ภายหลังกรมราชทัณฑ์ ได้มีคำสั่งให้เจ้าสัวเปรมชัย กรรณสูต ได้พักโทษ พ้นจากเรือนจำก่อนจะครบกำหนดโทษราวๆ 2 เดือน เรามาไล่เรียงข้อเท็จจริงในคดีทั้งหมด ว่าบทลงโทษที่เกิดขึ้น จะสามารถป้องปรามการล่า หรือบริโภคสัตว์ป่า ภายในภาคหน้าได้หรือไม่
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 256
นายวิเชียร ชินวงษ์ นำกำลังเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ลาดตระเวน
พบกลุ่มชาย-หญิง รวม 4 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 1 คน กำลังตั้งแคมป์กันอยู่ในเขตป่า
1 ในนั้น คือ นายเปรมชัย กรรณสูต พยายามเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่ แต่ไม่เป็นผล
เจ้าหน้าที่ตรวจพบอาวุธปืนใช้ล่าสัตว์ รวมทั้งซากไก่ฟ้าหลังเทา เก้ง และเสือดำ
นายวิเชียร ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ออกมาสอบสวน และดำเนินคดี
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561
พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ในขณะนั้น เข้าตรวจค้นบ้านพักของนายเปรมชัย ในซอยศูนย์วิจัย 3
ยึดอาวุธปืนรวม 43 กระบอก กระสุนมากกว่า 1 พันนัด และงาช้างแอฟริกา 2 คู่ ไปตรวจสอบ
ระหว่างนั้น นายวิเชียรได้แจ้งความนายเปรมชัย ข้อหาพยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่ควบคู่กันไป
วันที่ 30 เมษายน 2561
อัยการจังหวัดทองผาภูมิ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเปรมชัย พร้อมพวกรวม 4 คน
ในความผิดรวม 6 ข้อหา คือ
1.ร่วมกันพกพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
2.ร่วมกันล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต
3.ร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
4.ร่วมกันมีไว้ครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครองโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต
5.ร่วมกันช่วยซ่อนเร้นซากสัตว์ป่าอันได้มาโดยกระทำความผิดกฎหมาย
6.ร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต
วันที่ 19 มี.ค. 2562
ศาลจังหวัดทองผาภูมิ พิพากษาจำคุกนายเปรมชัย เป็นเวลา 16 เดือน
ใน 3 ข้อหา จากทั้งหมด 5 ข้อหา
- ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
- ร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ไก่ฟ้าหลังเทา ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
- พกพาอาวุธปืนในที่สาธารณะ
-ยกฟ้องข้อหาร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และข้อหาร่วมกันมีซากเสือดำไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
-ส่วนจำเลยที่ 2-4 ซึ่งเป็นคนขับรถ แม่บ้าน และนายพราน ล้วนถูกลงโทษข้อหาร่วมกันครอบครองซากสัตว์ป่า เสือดำ โดยไม่ได้รับอนุญาต
วันที่ 11 สิงหาคม 2563
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 นัดอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ เพิ่มโทษจำเลยทั้ง 4
จำคุก นายเปรมชัย เพิ่มโทษจำคุกเป็น 2 ปี 14 เดือน
จำคุก นายยงค์ โดดเครือ คนขับรถ เพิ่มโทษจำคุกเป็น 2 ปี 17 เดือน
จำคุก นายธานี ธุมมาส นายพราน เพิ่มโทษจำคุกเป็น 2 ปี 21 เดือน
ให้จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช 2 ล้านบาท
ส่วนนางนที เรียมแสน อายุ 46 ปี แม่ครัว พิพากษาจำคุก 1 ปี 8 เดือน และปรับ 40,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 2 ปี โดยคดียุติ
วันที่ 8 ธันวาคม 2564
ศาลจังหวัดทองผาภูมิ ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา มีเหตุลดโทษ 8 เดือนจากข้อกฎหมายสัตว์ป่า
นายเปรมชัย จำเลยที่ 1 จำคุก 2 ปี 6 เดือน ชดใช้เงิน 2 ล้านบาท
นายยงค์ จำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี 9 เดือน
นายธานี จำเลยที่ 4 จำคุก 2 ปี 13 เดือน (เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกลางปี 2565)
วันที่ 17 ตุลาคม 2566
นายเปรมชัยได้รับการพักโทษ และปล่อยตัวออกจากเรือนจำทองผาภูมิ
รวมระยะเวลาที่นายเปรมชัย รับโทษทั้งสิ้่น 679 วัน หรือ 1 ปี 10 เดือน 10 วัน
ถือเป็นการปิดฉาก “คดีเสือดำ” ที่ นายเปรมชัย กับพวกต่อสู้คดีมานานกว่า 5 ปี
“ชัยวัฒน์” ยกคดี “เสือดำ” เตือนพราน-คนกินสัตว์ป่า
ขณะที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถึงการพักโทษนายเปรมชัย โดยมองว่า ในครั้งนั้น ตัวเองอยู่ในทีมของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่เก็บวัตถุพยานหลักฐาน รวบรวมส่งให้ตำรวจและอัยการ จนสามารถฟ้องร้องผู้ต้องหาได้ 4 ราย และมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คือให้จำคุกคุณเปรมชัย รวม 2 ปี 6 เดือน
ในฐานะข้าราชการที่ปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ และสัตว์ป่า เราไม่ต้องการจับกุมใคร แต่หน้าที่หลักของเจ้าหน้าที่ คือการพิทักษ์ ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อเกิดคดีล่าเสือดำขึ้น นี่จึงเป็นคดีแรก ที่จะเป็นบรรทัดฐาน เตือนใจให้ผู้ที่คิดทำผิดรายอื่นๆ เพราะสุดท้ายแล้ว คดีนี้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง 2 ล้านบาท ให้กับสัตว์ป่าที่ถูกล่า คือ เสือดำ
ส่วนคำวินิจฉัยพักโทษนายเปรมชัย ก่อนครบกำหนดโทษ ราวๆ 2 เดือนนั้น เจ้าหน้าที่ไม่ขอก้าวล่วง แต่สิ่งสำคัญที่อยากเตือนไปยังผู้ที่ไม่เลิกพฤติกรรมการล่าสัตว์ป่า หรือบริโภคสัตว์ป่า ว่าขอให้ดูคดีนี้เป็นตัวอย่าง
เพราะคดีล่าเสือดำนี้ เป็นบทเรียนสำคัญ ที่สังคมไทยเราได้เรียนรู้ไปร่วมกัน ถึงความสำคัญของสัตว์ป่า รวมทั้งผู้กระทำผิด ที่จะต้องติดคุก รวมทั้งชดใช้ทางแพ่ง จึงอยากเตือนผู้ที่ยังคิดทำผิด ให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าวเสีย
………….
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม