วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVE‘ชีวิตและความหวัง’แรงงานไทยในอิสราเอล
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘ชีวิตและความหวัง’แรงงานไทยในอิสราเอล

เกิน 10 วันแล้ว…สำหรับ ไฟสงครามที่ลุกโชนในภูมิภาคตะวันออกกลาง ระหว่าง ประเทศอิสราเอล และ กลุ่มฮามาส ในพื้นที่ ฉนวนกาซ่า ปาเลสไตน์ ทำให้ พี่น้องแรงงานชาวไทย ต้องเสียชีวิตทะลุ 29 ราย บางส่วนถูกจับเป็นตัวประกัน

“แย่ง สารคาม” หนึ่งในแรงงานไทย ที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในอิสราเอล ได้โพสต์เรื่องราวการใช้ชีวิตของตวเองและเพื่อนๆ ในแต่ละวัน ที่ยังคงต้องออกไปทำงานเก็บพืชผลจากการเกษตร ภายใต้สถานการณ์สงคราม

บางคลิป ขณะที่กำลังทำงาน ก็มีสัญญาณเตือนภัยดังขึ้น ทำให้คนงานต้องรีบไปรวมกันที่หลุมหลบภัย เพื่อเตรียมพร้อมเข้าที่ปลอดภัย เพราะเคยมีเหตุการณ์ที่จรวดยิงลงมาตกใกล้กับจุดที่ทำงาน

โดยเขาได้ถ่ายคลิปให้เห็นถึงบรรยากาศภายในหลุมหลบภัย ซึ่งจะบันไดเดินทางไปชั้นใต้ดิน มีประตูเหล็กหนา 3 ชั้น และภายในหลุมหลบภัยจะมีห้องที่สามารถจุคนได้จำนวนหนึ่ง และห้องน้ำด้านใน และมีบันไดที่สามารถหนีออกไปได้อีกทาง

ในขณะที่แรงงานไทยหลายคน ทยอยเดินทางกลับจากประเทศอิสราเอล แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังคงทำงานอยู่ที่นั่น และมีการถ่ายคลิปวิดีโอบอกเล่าเรื่องราวการใช้ชีวิตของตนเอง ที่ต้องอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงอันตรายจากสถานการณ์สงครามที่เกิดขึ้น

เช่นเดียวกับคลิปวิดีโอที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ที่ใช้ชื่อว่า “สาวโม กะเทยเฒ่าสู้ชีวิต” โพสต์ลงเฟซบุ๊กถึงนาทีชีวิต หลังเสียงสัญญาณเตือนภัยดัง แต่ตัวเขาวิ่งไปที่หลุมหลบภัยไม่ทัน ทำให้ต้องหาที่กำบังหลบอยู่ด้านนอกแทน ระหว่างที่กำลังหลบภัยอยู่นั้น ก็มีเสียงระเบิดดังเป็นระยะ

นอกจากนี้ยังมีคลิปที่ถ่ายให้เห็นถึงเศษเหล็กจากจรวดที่ถูกยิงสกัด ตกลงมาไม่ไกลจากจุดที่เขาอยู่ ซึ่งเขาก็ได้โพสต์เตือนเพื่อนแรงงานว่าหลังเกิดระเบิดแล้ว อย่าเพิ่งรีบออกมา ให้รอจนแน่ใจว่าปลอดภัยก่อน

โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้ บอกว่า เขาทำงานอยู่ที่เมืองเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ซึ่งสาเหตุที่ตัดสินใจว่ายังไม่เดินทางกลับบ้าน เพราะเป็นห่วงนายจ้างว่าจะไม่มีคนทำงาน เนื่องจากนายจ้างที่เขาอยู่ด้วยเป็นคนดี และคอยช่วยเหลือเขามาตลอด

อีกทั้งตัวเขาเองก็ยังมีหนี้สิน หากกลับไปก็เกรงว่าจะไม่มีเงินที่จะใช้หนี้ โดยคนไทยที่ยังอยู่ที่นี่ ก็จะคอยช่วยเหลือและส่งข่าวแจ้งเตือนกันตลอด

