จากการตรวจสอบเพิ่มเติมกับ “ฝ่ายปกครอง” อำเภอเมืองนครปฐม ได้รับข้อมูลว่า อาวุธปืนที่ “หน่อง ท่าผา” ใช้ยิง “สารวัตรศิว” นั้น เป็น ปืนโครงการสวัสดิการของตำรวจ โดยเจ้าของและผู้ครอบครองปืน คือ ร.ต.ท.นิมิตร สลิดกุล ซึ่งทำหน้าที่เป็น “พลขับ” ให้กับ “ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม”
เพิ่งจะดำเนินการขอ “ใบ ป.3” หรือ ใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนและเครื่องกระสุน โดยส่งหลักฐานมาว่า เป็นโครงการสวัสดิการของตำรวจ ทางฝ่ายปกครองจึงออกให้ไป โดยมีการทำเรื่องเมื่อเดือนก.ค.66 ที่ผ่านมานี้เอง
ส่วนกรณีที่อาวุธปืนกระบอกนี้ไปอยู่ในมือของ “หน่อง ท่าผา” ถือว่าเป็นความผิดปกติ และผิดระเบียบอย่างแน่นอน เนื่องจากปืนสวัสดิการไม่สามารถโอนได้ภาใน 5 ปี เข้าใจว่าเมื่อตำรวจได้ปืนสวัสดิการมาแล้ว ก็ไปขายต่อทันที โดยเซ็นสลักหลังกันเอง แต่ไม่ได้โอนชื่อ ฉะนั้นตำรวจที่มีชื่อเป็นเจ้าของอื่น ย่อมมีความผิด เพราะเอกสารทางราชการที่มีอยู่ในขณะนี้ ยังเป็นเพียง “ใบ ป.3” ยังไม่มี “ใบ ป.4” หรือเอกสารอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเลยด้วยซ้ำ
เปิดหลักเกณฑ์ “โอนปืนสวัสดิการ”
สำหรับหลักเกณฑ์การซื้อ ครอบครอง และโอนปืนสวัสดิการของตำรวจนั้น แต่เดิมในอดีต ปืนโครงการสวัสดิการราคาจะถูกว่าท้องตลาดประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ โดยกรมปกครองจะสลักหลังเอาไว้ ห้ามโอนภายในระยะเวลา 5 ปี
แค่ปืนโครงการใหญ่ๆ เปิดจองคราวละมากๆ ในยุค คสช. โดยเป็นยุคของ ผบ.ตร. 2 คน คือ “พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” และ “พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา” ปรากฏว่า ราคาปืนลดต่ำลงมา เหลือเพียง 30 เปอร์เซ็นต์จากราคาท้องตลาด เพราะคณะรัฐมนตรีอนุมัติยกเว้นภาษีนำเข้าเป็นกรณีพิเศษ ทำให้ตำรวจจองซื้อขายเก็งกำไรกันมาก หวังนำไปขายต่อหลังครบเวลา 5 ปี
กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เล็งเห็นปัญหา จึงแก้ไขด้วยการสลักหลัง “ห้ามโอน ยกเว้นเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท” ทำให้ยอดการจองซื้อลดลงกว่าครึ่ง แต่หลังจากนั้นมีการวิ่งเต้นให้มหาดไทยลดเงื่อนไข ให้โอนขายได้เมื่อครบระยะเวลา 5 ปี
………..
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม