สำหรับปัญหาทางเข้า-ออกของ โครงการคอนโดฯหรูระดับ 6.48 พันล้านบาท “แอชตัน อโศก” ของ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัด ที่ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง เมื่อย้อนที่มา-ที่ไป จะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นดังนี้
1.ก่อนหน้านี้ รฟม. ได้เวนคืนที่ดินจากเอกชน 2 แปลง เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สถานีสุขุมวิท
2.การเวนคืนดังกล่าว ทำให้ที่ดินเอกชนไม่มีทางออกสู่ถนนอโศกมนตรี
3.ต่อมามีการฟ้องร้อง และศาลฎีกา พิพากษาให้ รฟม.เปิดทางเข้าให้เอกชน เท่ากับความกว้างเดิม คือ 6.4 เมตร
4.เอกชนเจ้าของโครงการคอนโด ได้ซื้อที่ดินจากบุคคลและเอกชนเจ้าเดิม รวมเนื้อที่กว่า 1 พันตารางวา
5.ข้อบัญญัติ กทม. กำหนดทางเข้า-ออก ต้องมีทางเข้า-ออกจากอาคารสู่ถนนสาธารณะ ไม่น้อยกว่า 12 เมตร
6.เจ้าของโครงการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.
7.ขอย้ายตำแหน่งทางเข้า-ออก จากเดิม 6.4 เมตร จากเดิมที่ลานจอดรถสถานีสุขุมวิท ด้านติดปล่องระบายอากาศ
8.ย้ายไปอยู่บริเวณด้านติดสยามสมาคม และขอขยายความกว้างเพิ่ม 6.60 เมตร รวมเป็นความกว้าง 13 เมตร
9.เจ้าของโครงการ จะจ่ายค่าตอบแทน รฟม. รวม 97.6 ล้านบาทเศษ โดยการก่อสร้างอาคารจอดรถ 9 ชั้น
“ป.ป.ช.-สตง.” สอบปมให้สิทธิ์เอกชนใช้ที่ทำประโยชน์
ต่อมา ทาง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ดำเนินการตรวจสอบ และสั่งการ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดิน เป็นทางเข้า-ออก ว่า….ทำได้หรือไม่
โดยขอให้ รฟม. หารือกับ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ชัดเจน
ต่อมาในช่วงปลายปี 2562 (4 ปีต่อมา) ทาง รฟม.ได้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือใน 3 ประเด็น คือ
1.กรณีที่ รฟม. ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ถูกเวนคืนจนสมประโยชน์ หากอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดิน เป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ โดยรับค่าตอบแทนเป็นอาคารจอดรถยนต์พร้อมพื้นที่ใช้สอย จะสามารถกระทำได้หรือไม่
2.การอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออกดังกล่าว ถือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ของ รฟม. และอยู่ในขอบเขตวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินหรือไม่ อย่างไร
3.การอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออก ถือเป็นการให้สิทธิใดๆ ตามนัยของ พรบ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 หรือไม่
“กฤษฎีกา” ชี้ชัด รฟม.ไม่มีสิทธิ์ให้เอกชนใช้ประโยชน์ที่ดิน
ท้ายที่สุดแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ได้ให้ความเห็นว่า การอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้าออกอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่ ถือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในอันที่จะใช้ประโยชน์บนพื้นที่ดังกล่าว ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน
ส่วนผลประโยชน์ที่ รฟม. ได้รับก็เป็นเพียงการตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าว ซึ่งมิใช่วัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้ง รฟม. หรือวัตถุประสงค์ในการเวนคืนแต่อย่างใด
ข้อที่ว่า รฟม. ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินที่ถูกเวนคืนนั้นจนสมประโยชน์แล้ว การจะอ้างเช่นนั้นได้ ต้องปรากฏว่าได้ใช้ตามวัตถุประสงค์จนหมดความจำเป็นไม่ต้องใช้เพื่อการนั้นอีก เช่น เลิกเดินรถไฟฟ้าสายดังกล่าว หรือหมดความจำเป็นที่จำต้องมีทางเข้า-ออกเพื่อโดยสารรถไฟฟ้า
ดังนั้น การนำที่ดินที่ได้จากการเวนคืนไปให้บริษัทเอกชนใช้เป็นทางเข้า-ออกเพื่อประโยชน์แก่กิจการของบริษัทนั้น เป็นไปเพื่อที่จะให้เอกชน สามารถก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษและประกอบธุรกิจอาคารชุดดังกล่าวได้
จึงไม่ใช่เป็นการนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน และไม่ใช่กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการของ รฟม.
เมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นที่หนึ่งแล้วว่า การอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย อยู่นอกเหนือวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน และไม่สามารถกระทำได้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นๆ
สำหรับโครงการ “แอชตัน อโศก” มูลค่า 6.48 พันล้านบาท เป็นคอนโดมิเนียมสูง 51 ชั้น มีห้องพัก 783 ยูนิต
รายละเอียด : บันทึกคณะกรรมการกฤษฎีกา
…………
รายงานพิเศษ: ฟ้าคำราม