วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVE‘40สว.รักษาการ’ยื่นศาลรธน.สอยนายกฯ จับตา!18 มิ.ย.ส่อ‘แพ้ฟาล์ว’ตั้งแต่ยกแรก
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘40สว.รักษาการ’ยื่นศาลรธน.สอยนายกฯ จับตา!18 มิ.ย.ส่อ‘แพ้ฟาล์ว’ตั้งแต่ยกแรก

ภายหลังจากวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มี “กลุ่ม 40 สว.” ร่วมกันเข้าชื่อเพื่อส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “เศรษฐา ทวีสิน” และตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของ “พิชิต ชื่นบาน”

หลังพบมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ ผ่าน “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา

ทั้งนี้ สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 40 คน ลงนามเข้าชื่อขอให้ประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 3 ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ “เศรษฐา ทวีสิน” ผู้ถูกร้องที่ 1 และ “พิชิต ชื่นบาน” ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 1 (4) และ (5) หรือไม่

กรณีนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง “พิชิต” ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยผู้ถูกร้องที่ 1 ทั้งๆ ที่รู้ หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 160 (4) และ (5) ที่บัญญัติว่า…

มาตรา 160 รัฐมนตรีต้อง

(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

(5) ไม่มีประพฤติกรรม อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ผู้ร้องเห็นว่า “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่ความเป็นนายกรัฐมนตรี กระทำการโดยอาจมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อประโยชน์แก่ ผู้ถูกร้องที่ 2 ด้วยการแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีหรือไม่

ด้วยการเลี่ยงและบิดเบือนข้อเท็จจริงในการให้ข้อมูลแก่สังคม และประชาชนทำให้เข้าใจผิดว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ถูกร้องที่ 2 เรียบร้อยแล้วว่า ไม่ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

เศรษฐา ทวีสิน-พิชิต ชื่นบาน

ทั้งที่ ตามความจริงแล้ว ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ฉบับ ลงวันที่ 1 ก.ย.66 ยังไม่ได้วินิจฉัยคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 2 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5)

ประกอบกับผู้ถูกร้องที่ 1 ได้เข้าพบ “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งมี “พิชิต ชื่นบาน” ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว จำนวนไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ก่อนการเสนอทูลเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรี

จึงเชื่อได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 อาจมีเจตนาไม่สุจริต และบิดเบือนข้อเท็จจริงในการให้ข้อมูลแก่สังคมและประชาชน และประกอบกับการที่ ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้เข้าพบ “ทักษิณ ชินวัตร” ดังกล่าวมาข้างต้นไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 รู้ หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้กระทำความผิดตามคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551 และต่อมาสภาทนายความมีมติลงโทษให้ลบชื่อผู้ถูกร้องที่ 2 ออกจากทะเบียนทนายความ จึงอาจเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรี

การกระทำของ ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่เสนอทูลเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เมื่อวันที่ 27 เม.ย.67 ให้ได้เป็นรัฐมนตรี จึงอาจเป็นการกระทำด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ มีพฤติกรรมที่รู้เห็นและยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

ผู้ร้อง ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา 40 คน เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา จึงขอให้ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องฉบับนี้ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 3 ประกอบมาตรา 82 ว่าด้วยความเป็นรัฐมนตรีของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 1(4) (5) หรือไม่

และขอศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้อง หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย โดยต่อมา “พิชิต” ได้ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี

ขณะที่ “เศรษฐา​ ทวีสิน” นายก​รัฐมนตรี​ ได้ส่งคำชี้แจงกรณี 40 สว.ยื่นถอดถอนนายกฯ ออกจากตำแหน่งให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา และไม่แสดงความวิตกกังวล กรณีที่ศาลนัดฟังคำวินิจฉัย ในวันอังคารที่ 18 มิ.ย.ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตาม ได้มีนักวิเคราะห์การเมือง แสดงความเห็นว่า คำร้องของ 40 สว. อาจถือเป็นการแพ้ฟาล์ว ตั้งแต่ยกแรก เนื่องจากมีการยื่นคำร้องในวันที่ 15 พ.ค. หรือ 5 วันภายหลังจาก “สว.ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี” ไปเมื่อวันที่ 10 พ.ค.

เปิด 3 หน้าที่ “สว.รักษาการ” ไม่มีหน้าที่ยื่นสอย “นายกฯ”

สอดรับกับกรณีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. โดยระบุว่า สว.ชุดปัจจุบันเมื่อครบวาระแล้ว ก็ยังคงรักษาการอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่ และยังคงมีอำนาจเต็มอยู่

และ 3 หน้าที่หลักของ สว.คือ

1.พิจารณาและการกลั่นกรองกฎหมาย พิจารณาและกลั่นกรองพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) และแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

2.ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งกระทู้ถาม เปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา หรือที่ประชุมรัฐสภา การตั้งกรรมาธิการ (กมธ.)

3.ให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น

เมื่อพิจารณาจาก “หน้าที่” ของ “รักษาการ สว.” แล้ว ไม่มีข้อใดที่ระบุว่า ให้ สว.ยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

ดังนั้น การที่ “รักษาการ 40 สว.” จะยื่นคำร้อง โดยอ้าง “สิทธิ” ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอดถอนนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ จึงอาจแพ้ฟาล์วไปตั้งแต่ต้น

เพราะเป็นการยื่นคำร้อง หลังสมาชิกวุฒิสภาหมดวาระดำรงตำแหน่งไปแล้ว 5 วัน และการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ใช่ “หน้าที่” ของ “รักษาการ สว.” ตามที่ “กกต.” ได้ระบุเอาไว้นั่นเอง

…………

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img