เมื่อช่วงต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ทำการประชุมครั้งที่ 17/2566 และมีการสอบถามถึงกรณี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณี การถือหุ้นกิจการสื่อมวลชน ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกฯ ว่าถึงขั้นตอนใด และใช้ระยะเวลาเท่าใด
ทาง “พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา” กรรมาธิการ ในฐานะรองประธาน คณะอนุกรรมาธิการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คนที่ 3 กล่าวว่า คณะกรรมการกำรเลือกตั้งได้เชิญผู้ร้องเรียนมาให้ถ้อยคำเพื่อประกอบการพิจารณาแล้ว
โดยระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 ข้อ 41 และ 57 กำหนดเรื่องการสืบสวนและไต่สวนไว้ดังนี้
1.การสืบสวน
ให้คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ดำเนินการสืบสวนและสรุปสำนวนให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องไว้ดำเนินการ (ยกตัวอย่างเป็นวันศุกร์ที่ 9 มิ.ย.)
หากไม่แล้วเสร็จ ให้รายงานพร้อมเหตุผล ความจำเป็น ต่อเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี เพื่อขออนุมัติขยายระยะเวลา ทำการสืบสวนออกไปอีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 15 วัน โดยต้องแจ้งก่อนสิ้นสุดระยะเวลาสืบสวน ไม่น้อยกว่า 3 วัน
ซึ่งหากตามระเบียบนี้ ถ้า กกต.มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ จะอยู่ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน หรือกลางเดือนกรกฎาคม และปลายเดือนกรกฎาคม ตามการขยายระยะเวลา 3 ช่วง
2.การไต่สวน
ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิในการชี้แจง แก้ข้อกล่าวหาตามระยะเวลาที่กำหนด โดยผู้ถูกกล่าวหา อาจแก้ข้อกล่าวหาด้วยวาจาหรือโดยทำเป็นหนังสือก็ได้
ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหา ร้องขอขยายระยะเวลาขี้แจงแสดงพยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหา โดยอ้างเหตุผลและความจำเป็น หากคณะกรรมการฯพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรม ไม่เป็นการประวิงเวลา จะขยายระยะเวลาการชี้แจง แก้ข้อกล่าวหาออกไปตามที่เห็นสมควรก็ได้
กกต.รับรองเลือกตั้ง อำนาจ “ศาลรธน.” วินิจฉัยชี้ขาด
ทั้งนี้ คาดว่า วันที่ 15 มิ.ย. (วันนี้) คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะสามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้งได้ ซึ่งหากประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว
การวินิจฉัย เรื่องการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะต้องส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้น สิ้นสุดลงหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 82
ขณะที่บันทึกการประชุม คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ครั้งที่ 10/2566 เมื่อปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีคณะทํางานรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง และจัดทําความเห็นทางกฎหมาย ได้รายงานกรณีถือหุ้นสื่อของคุณพิธาเช่นกัน
รายงานระบุว่า กรณีคุณพิธาถูกร้องเรียนว่า อาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 42 (3) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561
เปิดฉากทัศน์ “พิธา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ช่วงโหวตนายกฯ
คณะทำงาน ระบุว่ามีข้อพิจารณาที่น่าสนใจ คือ
1.หากมีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว นายพิธาจะมีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สมาชิกวุฒิสภา จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาแห่งที่ตนเป็นสมาชิก ว่าสมาชิกภาพของนายพิธาสิ้นสุดลง
2.หรืออาจเป็นกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งสืบสวนหรือไต่สวน เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน ปรากฎหลักฐานอันควรเชื่อว่าได้กระทำผิด คณะกรรมการการเลือกตั้ง ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
และศาลอาจมีคำสั่งให้ นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยได้ ซึ่งอาจอยู่ในห้วงเวลาที่รัฐสภาจะต้องพิจารณา ให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
อีกประการหนึ่งหากศาลมีคำวินิจฉัยว่านายพิธา กระทำผิด ก็จะส่งผลให้ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย
ชี้ “โอนหุ้น-ขายหุ้น” ไม่ส่งผลเรื่องวินิจฉัยคุณสมบัติ “พิธา”
อนึ่ง ในกรณีที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วมีการขายหุ้น ก็ไม่มีผลให้มีคุณสมบัติของบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เนื่องจากต้องถือเอาคุณสมบัติ ในวันที่พรรคการเมืองเสนอรายชื่อ อย่างไรก็ตาม ยังสามารถเป็นรัฐมนตรีได้
ดังนั้น การที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จะได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบที่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ด้วย ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป
บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการกิจการองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา
………..
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม