อาจนับเป็นอีก 1 คดีสะเทือนขวัญ หลังจากคดีหญิงสาวฆาตกรต่อเนื่องรายแรกของประเทศไทย เป็นอดีตผู้ช่วยพยาบาล ลวงแต่งงาน แล้วใช้ “ไซยาไนด์” วางยาเหยื่อ 2 ราย ปลอมเอกสารเพื่อเอาเงินประกัน 40 ล้านบาท ช่วง 20 ปีก่อน
เหมือนภาพคดีวนมาฉายซ้ำ เมื่อหญิงสาวชื่อ “แอม” อายุ 36 ปี ต้องหาคดีวางยาฆ่าผู้อื่น ถูกตำรวจกองปราบปราม จับกุมเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา หลังถูก มารดาของ “น.ส.ก้อย” ท้าวแชร์ แจ้งความจับเธอ ในความผิดฐาน วางยาฆาตกรรมลูกสาว
เรื่องราวสะเทือนขวัญ เหมือนกับภาพยนตร์ฝรั่งครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 เม.ย. “แอม” ได้ชวน “ก้อย” ไปทำบุญ โดยให้ “ก้อย” ขับรถจากกาญจนบุรี มาพบที่หมู่บ้านของเธอในจังหวัดนครปฐม จากนั้น “แอม” ขับรถพาเหยื่อมาที่ศาลาประชาคม ริมแม่น้ำแม่กลอง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
แต่ระหว่างทาง “ผู้ต้องหา” ได้แอบใช้สารพิษไซยาไนด์ ใส่ในอาหารหรือเครื่องดื่มให้ผู้ตายรับประทาน โดยมีเจตนาฆ่า และพอมาถึงสถานที่ปล่อยปลาทำบุญ “ก้อย” เกิดหน้ามืดเป็นลม แต่ “แอม” กลับไม่สนใจใยดี
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ มีกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุสามารถบันทึกภาพไว้ โดยภายในมือของ “ผู้ต้องหา” ได้เอา “โทรศัพท์มือถือ” ของ “ผู้ตาย” มาด้วยหลายเครื่อง แล้วขับรถยนต์ออกจากที่เกิดเหตุไป ปล่อยให้ “ผู้ตาย” นอนหมดสติอยู่ในที่เกิดเหตุ โดย “ผู้ต้องหา” ไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆ จน “ผู้ตาย” ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา
หลังเกิดเหตุเมื่อวันที่ 16 เม.ย. “ผู้ต้องหา” ได้นำถุงดำ ซึ่งภายในมีกระปุกใส่ “โพแทสเซียมไซยาไนด์” สารพิษ พร้อมกับสิ่งของอื่นๆ กรอบป้ายทะเบียน บัตรเอทีเอ็ม และเอกสารการเสียชีวิตของ นายสุทธิศักดิ์ หรือ แด้ พูนขวัญ แฟนของผู้ต้องหาที่เสียชีวิต เมื่อวันที่ 12 มี.ค.66 ในท้องที่ อ.เมือง จ.อุดรธานี นำถุงดำไปฝากไว้กับผู้อื่น เพื่อให้เอาไปซุกซ่อน
แต่เหมือน “เวรกรรมมีจริง” ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตรวจยึดไซยาไนด์ และสิ่งของอื่นๆ ได้ในเวลาต่อมา เป็นหลักฐานสำคัญลำดับต้นๆ ของการคลี่คลายปริศนาคดีนี้
จากการตรวจพิสูจน์สารคัดหลั่งจากศพของ “ก้อย” โดยกลุ่มงานพิษวิทยา สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ พบสารไซยาไนด์ในเลือด ปริมาณที่เป็นสาเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้ เชื่อว่าผู้ต้องหาเป็นผู้นำสารพิษไซยาไนด์ ใส่ในอาหารให้ผู้ตาย
ทางพนักงานสอบสวนจึงรวบรวมพยานหลักฐานของอำนาจศาลอาญาอนุมัติหมายจับ “น.ส.สรารัตน์” หรือ “แอม” ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4)
โดยพนักงานสอบสวน ขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากผู้ต้องหามีอดีตสามีเป็นข้าราชการตำรวจ เกรงว่าจะไปข่มขู่พยาน และยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ทั้งหลังเกิดเหตุผู้ต้องหาไปรื้อค้นบ้านพักของนายฐิติพงศ์ ตนายะพันธ์ เพื่อค้นหาพยานหลักฐานสำคัญไปทำลาย
ประกอบกับมีบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องและใกล้ชิดกับผู้ต้องหาเสียชีวิตในลักษณะเดียวกันกับพฤติการณ์ในคดีนี้อีกจำนวน 9 ราย (และอาจมีเพิ่มอีก) แต่ละคดีมีอัตราโทษสูง หากผู้ต้องหาได้รับการประกันตัว อาจจะหลบหนี ยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดีในภายหลัง และอาจไปยุ่งเหยิงทำลายพยานหลักฐานในคดีนี้และคดีอื่น โดยศาลรับคำร้องดังกล่าว
บทบาท “นักนิติพิษวิทยา” กับคดีวางยาพิษฆาตกรรม
และจากคำร้องฝากขังคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ ด้วยสารพิษ “ไซยาไนด์” คดีนี้จะได้เห็นบทบาทของ “นักนิติพิษวิทยา” ในการตรวจสารพิษจากร่างการเหยื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง มีละเอียดเรื่องนี้เพิ่มเติม จาก วารสาร “เวชบันทึกศิริราช” ได้ลงบทความเรื่อง พิษวิทยากับการชันสูตรพลิกศพ เอาไว้
บทบาทของ “นักนิติพิษวิทยา” ในฐานะที่เป็นประจักษ์พยานผู้หนึ่งในการค้นหาความจริง เพื่อประโยชน์ทางด้านกระบวนการยุติธรรม ก็คือ การเป็นผู้ที่สามารถระบุได้ว่ามีการตรวจพบสารพิษต่างๆ ในตัวอย่างที่ส่งมาให้ตรวจหรือไม่
สำหรับความรับผิดชอบหลักของนักนิติพิษวิทยา ก็คือ การเก็บรักษาพยานหลักฐาน ทั้งจากภายนอกและภายในตัวบุคคล การจัดทำรายงานที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และที่สำคัญ คือการเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในการเบิกความชั้นศาล
เมื่อผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สามารถระบุได้ว่าตรวจพบยา หรือสารพิษต่าง ๆ หรือไม่แล้ว นักนิติพิษวิทยาจะพิจารณาและให้ความเห็นว่า ยาหรือสารพิษที่ตรวจพบนั้น มีปริมาณมากพอที่จะเป็นสาเหตุหรือปัจจัยส่งเสริมการตายหรือไม่
ตลอดจนวิธีการที่ร่างกายได้รับ โดยอาจได้รับเข้าสู่ร่างกายทางปาก ทางการหายใจ ทางการฉีดเข้าหลอดเลือด หรือทางผิวหนัง และยังขึ้นอยู่กับอัตราเร็วของการได้รับสารเหล่านั้นด้วย การแปลผลจึงค่อนข้างยากและซับซ้อนอยู่บ้าง ซึ่งต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ทางด้านพิษวิทยาอย่างมากด้วยนั่นเอง
…………….
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม