จากกรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่
ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 นั้น
กระทั่งวันที่ 24 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า ในวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน)
แต่ข้อเท็จจริงในทางไต่สวนรับฟังได้ว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ประกอบกิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ผู้ถูกร้องจึงมิใช่ผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)
สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้อง จึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6)
ขณะที่ คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา มีการอภิปรายและมีข้อสังเกตต่อประเด็นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถือหุ้นสื่อมวลชน โดย เปรียบเทียบคดีของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” กับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ดังนี้
สำหรับกรณีของ “พิธา” ฝ่ายผู้ถูกร้องและผู้จัดการของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ได้ยืนยันว่า กิจการที่ดำเนินการอยู่มิใช่กิจการสื่อ แต่เป็นกิจการที่เกี่ยวกับดอกเบี้ย
ประเด็นที่เป็นข้อพิจารณาคือ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการสื่อได้หรือไม่ กรณีจึงแตกต่างจากคดีของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ “ธนาธร” สิ้นสภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเหตุถือหุ้นในบริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด
เนื่องจากเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 “ธนาธร” ยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่พรรคอนาคตใหม่ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง
และถึงแม้จะยกเลิก บริษัทมิได้ดำเนินการแล้วก็ตาม แต่ปรากฎว่า ทางบริษัทยังไม่มีการยกเลิกจดทะเบียน อีกทั้งนายทะเบียนยังไม่มีการขีดฆ่าให้เป็นบริษัทร้าง จึงถือว่ายังเป็นบริษัทอยู่ และสามารถกลับมาดำเนินกิจการอีกเมื่อใดก็ได้
ประเด็นดังกลาว จึงแตกต่างจากกรณีของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ที่ค่อนข้างชัดเจนว่าไม่สามารถดำเนินกิจการสื่อได้ เนื่องจากสำนักนายกรัฐมนตรี เข้ายึดกิจการของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)
อีกทั้ง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยืนยันว่า มีการยึดคลื่นความถี่ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ด้วยแล้ว จึงสรุปได้ว่าบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถดำเนินกิจการสื่อได้อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม “พิธา” ผู้ถูกร้องยังคงมีกรณี การเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ ซึ่งกรณีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดพิจารณาในวันพุธที่ 31 มกราคม 2567
ต่อมา ศาลมีคำสั่งให้พรรคก้าวไกลยุติการเคลื่อนไหวทุกอย่างในเรื่องมาตรา 112 และ มีบางฝ่ายเคลื่อนไหวไปยื่นเรื่องต่อเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง
เพื่อให้ กกต. ยื่นคำร้องเอาผิดผู้ถูกร้องและพรรคก้าวไกลต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 92 (2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่บัญญัติว่า หากพรรคการเมืองใดกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค
ทั้งนี้ การปักหมุดยกเลิกมาตรา 112 เป็นการหาเสียงนอกเหนือหรือขัดกับนโยบายของพรรค ที่พรรคภูมิใจไทยได้เคยร้องเรียนกรณีดังกล่าวไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งมาแล้ว
ได้มี กรรมาธิการฯซึ่งเคยเป็นอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ประธานศาสรัฐธรรมนูญเคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า คำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญยื่นขอให้หยุดการหาเสียง ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาตามคำร้อง
หากมีผู้ยื่นคำร้องเพิ่มเติมให้ยุบพรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญอาจพิจารณาเพิ่มเติมได้ และหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้หยุดการกระทำ / นายทะเบียนพรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องพิจารณาว่าการดำเนินการนั้น เป็นการ “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” หรือไม่ และอาจยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาขอให้ยุบพรรคการเมืองได้
ขณะที่ “กล้านรงค์ จันทิก” ประธานคณะกรรมาธิการฯ เพิ่มเติมข้อมูลว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจพิจารณาเป็น 2 แนวทาง คือ
แนวทางที่ 1 หากเป็นการหาเสียงเพื่อแก้ไขมาตรา 112 อาจวินิจฉัยว่า “ถึงแม้จะเกินระยะเวลาแล้ว แต่ห้ามมิให้ดำเนินการอีก”
แนวทางที่ 2 หากเป็นการหาเสียงเพื่อยกเลิกมาตรา 112 ต้องยุบพรรคการเมืองเท่านั้น เพราะถือเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หลังจากนี้ คาดว่าทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และอาจมีการยื่นคำร้อง เข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองก้าวไกล ในช่วง 4-6 เดือนข้างหน้านี้
……….
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม