ในวันที่ 22 ก.พ.ที่จะถึงนี้ ปี่กลองการเมืองจะร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้ง จากประเด็น “ชายชั้น 14” ที่คาดว่าน่าจะได้ติดกำไลอีเอ็ม ได้รับการพักโทษกลับไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้า
ในวันที่ 22 ก.พ.ที่จะมาถึงนี้่ จะครบ 6 เดือนเต็ม ที่ “ชายชั้น 14” ได้กลับมารับโทษที่เมืองไทย และเกิดอภินิหารขึ้นตามมามากมาย ไล่เรียงได้ประเด็นดังนี้
อันดับที่ 1 ไม่มีการใส่กุญแจมือควบคุมตัว
แน่นอนว่า ระดับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตเจ้าสัวกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทย หลังจากหนีคดีออกจากประเทศไทยไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.2551 หรือรวมกว่า 15 ปีเต็ม ติดสินใจเดินทางกลับมารับโทษในแผ่นดินเกิด
ปรากฎว่าระหว่างคุมตัวไปศาล เพื่อรับฟังโทษคุมขัง 8 คดี ที่มีโทษจำคุก 10 ปี (หากไม่นับโทษคดีเก่า เหลือจำคุก 5 ปี) ทางเจ้าหน้าที่ไม่มีการใส่กุญแจมือ ระหว่างควบคุมตัว แต่อย่างใด
อันดับ 2 เท้าไม่เคยย่างก้าวเข้าไปในแดนคุมขัง
หลังรับฟังคำพิพากษาแล้วถูกคำตัวมาในแดนแรกรับ ที่ต้องมีการกักตัวตรวจโควิด พอถึงช่วงตีหนึ่ง มีการส่งตัวนายทักษิณ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอาการป่วย
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ตลอดระยะเวลาการใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ ทางคุณทักษิณได้โชว์ความฟิตในการออกกำลังกาย ใช้ชีวิตตามปรกติมาโดยตลอด
นั่นเท่ากับว่า “ทักษิณ” ยังไม่เคยเหยียบย่ำเข้าไปในแดนคุมขังของเรือนจำแม้แต่วินาทีเดียว ไม่นับรวมการตัดผม การเปลี่ยนชุดนักโทษตามระเบียบ
อันดับ 3 นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ
แน่นอนว่า หากนักโทษมีอาการป่วยหนัก ย่อมได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐ ตามหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิผู้ป่วย / ภาพของ “ทักษิณ” ตลอดระยะเวลาที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ ไม่เคยมีอาการป่วยหนักให้เห็น แถมยังฟิตปั๋งซ้อมต่อยมวยเตะกระสอบ อัดคลิปโชว์อีกด้วย
แต่เมื่อมาถึงมาตุภูมิ อาจเกิดความเหนื่อยล้า จนต้องหามส่งโรงพยาบาลในค่ำคืนวันเดียวกัน ทางกรมราชทัณฑ์ให้เหตุผลว่า โรงพยาบาลของราชทัณฑ์ ไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องไม้เครื่องมือที่ดีพอ ในการรักษาคุณทักษิณ
ซึ่งเรื่องนี้ อาจสร้างความคลางแคลงใจในสังคมให้เกิดขึ้นได้ อาทิ เคยมีนักโทษรายอื่นๆ ได้รับสิทธิเช่นนี้หรือไม่ / และแพทย์ที่ให้ความเห็นว่าจำเป็นต้องส่งนักโทษรายนี้ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลข้างนอก มีคำวินิจฉัยอาการเป็นเช่นไร กับการส่งตัวทักษิณไปรักษาตัวข้างนอก
อันดับ 4 ห้ามใช้คำว่านักโทษชายกับ “นายทักษิณ”
เมื่อวันที่ 16 ม.ค. เกิดดราม่าซ้ำขึ้นอีก เมื่อกรมราชทัณฑ์ชี้แจงการใช้ “คำนำหน้าชื่อผู้ต้องขัง” หลังมีกระแสข่าวว่าให้อภิสิทธิ์ดูแลผู้ต้องขัง 2 มาตราฐาน ไม่ให้ใช้คำนำหน้าชื่อว่า “น.ช.” กับ “นายทักษิณ ชินวัตร”
เอกสารชี้แจงราชทัณฑ์ ระบุว่า ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 “นักโทษเด็ดขาด” หมายความว่า บุคคลซึ่งถูกขังไว้ตามหมายจำคุกภายหลังคำพิพากษาถึงที่สุด และให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งถูกขังไว้ตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
การใช้คำนำหน้าชื่อว่า “นักโทษเด็ดขาดชาย” (น.ช.) หรือ “นักโทษเด็ดขาดหญิง” (น.ญ.) เป็นเพียงถ้อยคำที่ใช้แบ่งประเภทของนักโทษเด็ดขาด โดยใช้เพศเป็นเกณฑ์กำหนดเท่านั้น ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย
การใช้คำนำหน้าชื่อเหล่านี้ จะใช้ในงานราชทัณฑ์ขณะถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ-ทัณฑสถานเท่านั้น / แต่หากต้องเปิดเผยชื่อ-นามสกุลออกสู่สาธารณชน จะไม่ใช้คำนำหน้าชื่อด้วย “น.ช.” หรือ “น.ญ.” เพื่อบ่งบอกสถานะความเป็นผู้ต้องขัง
ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรในการคืนคนดีสู่สังคม กระทบต่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงอาจทำให้เป็นการตีตราผู้ต้องขังไปตลอด พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้เลือกปฏิบัติใช้คำนำหน้าชื่อว่า “นาย” เฉพาะกับนายทักษิณเท่านั้น
ที่ผ่านมาหากต้องเปิดเผยชื่อ-นามสกุลของผู้ต้องขังคนอื่นๆ ออกสู่สาธารณชน จะใช้คำนำหน้าชื่อว่า นาย นาง หรือ นางสาว เช่นเดียวกัน รวมถึงระบบการบันทึกข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ก็จะใช้คำนำหน้าชื่อเป็นนาย นาง หรือ นางสาว เช่นเดียวกัน
แน่นอนว่าในเดือนก.พ.ที่จะถึงนี้ จะเกิดกระแสเกี่ยวกับคุณทักษิณขึ้นมาอีกรอบ และอาจเกิดเเรงกระเพื่อมทางการเมืองขึ้นมาได้
โดยเฉพาะคำถามที่สังคมยังคาใจ ว่าความยุติธรรมในประเทศไทย มีความเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นคนรวย คนจน ยาจก เศรษฐี ใช่หรือไม่
…………………………..
รายงานพิเศษ : “ฟ้าคำราม”