แรงงานไทยเหล่านี้ ไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะประเทศไทย ไม่ได้ให้ค่าตอบแทนแรงงานภาคเกษตรกร สูงเท่าประเทศอิสราเอล ที่ทำงานได้เดือนละ 50,000-60,000 บาท

แรงงานไทยหลายๆ คน ต้องยอมไปกู้หนี้ยืมสิน ตั้งแต่ 100,000-200,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย เดินทางไปขายแรงงานที่อิสราเอล ในสัญญา 5 ปี เพราะหากได้ไปทำงานจริง ส่วนใหญ่ก็ปลดหนี้ได้ตั้งแต่ปีแรกๆ ที่เหลือเป็นกำไร ที่จะจ่ายเงินกลับมาให้ครอบครัวที่รอความหวัง

แต่เมื่อไฟสงครามเกิดขึ้น บางส่วนก็ยอมทิ้งความหวัง เพื่อกลับมาหาลูกเมีย ครอบครัว ที่บ้านเกิดประเทศไทย

แรงงานเล่านาทีชีวิต “ฮามาส” บุกถึงบังเกอร์

“นพโรจน์ วิมลธรรมวัชร์” แรงงานไทยที่อพยพจากอิสราเอล บอกว่า “วันนี้ดีใจมาก ที่เอาชีวิตรอดกลับมาเจอหน้าลูกๆ และครอบครัว พร้อมเปิดใจวินาทีที่ฮามาสบุกเข้ามายิงพวกเขาที่หลบอยู่ในห้องบังเกอร์ขนาดเล็ก ใช้เวลาหลบซ่อนอยู่นานประมาณ 5- 6 ชั่วโมง เพื่อนๆ แรงงานที่อยู่ด้วยกัน ต้องพยายามดันประตูไว้ไม่ให้กลุ่มฮามาสเปิดประตูออกมาได้ ซึ่งกลุ่มฮามาส ก็พยายามกระชากประตู แต่ฝั่งของแรงงานไทยก็ช่วยกันดันเอาไว้”

ขณะที่ “ฮั่ว แซ่ซ่ง” แรงงานเชียงราย เล่าว่า “ช่วงเกิดเหตุ ผู้ก่อการร้ายบุกเข้ามาสังหารแรงงาน โดยไม่เลือกว่าใครเป็นใคร เขาต้องไปหลบในป่า ไปนอนอยู่บนหลังคาแคมป์ 2 วันกว่าจะมีคนมาช่วยเหลือ สำหรับตัวเขาตัวเขาเพิ่งไปทำงานที่อิสราเอลได้แค่ 1 เดือนเท่านั้น เงินเดือนก็ยังไม่ได้ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้รัฐบาล ช่วยเหลือหน่อย เพราะตอนเดินทางไป ก็ไปกู้ยืมเงินญาติๆ มา โดยหลังจากนี้ คงกลับไปตั้งหลักที่บ้านเกิดเชียงรายก่อน”

ส่วนหนึ่งของแรงงานไทย ที่ต้องบากหน้า กู้หนี้ยืมสิน เสี่ยงตายไปขายแรงงานที่อิสราเอล เพราะเขาหวังจะมีชีวิตที่ดีกว่า เนื่องจากหากขายแรงงานในประเทศ คงได้เงินเดือนเพียงหลักหมื่นต้นๆ เท่านั้น

นี่อาจเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล ที่จะต้องมาช่วยเหลือเยียวยา ดูแลแรงงานกลุ่มนี้ และอาจต้องทบทวนนโยบายในระดับประเทศ

ว่าเหตุใด ประเทศไทยที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม จึงให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรม จนละเลย แรงงานภาคเกษตร จนแรงงานกว่า 30,000 ชีวิต ต้องไปทำงานเสี่ยงตายต่างประเทศ

ถึงวันนี้ แรงงานหลายคนจะยอมละทิ้งความหวัง กลับมาใช้หนี้สินที่กู้ยืมไปตามมีตามเกิด

แต่อย่างน้อย แรงงานเหล่านี้ยังมีชีวิต และรอยยิ้มที่พวกเขาได้พบหน้าครอบครัวอีกครั้ง คงจุดประกายความหวัง ในการต่อสู้เพื่อครอบครัวต่อไป

…………….

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img