วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVEเทียบคำชี้แจงเอกชน โต้ทุกปม“ปลาหมอคางดำ”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เทียบคำชี้แจงเอกชน โต้ทุกปม“ปลาหมอคางดำ”

ปัญหาปลาหมอคางดำ แพร่ระบาดที่เกิดขึ้น ทาง “เอกชน” ที่ถูกพาดพิงว่า เป็นต้นตอทำให้ปลาหมอสีคางดำ แพร่ระบาดนั้น เคยออกคำชี้แจงมา สรุปประเด็นได้ดังนี้

  • ปี 2553 บริษัทได้นำเข้าปลาหมอสีคางดำ 2,000 ตัว
  • ปลาตายจำนวนมาก เหลืออยู่ในสภาพอ่อนแอเพียง 600 ตัว
  • ขณะรอการตรวจสอบที่ด่านกักกันโดยกรมประมง เหลือเพียง 50 ตัว
  • บริษัทจึงตัดสินใจหยุดการวิจัยในเรื่องนี้
  • มีการทำลายซากปลาตามมาตรฐานและแจ้งต่อกรมประมง
  • ใช้สารคลอรีนเข้มข้น ฝังกลบซากปลาโรยด้วยปูนขาว
  • ยืนยันว่าไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาดดังกล่าว
  • ส่งซากปลาซึ่งดองในฟอร์มาลีน ไปยังกรมประมงในปี 2554

ขณะเดียวกัน จากการตรวจสอบเอกสาร สรุปผลการประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอสีคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย โดยกมธ.อุดมศึกษาฯ สภาผู้แทนราษฎร

การประชุมดังกล่าว เกิดขึ้นในวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

  • กรมประมงอนุญาตเอกชน นำเข้าปลาหมอสีคางดำ 2 พันตัว ในปี พ.ศ.2549
  • เอกชนเป็นผู้นำเข้าเมื่อปี พ.ศ.2553 ที่ศูนย์ทดลองตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
  • ต่อมาได้มีข้อมูลการระบาดของปลาหมอคางดำ จึงได้มีการทำลายฝังกลบซากปลาหมอคางดำ
  • กรมประมงได้รับทราบด้วยวาจา แต่ “ไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการ”

ขณะที่ภาครัฐได้วางแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหา 5 ข้อ คือ

1.การควบคุม
2.กำจัด
3.สำรวจ
4.เฝ้าระวัง
5.สร้างความรู้ ตระหนักรู้ และความเข้าใจในการกำจัดปลาหมอสีคางดำ

โดยขณะนี้ มีการดำเนินการศึกษาวิจัยให้ปลาหมอสีคางดำเป็นหมัน เพื่อลดการขยายพันธุ์และนำมาแปรรูปเป็นอาหาร และการใช้ระบบวงจรชีวิตของสัตว์หรือวัฏจักรของสัตว์น้ำช่วยลดการขยายพันธุ์ เช่น ปลาหมอคางดำเป็นอาหารปลากระพงได้ในบางส่วน

ขณะที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ได้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมกับที่ประชุม โดยจะรับไปดำเนินการเพื่อตรวจดีเอ็นเอ และสปีซี่ส์ปลาหมอสีคางดำ ว่าเป็นสายพันธุ์มาจากแหล่งที่มาสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกาหรือไม่

ผลวิจัยยัน “หมอคางดำ” ระบาด 6 จังหวัด ที่มาแหล่งเดียวกัน

สำหรับประเด็นตรวจสอบดีเอ็นเอ ของปลาหมอสีคางดำ ว่ามีที่มาจากแหล่งใดนั้น ทีมข่าวตรวจสอบเพิ่มเติม จากเอกสารทางวิชาการ โดยกลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง เมื่อปี 2565

เอกสารชิ้นนี้ ชื่อว่า “การวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำในเขตพื้นที่ชายฝั่งของไทย จากโครงสร้างพันธุกรรมของประชากร” กล่าวโดยสรุป งานวิจัยชิ้นนี้ มีการวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดํา ในเขตพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดของไทย 6 จังหวัด คือ

  • สมุทรสงคราม
  • เพชรบุรี
  • ระยอง
  • ประจวบคีรีขันธ์
  • ชุมพร
  • สุราษฎร์ธานี

โดยใช้เครื่องหมายพันธุกรรมไมโตรคอนเดรียล ดีเอ็นเอ เพื่อเปรียบเทียบลักษณะความสัมพันธ์โครงสร้าง และความหลากหลายทางพันธุกรรมของกลุ่มประชากรที่พบแพร่กระจาย

ผลการศึกษาช่วยยืนยันที่มาของการแพร่ระบาด โดยข้อมูลระยะห่างทางพันธุศาสตร์และการจัดลําดับความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการ ชี้ให้เห็นว่าประชากรปลาหมอสีคางดําที่แพร่ระบาดในประเทศไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน

แต่จะมาจากแหล่งใดนั้น เชื่อว่าขณะนี้ ประชาชนคนไทยทุกคน อยากทราบเหมือนกันว่า ใครเป็นต้นเหตุ ปลาหมอสีคางดำ ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เป็นต้นเหตุการทำลายทรัพยากรธรรมชาติสัตว์น้ำของไทยในขณะนี้

……………..

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img