“สหรัฐอเมริกา” เริ่มดำเนินมาตรการลงโทษ “เมียนมา” เนื่องจากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการรัฐประหารของกองทัพเมียนมา โดยเริ่มจากธนาคารของเมียนมา 2 แห่ง และ บริษัทเมียนมา ออยล์ แอนด์ แก๊ส เอ็นเตอร์ไพรซ์ หรือ MOGE เพื่อปิดกั้นเงินรายได้ของกองทัพเมียนมา
จากมาตรการลงโทษดังกล่าว อาจส่งผลกระทบกับธุรกิจก๊าซของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เนื่องจากความเสี่ยงในการละเมิด มาตรการลงโทษ เพราะต้องชำระเงินในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่บริษัท 2 แห่งที่ได้ลงทุนในเมียนมา
จากนั้น “ปตท.” ได้ยื่นคำขอต่อ สำนักงานควบคุมทรัพย์สินในต่างประเทศ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจและชำระเงินให้ MOGE ต่อมาได้ใบอนุญาต เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 และจะต้องมีการเจรจาทุก 6 เดือน โดยที่ผ่านมา สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น ไม่กระทบมาตรการคว่ำบาตร
อย่างไรก็ตาม ใบอนุญาตดังกล่าว ครบกำหนดในวันนี้ คือวันที่ 30 มิถุนายน สำหรับการดำเนินธุรกิจด้านการสำรวจและผลิต รวมถึงการชำระค่าก๊าซให้กับเมียนมา อย่างไม่มีข้อห้าม
โดยหลังจากนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้หารือที่ปรึกษาทางกฎหมาย และธนาคารกลางสหรัฐ (FED) เพื่อที่จะขอต่ออายุของหนังสือสัญญาดังกล่าวให้มีอายุการใช้งานมากขึ้น
จากเดิม ใบอนุญาตที่มีระยะเวลา 6 เดือน ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารและเจรจาหาข้อสรุป โดยอ้างอิงจากประวัติของการดำเนินธุรกิจ และความสัมพันธ์ในการดำเนินการกับทางสหรัฐอเมริกา ในข้อจำกัดต่างๆ ที่สหรัฐอเมริกาได้มีข้อกำหนดในเมียนมา
ที่ผ่านมา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด แสดงให้เห็นว่า ไทยให้ความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างดี
ดังนั้น คาดว่าสหรัฐอเมริกาจะพิจารณาจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ในอนาคต ที่ประเทศไทยคาดหวังจะขอขยายอายุการใช้ Letter of Comfort และ Specific License โดยคาดว่าจะสามารถขยายเวลาได้นานขึ้น
ในที่ประชุม กมธ.ต่างประเทศ วุฒิสภา มีการหารือเรื่องดังกล่าวด้วยว่า การที่ไทยชำระค่าก๊าซให้กับเมียนมาผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จะเป็นการให้การสนับสนุนทางการเงินบริษัท MOGE ของเมียนมาหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อท่าทีของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อไทยอย่างไร
“วรนล จันทร์ศิริ” ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน ได้ให้ข้อมูลว่า จากการที่สหรัฐอเมริกาประกาศคว่ำบาตรเมียนมา โดยกำหนดไม่ให้ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในการจ่ายให้บริษัท MOGE
ทางการไทยจึงได้มีการชำระเงินในรูปแบบเงินบาทแทน โดยขณะนี้ ยังไม่พบปัญหาอุปสรรคในการใช้เงินบาทจ่ายค่าก๊าซในเมียนมา โดยที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูตสหรัฐอเมริกา
ทั้งหมด ได้ร่วมกันหารือกันว่ามีวิธีอื่นใดหรือไม่ ที่ไทยจะสามารถลงทุนในเมียนมาโดยไม่ติดมาตรการคว่ำบาตรและลงทุนได้อย่างเหมาะสม หนึ่งในนั้นมีการหยิบยกรูปแบบการจ่ายเงินผ่านเอสโครว์แอคเคานท์
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทพลังงาน MOGE ของทางการเมียนมา ต้องการที่จะมีการซื้อขายก๊าซธรรมชาติด้วยเงินบาท มากกว่าการซื้อขายผ่านเอสโครว์แอคเคานท์
ทั้งนี้ ตัวแทนกระทรวงพลังงานยืนยันว่า การซื้อขายก๊าซธรรมชาติด้วยเงินบาทในปัจจุบัน ไม่ได้ผิดมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาของสหรัฐ แต่กระทรวงพลังงาน จะได้ติดตามสถานการณ์ในระยะยาวต่อไป ว่าสหรัฐอเมริกาจะดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเมียนมามากขึ้นหรือไม่ อย่างไร
ปตท. ชะลอแผนลงทุน “เมียนมา” จากภาวะสงคราม
สำหรับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้มีการลงทุนโครงการด้านพลังงานโดยเน้นความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก โดยได้มีการลงทุนในเมียนมา 3 รูปแบบ ได้แก่
1.ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น (Upstream) จำนวน 4 บริษัท ได้แก่
-Yadana Project
-Yetagun Project
-Zawtika Project
-M3 Project
ในช่วงที่มีสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ได้มีการถอนการลงทุนในบริษัท Yetagun Project รวมถึงการหยุดพัฒนา M3 Project
2.ธุรกิจด้านก๊าซธรรมชาติและพลังงาน (Gas & Power) จำนวน 3 บริษัท ได้แก่
-Gas to Power Project
-Industrial Zone Project
-Yangon Industrial Gas
จากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ทำให้ต้องมีการชะลอการดำเนินการทั้ง 3 บริษัท
3.ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย (Downstream) จำนวน 2 บริษัท ได้แก่
-Plastic Plant
-Oil station & terminal
จากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ทำให้ Oil station & terminal ได้มีการชะลอการดำเนินการ
สำหรับประเทศเมียนมาส่งออกก๊าซธรรมชาติให้แก่ไทยในสัดส่วนร้อยละ 15 ของการบริโภคในไทย ดังนั้น จึงมีบทบาทด้านความมั่งคงทางพลังงานกับไทยสูง ในขณะที่เมียนมาพึ่งพาน้ำมันจากไทยเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น
………..
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม