เราไปติดตามรายงานบันทึกการประชุมที่น่าสนใจของ คณะกรรมาธิการ กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ที่มี “กล้านรงค์ จันทร์ทิก” เป็นประธานกรรมาธิการ
นอกจากนี้ ยังมี “พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา” อดีตเลขาธิการ กกต. ที่เป็น 1 ใน 13 สว. ที่ยกมือโหวตให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกฯ ร่วมเป็นกรรมาธิการด้วย
สำหรับการประชุมดังกล่าว จัดขึ้นในวันที่ 6 ก.ค. ก่อนวันประชุมรัฐสภา 13 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ซึ่งมีการเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ก่อนหน้าวันโหวตเลือกนายกฯ หนึ่งวัน คือวันที่ 12 ก.ค. ทาง กกต.ได้เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่า ตามที่สำนักงาน กกต. ได้เสนอรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในวันที่ 11 ก.ค. กรณีมีหลักฐานปรากฏว่า นายพิธาเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ในวันสมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
ต่อมา วันที่ 12 ก.ค. กกต.พิจารณาเรื่องดังกล่าว เห็นว่า สมาชิกภาพของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเหตุสิ้นสุดลง จึงให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจาณา วินิจฉัยต่อไป
หากย้อนไปดูบันทึกในเอกสารการประชุมของคณะกรรมาธิการ กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ได้ประเด็นอภิปรายของคณะกรรมาธิการ เรื่องการไต่สวนเกี่ยวกับการถือหุ้นกิจการสื่อมวลชนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านหนึ่ง
พบว่า การกระทำดังกล่าว ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 151 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2560
การกระทำดังกล่าว ถือว่ามีลักษณะองค์ประกอบเดียวกัน กับกรณีการขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วย
ดังนั้น เมื่อมีการประกาศให้ผู้ใด ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หากปรากฎว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้น ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม
คณะกรรมการการเลือกตั้ง สามารถดำเนินการเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้น พ้นจากตำแหน่งได้ ทั้งนี้ ตามความ 82 วรรคท้าย ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ที่กำหนดว่าในกรณีที่คณะกรรมการรเลือกตั้ง เห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้
ยกแนวคดี “ยุบพรรค” ไม่ต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง
สำหรับกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง มิได้แจ้งข้อกล่าวหาและมิได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหา ได้มีโอกาสชี้แจงและแสดงพยานหลักฐานนั้น พิจารณาเห็นว่า สามารถทำได้
เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยและได้ส่งแนวบรรทัดฐานในคดียุบพรรคการเมืองพรรคหนึ่งไว้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องเรียกมาชี้แจงก็ได้
เพราะศาลรัฐธรรมนูญต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหา มาชี้แจงตามระบบการพิจารณาแบบไต่สวนอยู่แล้ว ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมผูกพันทุกองค์กร
ดังนั้น กรณีที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ถูกฟ้องเป็นคดีต่อศาล ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนก็สามารถอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพื่อขอให้ศาลยกฟ้องได้ด้วยนั่นเอง
บันทึกการประชุมดังกล่าว อาจสะท้อนให้เห็นถึงขวากหนาม ที่ขัดขวาง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่อาจเป็นได้เพียง “แคนดิเดต” เท่านั้น เพราะไม่สามารถฝ่าด่านอรหันต์จากวุฒิสภา ได้นั่นเอง
อ่านรายละเอียด : รายงานบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการ กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา
………………
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม