แม้ศาลจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น พิพากษาลงโทษจำคุก “ลุงพล” สถานหนักรวม 20 ปี แต่คดีนี้กลับมีความเห็นแย้งของ “ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหาร” และ “อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4”
สำหรับ ข้อสังเกตที่มีการทำความเห็นเเย้ง จะเห็นได้ว่า คดีนี้ไม่มี “ประจักษ์พยาน” ที่เห็นผู้กระทำให้เสียชีวิต มีเเต่หลักฐานที่ไปตรวจเจอในที่เกิดเหตุ ที่องค์คณะพิพากษาลงโทษ ก็เข้าใจว่า มาจากหลักฐานที่ผ่านการตรวจพิสูจน์นั้น
ทั้งนี้ 2 ท่านบอกคดีนี้ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ “ลุงพล” ซึ่งอาจทำให้การต่อสู้คดีนี้ ที่จะยืดเยื้อไปในชั้นอุทธรณ์และฎีกา เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญขึ้นมาได้
สำหรับความเห็นแย้งของผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหาร และอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 4 เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 วงเล็บ 1 บัญญัติให้ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ต้องรับผิดชอบในราชการของศาลให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และให้มีอำนาจหน้าที่ สามารถนั่งพิจารณาและพิพากษาคดีที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นที่สนใจของประชาชน คดีที่เป็นความผิดอาญาร้ายแรง คดีที่มีทุนทรัพย์สูง และคดีละเมิดอำนาจศาล
สำหรับ คดีฆาตกรรม “น้องชมพู่” คดีนี้เข้าลักษณะเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกสูง เเละเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ ถือเป็นคดีสำคัญ
ดังนั้นหัวหน้าศาลจังหวัดอาจมานั่งเป็นองค์คณะหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาค อาจจะมาร่วมพิจารณาคดี หรือส่งรองอธิบดีมานั่งร่วมพิจารณาคดีได้
ความรับผิดชอบจะมีเรื่องการตรวจร่างคำพิพากษาอันเป็นที่มาของการทำความเห็นเเย้ง ซึ่งเป็นอำนาจของหัวหน้าศาลเเละอธิบดีผู้พิพากษาในภาค ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
และ การให้ความเห็นแย้งนี้ ไม่ใช่การเเทรกเเซงดุลพินิจขององค์คณะ เพราะไม่ได้เป็นการเเก้ไขคำพิพากษา เป็นเพียงการทำความเห็นเเย้งเเนบไปพร้อมกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เพื่อประกอบการพิจารณาหากมีการนำคดีขึ้นสู่ศาลสูงต่อไป
กล่าวโดยสรุป “ลุงพล” ถูกศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษจำคุก 20 ปีและต้องรับโทษตามนี้ หรือยื่นประกันตัวออกมาสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ส่วนความเห็นแย้งเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผู้พิพากษา ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา สะท้อนให้เห็นว่า “ผู้พิพากษา” มีอิสระในการพิพากษาอรรถคดี ไม่สามารถแทรกแซงได้
แต่ความเห็นเเย้งนี้ จะมีผลอย่างไร ต้องบอกว่า สำหรับในชั้นศาลอุทธรณ์ ความเห็นเเย้งนั้นจะมีผลต่อการพิจารณาของศาลอุทธรณ์มาก จะทำให้ศาลสูงคิดหนักเเละต้องดูอย่างละเอียด
โดยที่ผ่านมา ความเห็นเเย้งของอธิบดีผู้พิพากษา ไปถึงศาลฎีกา ก็มีคำพิพากษาไปในทางเดียวกัน กับความเห็นเเย้งมาหลายคดี เพราะประสบการณ์ระดับอธิบดีผู้พิพากษาภาค มีประสบการณ์ทางด้านคดีมาไม่ต่ำกว่า 25 ปี เรียกว่าประสบการณ์เทียบใกล้เคียงกับผู้พิพากษาศาลฎีกา
………………..
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม