วันอังคาร, มิถุนายน 18, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVEจำคุก‘3สส.ภูมิใจไทย’เสียบบัตรแทนกัน ศาลฎีกาฯชี้ไม่ซื่อสัตย์-ทำสภาด่างพร้อย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จำคุก‘3สส.ภูมิใจไทย’เสียบบัตรแทนกัน ศาลฎีกาฯชี้ไม่ซื่อสัตย์-ทำสภาด่างพร้อย

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสามคือ “ฉลอง เทอดวีระพงศ์” จำเลยที่ 1 “ภูมิศิษฏ์ คงมี” จำเลยที่ 2 “นาที รัชกิจประการ” จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 8-11 ม.ค.63 มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2563

จำเลยทั้งสาม ลงชื่อเข้าร่วมประชุม แต่ตรวจสอบพบว่า…

จำเลยที่ 1 ไม่อยู่ในที่ประชุมช่วงวันที่ 10 ม.ค.63 เวลา 19.30 น. ถึงวันที่ 11 ม.ค.63 เวลา 17.38 น.
จำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในที่ประชุมช่วงวันที่ 10 ม.ค.63 เวลา 19.30 น. ถึงวันที่ 11 ม.ค.63 เวลา 11.10 น.
จำเลยที่ 3 ไม่อยู่ในที่ประชุมช่วงวันที่ 11 ม.ค.63 เวลา 14.28-15.46 น. ต่อเนื่องกัน

โดยจำเลยทั้งสาม ต่างได้ร่วมกับบุคคลใดไม่ปรากฏชัด โดยให้ผู้อื่นหรือยินยอมให้ผู้อื่น หรือกระทำการ หรือไม่กระทำการอื่นใด เป็นผลให้ผู้อื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยทั้งสาม แสดงตนและลงมติฯ แทนจำเลยทั้งสาม

การกระทำของจำเลยทั้งสาม เป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ

กระบวนการใช้อำนาจนิติบัญญัติ ในการตราพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประชาชนผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 จำคุกคนละ 1 ปี

องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมาก เห็นว่า ทางไต่สวนของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 9 เดือน

พฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำโดยทุจริตถือเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนับแต่วันที่ 11 เม.ย.65 ซึ่งเป็นวันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของจำเลยทั้ง 3 ตลอดไป

ต่อมาจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ขอให้ยกฟ้อง!!

ระหว่างการพิจารณาขององค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ จำเลยทั้งสาม ยื่นคำร้องขอสละประเด็นข้อต่อสู้ตามอุทธรณ์ทุกข้อ และขอให้การรับสารภาพในชั้นอุทธรณ์ กับขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก

ในข้อที่ขอให้ลงโทษสถานเบานั้น องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมาก เห็นว่า ความผิดฐานเจ้าพนักงานของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ฯ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 17 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วางโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น เป็นการลงโทษในอัตราขั้นต่ำสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และยังลดโทษให้อีกหนึ่งในสี่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสามมากแล้ว ไม่มีเหตุที่องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข

ส่วนที่ขอให้รอการลงโทษนั้น องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสามดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ

มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเสนอ และพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างพระราชบัญญัติต่างๆ สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 วรรคสาม

การออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันมิได้ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 80 วรรคสาม ดังนั้น การมอบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ประจำตัว ให้บุคคลอื่นนำไปใช้ออกเสียงลงคะแนน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นอกจากจะเป็นการทำลายความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นแล้ว ยังเป็นการทำลายกลไกคุ้มครองความเป็นอิสระทำให้การแสดงเจตจำนง แทนประชาชนถูกควบคุมหรือบิดเบือน โดยบุคคลซึ่งหวังประโยชน์อย่างอื่น ไม่เป็นไปตามครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

แม้จำเลยทั้งสามอ้างกำหนดนัดที่มีก่อนวันนัดประชุมอันเป็นการขาดประชุมโดยมีได้ลาประชุมตามระเบียบ และเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสาม ไม่อาจออกเสียงลงคะแนนก็เป็นความผิดส่วนหนึ่ง แต่จำเลยทั้งสามกลับมอบบัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์แสดงตน และลงมติของตนให้บุคคลอื่นแสดงตนและออกเสียงลงคะแนนแทนอันเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้นมา

จำเลยทั้งสาม ย่อมทราบดีว่า การออกเสียงลงคะแนนในการตรากฎหมายเป็นการทำหน้าที่แทนปวงชน ซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่าภารกิจอื่น แต่จำเลยทั้งสามกลับละเลยหน้าที่ ไม่ยึดมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จนทำให้เกิดความด่างพร้อยต่อระบบรัฐสภา

ทำให้เห็นเจตนาที่ไม่ชอบของจำเลยทั้งสามมากยิ่งขึ้น นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าแล้ว ยังมีความเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณดังกล่าวใหม่ จึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างมาก

พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสาม ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยเป็นการกระทำที่ไม่ชื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ทำให้ประโยชน์ส่วนรวมได้รับความเสียหาย ไม่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่และคำปฏิญาณที่ให้ไว้ และไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย

ถือเป็นเรื่องร้ายแรงกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสามก็เพื่อให้จำเลยทั้งสามหลาบจำ เป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้อื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างกระทำความผิดเช่นนี้อีก อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนจำคุก 9 เดือน ไม่รอลงอาญา

สำหรับจำเลยทั้งสาม ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาตามนัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัว “ฉลอง เทอดวีระพงศ์” จำเลยที่ 1 และ “ภูมิศิษฏ์ คงมี” จำเลยที่ 2 ไปคุมขังทึ่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ส่วน “นาที รัชกิจประการ” จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็น ภรรยาของ ‘พิพัฒน์ รัชกิจประการ’ รมว.แรงงาน ถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

…………

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img