วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVE3 มาตรการปรับอัตราเผื่อเหลือ-เผื่อขาด “เติมน้ำมัน”ได้เต็มลิตร-ไม่คลาดเคลื่อน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

3 มาตรการปรับอัตราเผื่อเหลือ-เผื่อขาด “เติมน้ำมัน”ได้เต็มลิตร-ไม่คลาดเคลื่อน

กรณี เติมน้ำมันไม่เต็มลิตร ที่เป็นข่าวคึกโครมเมื่อปีก่อน วันนี้มีความคืบหน้า แนวทางแก้ไขปัญหานี้ออกมาแล้ว และอาจจะมีการปรับแก้ไขกฎหมาย หรือประกาศที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป

จากการตรวจสอบ การประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา มีการพิจารณาศึกษาปัญหาของผู้บริโภคกรณีเติมน้ำมัน แต่ได้ไม่เต็มปริมาตร

โดยที่ผ่านมา หน่วยงานที่รับผิดชอบ ระบุว่า เป็นไปตามหลักเกณฑ์และกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องการชั่งตวงวัด ในวันนั้นจึงมีการเชิญผู้แทนจาก กรมการค้าภายใน / กรมธุรกิจพลังงาน และสมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย ร่วมประชุมหาแนวทางแก้ปัญหา

ตัวแทนสมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย ระบุว่า ตู้จ่ายน้ำมันเป็นเครื่องจักรที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ การเปิดใช้ตู้จ่ายน้ำมันครั้งแรก ต้องมีการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ เพื่อกำหนดมาตรวัดหัวจ่ายน้ำมันให้อยู่ใกล้ “หมายเลข 0” มากที่สุด

เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้ว เจ้าหน้าที่จะมีการซีลกำกับไว้ว่า หัวจ่ายน้ำมันดังกล่าว ได้ผ่านการตรวจสอบจากกรมการค้าภายใน โดยกรมการค้าภายในจะมีการลงพื้นที่เพื่อตรวจการตีซีลใหม่ทุก 2 ปี

ด้านตัวแทนกรมการค้าภายใน ชี้แจงว่า หลังปรากฎข่าวในจังหวัดสระบุรี ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ พบว่าการจ่ายน้ำมันแม้จะไม่เต็มลิตร แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ปริมาณ “อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด” ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังสั่งการให้เจ้าหน้าที่ ตรวจสอบหัวจ่ายน้ำมันทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมการค้าภายในได้มีการหารือกับผู้แทนจำหน่ายน้ำมัน เพื่อหาแนวทางการแก้ไขประกาศฉบับดังกล่าว โดยในเบื้องต้นเห็นควรให้มีการปรับปรุงแก้ไขประกาศฯ อาทิ

1) การแก้ไข อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดสำหรับการให้คำรับรองชั้นแรก จาก ร้อยละ 0.5 เป็น 0.3
2) การแก้ไข อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดสำหรับการตรวจสอบมาตรวัดที่ใช้แล้ว จาก ร้อยละ 1 เป็น 0.5
3) การแก้ไข อายุคำรับรองหัวจ่าย จากให้มีการตรวจสอบทุก 2 ปี เป็น ทุก 1 ปี

ขณะที่ ตัวแทนจากกรมธุรกิจพลังงาน ชี้แจงว่า หลังเกิดเหตุการณ์ กรมธุรกิจพลังงานได้ลงพื้นที่ร่วมกับกรมการค้าภายใน เพื่อตรวจสอบหัวจ่าย และจัดเก็บข้อมูลทั่วประเทศ สำหรับหาค่ามาตรวัดที่เหมาะสม เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการได้เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ ควรเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขประกาศฯ / รวมทั้งควรตั้งค่าหัวจ่ายน้ำมันที่หมายเลข “0” เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับปริมาณน้ำมันที่ถูกต้อง โดยไม่มีค่าความคลาดเคลื่อน มาเกี่ยวข้องกับการคำนวณ

อ่าน : การประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา

……….

รายงานพิเศษ: ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img