วันศุกร์, กันยายน 13, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVEรู้จัก “CHEM METER” นวัตกรรมตรวจวัดปริมาณโซเดียมในอาหาร
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

รู้จัก “CHEM METER” นวัตกรรมตรวจวัดปริมาณโซเดียมในอาหาร

เปิดเมนู ‘สะเทือนไต’ ส้มตำ-ยำแซ่บ-ปิ้งย่าง เค็มเกิน2 เท่า ทำ ป่วยโรคไม่ติดต่อ 22 ล้านคน สสส.-เครือข่ายลดบริโภคเค็ม เปิดตัวเครื่องวัดโซเดียมสู่การปรับพฤติกรรมสุขภาวะ

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กองควบคุมโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร แถลงข่าว “ชูนวัตกรรม Salt Meter ตัวช่วยขับเคลื่อนมาตรการลดเค็ม” เปิดตัวเครื่องตรวจวัดปริมาณโซเดียมในอาหาร (Salt Meter) ชื่อว่า “CHEM METER”

น.ส.นิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับเครือข่ายดำเนินโครงการต่างๆเพื่อสร้างความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ ลดการบริโภคเค็ม (โซเดียม) ส่งเสริมการจัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) สำหรับ CHEM METER นวัตกรรมตรวจวัดปริมาณโซเดียม ที่สสส.จะนำมาใช้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในไทย พ.ศ. 2559-2568 สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ เช่น โครงการโรงพยาบาลเค็มน้อย อร่อย (3) ดี ชุมชนลดเค็ม 150 แห่งทั่วประเทศ

นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า คนไทยป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียม 22.05 ล้านคน แบ่งเป็นความดันโลหิตสูง 13.2 ล้านคน โรคไต 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด 7.5 แสนคน โรคหลอดเลือดสมอง 5 แสนคน

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า จากการสำรวจการบริโภคโซเดียมคลอไรด์ของประชากรไทย ปี 2566 พบคนไทยได้รับโซเดียมจากอาหารที่กินเฉลี่ย 3,636 มก./วัน มากกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำว่าไม่เกิน 2,000 มก./วัน ทั้งนี้การได้รับโซเดียมเกินคำแนะนำ มีผลต่อความชุกของโรคความดันโลหิตสูง ทำให้ไตเสื่อมเร็ว ปัจจุบันพบคนไข้ป่วยเป็นโรคไตหรือไตวายอายุ 35–40 ปี จากเดิมอายุเฉลี่ย 50–60 ปี มีผลจากวัฒนธรรมการกินของคนไทยที่เปลี่ยนไป ทั้งส้มตำ ยำ อาหารสำเร็จรูป บุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง หมูกระทะ อาหารญี่ปุ่น-เกาหลี ที่มีรสเค็มจัด จากการหมักดองเกลือ หรือใส่เครื่องปรุง ติดรสเค็มแบบไม่รู้ตัว รวมถึงการกินเค็มตั้งแต่เด็ก เช่น ขนมกรุบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กซอง-ถ้วย ดังนั้น เครื่อง CHEM METER จึงพัฒนาให้เหมาะสมกับความเค็มของอาหารไทยที่มีค่าเกลือและไขมันสูง ช่วยให้ผู้ใช้ทราบเกี่ยวกับปริมาณโซเดียมในอาหารและควบคุมการบริโภคเค็มในแต่ละวันได้อย่างแม่นยำ

รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การทำงานของเครื่อง CHEM METER ใช้งานง่าย โดยเฉพาะผู้สูงอายุเมื่อได้เห็นการแสดงผลหน้าจอด้วย emoji ใบหน้าดีใจ-เศร้า ทำให้เข้าใจได้ทันทีว่าอาหารมีความเค็มน้อยหรือมากไป ทั้งนี้จากการทดลองใช้ 300 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลรามาธิบดี คลินิกเฉพาะทางด้านความดันโลหิตสูง ผลการทดสอบประสิทธิภาพการทำงาน พบว่า สามารถวัดปริมาณโซเดียมในอาหารได้ดี ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพัฒนา CHEM METER รุ่นใหม่ ซึ่งจะสามารถให้การรองรับการส่งข้อมูลนำไปคำนวณปริมาณโซเดียมและแสดงผลผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้ผู้บริโภคตรวจสอบปริมาณโซเดียมในแต่ละวันได้ง่ายยิ่งขึ้น.

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img