะลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ต้องนำเข้าห้องไอ.ซี.ยู รักษาแบบประคับประคองอาการ”
กระทั่ง “คุณเอ๋” จากไปอย่างสงบในเวลา 01.15 น.วันที่ 31 มี.ค.66
หลังเกิดเหตุการณ์เศร้าสลด กับครอบครัว “อัศวเหม” ขึ้น ประเด็นเรื่อง “ลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก” กลับมาเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมไทยอีกครั้ง เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว ส่งผลกับสุขภาพของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะในช่วงเดือนเม.ย.นี้ ที่อุณภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นอีก
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าในช่วงเดือนเม.ย.66 จะร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 40-43 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลางจะอยู่ในระดับ อุณหภูมิราวๆ 40 องศาเซลเซียส
รู้จักอุปกรณ์เซฟตี้ “นักแข่งรถ” หนา-ร้อน แลกความปลอดภัย
ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่เป็นข้อสงสัย ว่าอาจเป็นปัจจัยให้เกิดอาการฮีทสโตกด้วยหรือไม่นั้น คือ ชุดเซฟตี้ ของนักแข่งขันรถยนต์ ประเภทมอเตอร์สปอร์ต
โดยชุดดังกล่าว เริ่มจาก โม่งคลุมศีรษะ, เสื้อแขนยาว, กางเกงขายาว และ ถุงเท้า เป็น 4 ชิ้นสำคัญที่อยู่ติดกับ “ผิวหนังนักแข่ง” ที่จะช่วยรับความร้อนหรือเปลวไฟ ก่อนจะลามถึงผิวหนังของนักแข่ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ เช่น มีการรั่วไหลของน้ำมัน มีความร้อนจนทำให้เกิดประกายไฟลุกไหม้ หรือแม้แต่อุบัติเหตุ
สำหรับนักแข่งขันในระดับอาชีพ จะใช้เสื้อแขนยาวแบบคูลสูท ที่เป็นเสื้อยืดด้านใน มีท่อน้ำทั้งตัว ใช้น้ำวนเข้าออกเสร้างความเย็น เหมือนกับระบบหล่อเย็น ให้กับร่างกายไม่ร้อนเกินไป
นอกจากนี้ ยังต้องมี ชุดคลุมทนไฟภายนอก อีก 1 ชั้น เนื่องจากกีฬามอเตอร์สปอร์ต เป็นกีฬาที่อยู่กับเครื่องยนต์ใช้ความเร็วสูงเมื่อเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝัน อาจมีเรื่องของการระเบิด การลุกไหม้ของเครื่องยนต์ น้ำมัน
สำหรับชุดแข่งที่ได้รับมาตรฐานจาก FIA จะต้องผลิตจากผ้ากันไฟที่มีความหนา 3 ชั้น เนื้อบางและเบาเพื่อการระบายอากาศ สามารถลดความร้อนและการสูญเสียเหงื่อสำหรับนักแข่งทำให้ขับได้นานขึ้นและไม่อ่อนเพลีย
สำหรับชุดแข่งมีอายุการใช้งานไม่เกิน 2 ปี เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของนักแข่ง สนนราคามีตั้งแต่ราคา 5 หมื่นบาท ไปจนถึงหลายแสนบาท
นอกจากนี้ ยังมีหมวกกันน็อก ถุงมือ ถุงเท้า รองเท้า อีก ที่นักแข่งรถ ต้องสวมใส่ตามมาตรฐานความปลอดภัย
รถแข่งขันไม่ติดเครื่องปรับอากาศเพื่อลดน้ำหนัก
แน่นอนว่าการใส่ชุดป้องกันสูงสุดเช่นนี้ ย่อมเกิดความร้อนขึ้นในร่างกายนักแข่ง และรถแข่งขันส่วนใหญ่แล้ว จะไม่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เพื่อลดน้ำหนักของรถแข่งให้มากที่สุด
ในขณะเดียวกัน มีรายงานว่า การซ้อมแข่งขันในสนามเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา มีสภาพอากาศที่ร้อนจัดด้วย นี่จึงอาจเป็นหนึ่งสาเหตุ ที่อาจทำให้เกิดภาวะฮีทสโตรก ที่อาจเกิดขึ้นกับนักกีฬาประเภทนี้ได้
กรมอนามัยห่วงภาวะ “ฮีทสโตรก” หน้าร้อน
ด้าน “นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ภาวะฮีทสโตรก เกิดจากการที่ร่างกายอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อุณหภูมิสูง และได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของสมองในส่วนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ทำให้มีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง
รวมทั้ง ผู้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่ออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงงานอย่างหนักท่ามกลางอากาศร้อนเป็นเวลานาน เช่น คนงานก่อสร้าง ทหารเกณฑ์ เกษตรกร นักวิ่งมาราธอน
ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มน้ำในปริมาณน้อย ติดสุราทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูง กลุ่มสูงอายุ กลุ่มเด็กเล็ก
คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้ที่ต้องใช้ยารักษาโรคบางชนิดเป็นยาที่กระตุ้นการขับปัสสาวะ ที่ขัดขวางกลไกการกำจัดความร้อนออกจากร่างกาย
ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งหรือออกกำลังกายท่ามกลางสภาพอากาศร้อนต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรจิบน้ำบ่อยๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ ซึ่งจะสามารถป้องกันภาวะขาดน้ำได้ และที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
รู้จัก 4 อาการสำคัญ เสี่ยงภาวะ “ฮีทสโตรก”
ประชาชนต้องหมั่นสังเกตอาการตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคฮีทสโตรก เนื่องจากโรคดังกล่าวเป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลทันทีอาจเสียชีวิตได้ โดย 4 อาการสำคัญของโรคนี้ ได้แก่
1) เหงื่อไม่ออก
2) สับสน มึนงง
3) ผิวหนังเป็นสีแดง และแห้ง
4) ตัวร้อนจัด “
แนะวิธีปฐมพยาบาล ผู้ป่วย “ฮีทสโตรก”
สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้พาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่ม หรือห้องที่มีความเย็น ให้นอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น
รีบใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวหรือวางถุงน้ำแข็งที่คอ รักแร้ และขาหนีบ หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันโคนสิ้นอุดทางเดินหายใจ และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วด้วยรถปรับอากาศหรือเปิดหน้าต่างรถ เพื่อให้อากาศถ่ายเท
………………
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม