ภายหลัง ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ พรรคก้าวไกล โดย สส. 44 คน ที่เสนอ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ.. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งให้เลิกการกระทำนั้น
ผลกระทบที่จะตามมาคือ จะมีผู้นำพฤติการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ไปยื่นต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขาธิการ กกต.) และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
เพื่อเอาผิดพรรคก้าวไกล ฐานกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง
ที่แน่ๆ แล้ว 1 คน คือ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่เตรียมเอกสารไปยื่นยุบพรรคก้าวไกลในวันนี้ (1 ก.พ.67)
ตามขั้นตอนแล้ว กกต.ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาคำวินิจฉัย หากมีข้อเท็จจริงตามสมควร ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่ง “ยุบพรรค” และ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล
นอกจากนี้ ยังอาจมีผู้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิดจริยธรรมร้ายแรงกับนายพิธา และ สส.พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน ที่ยื่นร่างแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 อีกด้วย
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ในฐานะอดีต กกต. บอกว่า จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะต้องมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้น ว่ามีพรรคการเมือง ที่อาจกระทำการล้มล้าง หรืออาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หรือไม่
คุณสมชัย มองว่า ในการพิจารณาดังกล่าว กกต.อาจจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน เพื่อศึกษาคำวินิจฉัย และหาก กกต. เห็นว่า มีการกระทำผิดของพรรคการเมือง ก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาสั่งยุบพรรค คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญ อาจใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 4-6 เดือนหลังจากนั้น
ดังนั้น หลังจากนี้ ราวๆ 8 เดือน คาดว่าราวๆ ช่วงเดือนกันยายน 2567 จะต้องรอติดตามทิศทางการเมืองไทย ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
…………..
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม