วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVEย้อนเจตนารมณ์ “ปมถือหุ้นสื่อ” รัฐธรรมนูญ 60
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ย้อนเจตนารมณ์ “ปมถือหุ้นสื่อ” รัฐธรรมนูญ 60

สำหรับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 98 กำหนดไว้ว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคล ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

โดยประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในสังคม คือ มาตรา 98 วงเล็บ 3 เกี่ยวกับกรณี ถือหุ้นสื่อของ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล

เมื่อลองดูความมุ่งหมาย และคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ระบุไว้ว่า การกำหนดลักษณะต้องห้ามของบุคคลเพื่อมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

เนื่องจากบุคคลที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ในฐานะที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยจึงต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้น เพื่อเป็นหลักประกันว่าบุคคลนั้น จะปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต มีความประพฤติและคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของสาธารณชน

สำหรับลักษณะต้องห้าม มีการบัญญัติเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2492 มาตรา 93 กำหนดไว้กว้างๆ อาทิ (ห้าม) ผู้ติดยาเสพติดให้โทษ ผู้พิการตาบอดทั้งสองข้าง บุคคลล้มละลาย เป็นต้น หลังจากนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา ได้ปรับปรุงแก้ไขลักษณะต้องห้ามบางประการ ให้เหมาะสมและเป็นไปตามสภาพสังคมในยุคนั้นๆ เรื่อยมา

สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ปรับปรุงบัญญัติลักษณะต้องห้ามหลายประการใหม่ เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น บางกรณีเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 8 และมีการเพิ่มคุณสมบัติตามวงเล็บ 3 เข้ามา เกี่ยวกับข้อห้ามการถือหุ้นสื่อ

คำอธิบายย้ำว่า มาตรา 98 นี้ เป็นการบัญญัติเพิ่มขึ้นใหม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้บริหารบ้านเมืองที่มีคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามาบริหารบ้านเมือง ป้องกันมิให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. อาศัยความได้เปรียบจากการเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อประโยชน์ในทางการเมือง

เปิดฎีกา คดีผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง “ถือหุ้นสื่อ”

ทีมข่าวตรวจสอบคำพิพากษา ที่เกี่ยวโยงกับกรณีถือหุ้นสื่อที่เกี่ยวข้อง มาเทียบเคียงกับกรณีคุณพิธา ถือหุ้นไอทีวี ที่กำลังเป็นที่จับตาในขณะนี้ เพื่อให้เห็นแนวทางวินิจฉัย (โดยศาลรัฐธรรมนูญ) ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

คำสั่งศาลฎีกาที่ 1143/2562

ผู้ร้องเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ โดยผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้น แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ร้องไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจการของหนังสือพิมพ์ก็ตาม เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 98 (3) บัญญัติข้อห้าม เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ

หาได้บัญญัติว่าผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนในลักษณะใดบ้างหรือไม่

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

คำสั่งศาลฎีกาที่ 1322/2562

ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยจดทะเบียนปี 2557 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงเป็นสถานีวิทยุชุมชน

เมื่อยังไม่จดทะเบียนเลิกกิจการและผู้ร้องยังเป็นผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนผู้จัดการอยู่ ผู้ร้องย่อมขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม

คำสั่งศาลฎีกาที่ 1356/2562

ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือจำหน่ายและออกหนังสือพิมพ์ ดังนี้ ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

คำสั่งศาลฎีกาที่ 1706/2562

ผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลต้องห้าม

ส่วนการที่ผู้ร้องอ้างว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด มีวัตถุประสงค์ดังกล่าว แต่ไม่ได้ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ จึงฟังไม่ขึ้น

ย้อนคดี “ชาญชัย” คนละแนวพิพากษา หุ้นสื่อ “พิธา”

ขณะเดียวกัน มีกรณีศึกษากรณี นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ยื่นคําร้องว่า ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ของจังหวัดนครนายก สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ กกต.ไม่ประกาศรายชื่อ เพราะมองว่าเขาถือหุ้นสื่ออยู่ 200 หุ้น (หุ้นเอไอเอส) จากนั้นเขาได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา (ต่างจากพิธา ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย)

ต่อมาศาลนครนายก อ่านคำสั่งฎีกา ชี้ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และ พรป.เลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 42 (3) เป็นบทบัญญัติจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด และไม่เป็นการเพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ เพราะการถือหุ้นในกิจการสื่อของประชาชนทั่วไป เป็นสิทธิในทรัพย์สินที่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ

โดยขณะที่ผู้สมัครยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งนั้น ผู้สมัครยังไม่ได้มีสถานะเป็น ส.ส. และไม่แน่ว่า จะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ โดยผู้ร้อง ซื้อหุ้นสื่อเพียง 200 หุ้น เป็นเงินประมาณ 39,000 บาทเท่านั้น ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

ดังนั้น ผู้ร้องย่อมไม่มีอํานาจสั่งการให้ บริษัทฯ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องและพรรคการเมืองของผู้ร้อง หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองอื่นได้ เพราะผู้ร้องไม่มีจำนวนหุ้นมากพอ

การตีความบทบัญญัติของกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร ให้ผู้ร้องมีลักษณะต้องห้าม ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ศาลจึงมีคําสั่งให้ผู้คัดค้านประกาศรายชื่อ ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ประเด็นขาดคุณสมบัติของนายพิธา ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย จะถูกวินิจฉัยโดยองค์คณะผู้พิพากษาจากศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ซึ่งแนวทางวินิจฉัย ที่มีบรรทัดฐานอยู่ก่อนหน้าแล้ว ทั้งคดีคุณธนาธร หรือ อดีต ส.ส.ที่เคยถือหุ้นสื่อ ต่างถูกตีความตามตัวบทกฎหมายที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจน

ถึงตรงนี้ ปมที่นายพิธา ถือหุ้นสื่อไอทีวี จึงเป็นเกมวัดใจ ที่จะเกิดความวุ่นวายขึ้นมาในประเทศชาติอีกหรือไม่

……………..

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img