หนึ่งในนโยบายหลักที่ พรรคเพื่อไทย ได้รับโอกาสจัดตั้งรัฐบาลคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยยกประเด็นหลักคือ “ปิดสวิตช์ 250 สว.”
แต่ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีบทเฉพาะกาล ที่ให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คน มีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในช่วง 5 ปีแรก และ บทเฉพาะกาลดังกล่าวจะหมดอายุในช่วงราวๆ เดือนพฤษภาคม 2567 หรือราวๆ 9 เดือนข้างหน้า
ดังนั้น จะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญข้อนี้ สว.จะไม่มีส่วนเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป
เมื่อลองพิจารณารัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 256 บัญญัติไว้ว่า ภายใต้บังคับมาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทำได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
1.ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม
-มาจาก ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 —> ส.ส. 100 คน —> เพื่อไทยทำได้เลย
2.เสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา —> พิจารณาเป็น 3 วาระ
3.วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ
—> ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย —> ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบ 2 สภา (750 เสียง) ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง –> 376 เสียง
—> ใน 376 เสียง ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบ —> ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภา –> 84 เสียง
4.วาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา
—> ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ
5.เมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณาวาระที่ 2 —>ให้รอไว้ 15 วัน —> ให้รัฐสภา พิจารณาในวาระที่ 3
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงกรณี การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ในวาระที่ 3 ที่รัฐธรรมนูญกำหนดต้องใช้เสียงโหวตจากฝ่ายค้าน 20%
ผู้สื่อข่าวเลยไปถามว่า ในเมื่อขณะนี้ยังไม่มีรัฐบาลและฝ่ายค้าน จึงยังไม่สามารถแก้ในวาระที่ 3 ได้ใช่หรือไม่ อ.วิษณุ ระบุว่า ก็ต้องรอ แต่สามารถพิจารณาในวาระที่ 1 วาระที่ 2 ไปก่อนแล้วค้างไว้ได้ ซึ่งในวาระที่ 2 กำหนดว่าให้ทิ้งไว้ 15 วัน ก็สามารถทิ้งไว้นานกว่านั้นก็ได้
6.วาระที่ 3 การลงคะแนน
—> ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย
—> ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของ 2 สภา —>376 เสียง (ไม่รู้ว่าถึงวันนั้น 10 เดือนข้างหน้า จะมี สว.อยู่อีกหรือไม่)
เปิดรายละเอียด 376 เสียงแก้ รธน.มาตรา 272
—> ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว. —> 84 เสียง
—> ส.ส.อีก 292 คน ต้องมี ส.ส.จากพรรคที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ประธานสภาและรองประธาน
—> “ทุกพรรคการเมือง” ต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20
—> ดังนั้นต้องมีเสียงจากพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรค อย่างน้อย 37 เสียง
7.เมื่อมีการลงมติเห็นชอบตามข้อ 6 ให้รอไว้ 15 วัน
—> นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ
—> ให้นำความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
—> เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับเป็นกฎหมาย
ปิดประตูแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด่านหินไม่ผ่าน สว.
จะเห็นได้ว่า ความเป็นไปได้ตามแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปิดสวิตช์ สว. หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 ค่อนข้างยากมาก เพราะนอกเหนือจากต้องการเสียง สว.ถึง 84 เสียง (อาจเป็นไปได้ในการสรรหา สว.ชุดใหม่)
และเมื่อย้อนไปดูการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ปิดสวิตช์ สว.ทั้ง 6 ครั้ง มีเพียงร่างแก้ไขครั้งแรกของพรรคร่วมฝ่ายค้านในปี 2563 ที่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว.สูงถึง 56 เสียง แต่ก็ยังไม่เพียงพอตามหลักเกณฑ์ 84 เสียง
นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดการลงคะแนนวาระ 3 ที่กำหนดให้ต้องมีเสียงเห็นชอบจากทุกพรรคการเมือง นั่นก็หมายถึงพรรคฝ่ายค้านด้วย ที่ต้องสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยอีก 37 เสียง ซึ่งจุดนี้อาจไม่มีปัญหา หากพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ที่แสวงหาจุดร่วม คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่พรรคเพื่อไทยประกาศไว้ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ แค่ 1-2 ปี
……………………………..
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม