หลังสภาผู้บริโภครับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ถึงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบ อาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย และอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพ และก่อให้เกิด ความไม่ปลอดภัยหากเกิดเพลิงไหม้
ที่สภาผู้บริโภค นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เชิญเจ้าหน้าที่ดับเพลิง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยกรุงเทพมหานคร มาให้ข้อมูลเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ระงับเหตุอัคคีภัยในอาคารใหญ่ ซอยแคบ ทั้งในเรื่องของวิธีการปฏิบัติงาน ปัญหา อุปสรรค และการแก้ไข เพื่อเป็นข้อมูลและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานตลอดจนการดูแลประชาชนผู้บริโภค โดยก่อนหน้านี้ได้ยื่นเรื่องพร้อมข้อเสนอต่อ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2566 เพื่อขอให้พิจารณาหาทางออกที่ถูกต้อง
จากข้อมูลที่ได้จากเจ้าหน้าที่ดับเพลิง พบว่า ปัญหาการดับเพลิงในแต่ละสถานการณ์มีความต่างกัน เช่น บางแห่งไม่มีหัวจ่ายดับเพลิง ทำให้ต้องหาแหล่งน้ำใกล้เคียง หรือต้องรอรถบรรทุกน้ำตามมา อีกทั้งการก่อสร้างต่อเติมอาคาร หรือบ้านพักอาศัยในชุมชนที่มักเป็นเพิงยื่นออกมาบริเวณถนน รวมไปถึงการที่ประชาชนนำรถยนต์ส่วนตัวมาจอดบริเวณริมทางในซอย จึงอุปสรรคในการเข้าออกของรถดับเพลิงและเกิดความเสียหายในระหว่างนำรถดับเพลิงเข้าพื้นที่ อีกทั้งซอยที่มีลักษณะเป็นซอยแคบและมีสิ่งกีดขวางทั้งเสาไฟฟ้า ตู้ชุมสาย ต่างล้วนแล้วแต่อุปสรรคในการเข้าระงับเหตุ ซึ่งได้ข้อมูลว่า รถดับเพลิงเป็นรถขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมาก จำเป็นต้องสัญจรบน “ผิวจราจร” เท่านั้น เพราะหากมีเหตุจำเป็นที่รถดับเพลิงจะต้องขึ้นไปใช้ทางเท้า อาจสร้างความเสียหายทั้งกับทางเท้าและรถดับเพลิง จนไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที
เจ้าหน้าที่ดับเพลิงให้ข้อมูลด้วยว่า ในอาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรืออาคารสูงที่กำหนดพื้นที่รอบอาคารไม่น้อยกว่า 6 เมตรเป็นสิ่งที่ทำให้การปฏิบัติงานสะดวก แต่ในอาคารขนาดใหญ่ซึ่งไม่ได้มีข้อกำหนดว่าต้องมีพื้นที่รอบอาคารการเข้าดับเพลิงสามารถทำได้เพียงยิงน้ำจากบริเวณหน้าอาคารได้เท่านั้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายมากกว่า
กรณีเกิดเพลิงไหม้บริเวณที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ และถึงแม้ว่าปัญหาและอุปสรรคที่ประสบในระหว่างปฏิบัติงานจะแก้ไขได้ แต่ปัญหาและอุปสรรคต่างๆเหล่านั้น อาจส่งผลกระทบตามมาทั้งความเสียหาย หรือความสูญเสียได้ในท้ายที่สุด
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ยังบอกว่า จากประสบการณ์ การดับเพลิงอาคารสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มักพบว่ามีการแจ้งเหตุไปยังหมายเลข 191 มากกว่าจะแจ้ง 199 ซึ่งเป็นหมายเลขของดับเพลิงโดยตรง ทำให้ต้องใช้เวลา ตรวจสอบเหตุ และทำให้เข้าดับเพลิงที่เกิดขึ้นช้า นอกจากนี้ยังต้องการให้แต่ละชุมชน แต่ละซอย ต้องทำความเข้าใจกับคนในชุมชนไม่ให้จอดรถกีดขวางทาง หรือทำผิดกฎหมายควบคุมจราจร โดยเฉพาะต้องจัดทำแผนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน จะอพยพหรือจัดการจราจรอย่างไร ไม่ให้ทุกอย่างหยุดชะงักเป็นปัญหาทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำงานได้และประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชน และผู้อยู่อาศัยทราบแผน อีกทั้งควรร่วมกันซ้อมแผนอพยพหนีไฟกับนิติบุคคล หรือ ในชุมชนกันเองด้วยสม่ำเสมอ
ซึ่งสภาพบ้านเมืองไทยเหมือนกับประเทศญี่ปุ่นที่สังคมเมืองจะมีซอยเล็ก ๆ ซึ่งไม่สามารถใช้รถดับเพลิงขนาดใหญ่ นอกจากอาคารใหญ่พิเศษ ที่จะมีรถกระเช้าเข้าช่วยเหลือ ซึ่งเป็นมาตรฐานคล้ายกัน และนักดับเพลิงยังเชื่อว่า ในอนาคต อุปสรรคที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเชื่อว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน คือ อาคารขนาดใหญ่ตั้งในซอยแคบมากขึ้น ชุมชนเมืองที่เริ่มบีบตัว รวมถึงจุดที่ตั้งสถานีชาร์ตไฟรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี ที่ตั้งอยู่ภายในอาคารขนาดใหญ่อาจมีปัญหาเมื่อเกิดเพลิงไหม้แล้วจะดับยาก
ดังนั้น การสร้างอาคารใหญ่ในพื้นที่ชุมชนที่เป็นซอยแคบจะไม่เป็น อุปสรรคและปัญหา ของการเข้าไปดับเพลิง หากถนนสู่อาคารใหญ่ มีพื้นผิวจราจรความกว้างตั้งแต่ 6 เมตรขึ้นไป
โดยสิ่งที่ต้องทำคือสร้างความเข้าใจกับประชาชนอย่างถูกต้อง ถึงข้อปฏิบัติเมื่อเผชิญกับเหตุเพลิงไหม้ ควรปฎิบัติดังนี้
1.ประชาชนต้องแจ้งเบอร์ตรง 199
2. ต้องช่วยชะลอเพลิงเบื้องต้น เช่นการปิดประตูหน้าต่างเพื่อลดก๊าซออกซิเจน และเพื่อชะลอการเผาไหม้
3. รอให้เจ้าพนักงานดับเพลิงเข้าปฏิบัติหน้าที่ และควรทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด