ย้อนไปปี 2557 มีรายงานประเด็นคำถามอื่นใด ที่สมควรเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการออกเสียงประชามติเพิ่มเติม ตามมาตรา 39/1 วรรคเจ็ด ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 / จัดทำโดยคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษาเสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
รายงานดังกล่าว ใจความโดยสรุปคือ ภายหลังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว กกต.ต้องดำเนินจัดให้มีการออกเสียงประชามติ โดยสนช.จะมีมติเสนอประเด็นอื่นใด หรือ “คำถามพ่วง” ไม่เกิน 1 ประเด็น ให้ กกต.ดำเนินการภายในคราวเดียวกัน
จากนี้ เราจะไล่เรียง “เหตุผล” ของคำถามพ่วง เรื่องให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปี / ทาง สว.แต่ละคน แต่ละคณะ มีเหตุผลในเรื่องนี้อย่างไร และ เป็นเหตุผลเดียวกับที่บรรดาสมาชิกวุฒิสภา ใช้ปฏิเสธการออกเสียงสนับสนุนให้กับคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่
1.คณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ
เหตุผล – วุฒิสภามีหน้าที่ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศให้บรรลุเป้าหมายทั้ง 16 หมวด ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
-ครม.มีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อรัฐสภา ในการแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศเพื่อทราบทุก 3 เดือน
-สมควรให้วุฒิสภา มีส่วนในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อขับเคลื่่อนการปฏิรูปประเทศให้บรรลุผล
2.คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข
เหตุผล – เนื่องจากในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านห้าปีแรกเป็นช่วงที่สำคัญ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สามารถดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ
เหตุผล – เนื่องจากในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรกเป็นช่วงที่สำคัญ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สามารถดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน
เหตุผล – ต้องการให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง เพื่อทำหน้าที่ให้กับประเทศชาติในช่วงเริ่มต้น
5.คณะกรรมาธิการการคมนาคม
เหตุผล – เพื่อให้ประชาชนแสดงความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานในโอกาสต่อไปของรัฐสภา
6.คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น
เหตุผล – ด้วยการปฏิรูปประเทศและการสร้างความปรองดองระหว่างชนในชาติยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังคงมีความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่าย
-เพื่อให้มีหลักประกับความมั่นคงของประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐสภาจะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน
7.คณะกรรมาธิการการพลังงาน
เหตุผล – เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางในประเด็นสำคัญของประเทศ
8.นายศรีศักดิ์ ว่องส่งสาร
9.พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา
10.พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ
11.นายตวง อันทะไชย
12.พลตำรวจเอกพิชิต ควรเตชะคุปต์
ทั้งหมด ให้เหตุผลเช่นเดียวกับคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ
13.นายสมชาย แสวงการ
เหตุผล – เพื่อเป็นหลักประกันในการเปลี่ยนผ่านประเทศ
14.พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร
เหตุผล – เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ให้สำเร็จ บรรลุผลตามเจตนารมณ์ที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
15.สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
เหตุผล – เพื่อเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาของประเทศ และให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ด้วยความสงบเรียบร้อย เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติส่วนรวม
จะเห็นได้อย่างชัดเจน ว่าเหตุผลคำถามพ่วงที่ให้ ส.ว.มาเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ส่วนใหญ่อดีตสมาชิก สนช. และ สปท. ที่บางส่วน คสช.คัดเลือกเป็น สว. ในปัจจุบัน ให้เหตุผลไปในทิศทางเดียวกันว่า เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีให้บรรลุผล
แต่ปรากฎว่า เหตุผลในปัจจุบัน ที่สมาชิกวุฒิสภาปฏิเสธโหวตรับรองคุณพิธา กลับกลายเป็นเรื่องคุณสมบัติ เรื่องถือหุ้นสื่อ ที่อาจขัดรัฐธรรมนูญ หรือความพยายามผลักดันการแก้กฎหมาย รวมทั้งแนวคิดเชิงก้าวหน้าต่างๆ ของพรรคก้าวไกล แทน
ดังนั้น จึงต้องมองย้อนกลับไปว่า บรรดาสมาชิกวุฒิสภาเหล่านี้ ที่บางคนเคยเป็น สนช. และ สปท. อาจลืมรากเหง้าของคำถามพ่วง ที่เคยให้เหตุผลเอาไว้ในรายงานฉบับนี้ด้วยหรือไม่
……….
รายงานพิเศษ: ฟ้าคำราม