ในวันนี้กระแสการเมืองร้อนแรงอย่างยิ่ง ทั้งแรงกระเพื่อมใน พรรคพลังประชารัฐ ที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในฐานะเลขาธิการพรรค ประกาศปลดแอก สส. ในพรรค 26 คน และสส.พรรคเล็ก อีก 5 คน รวม 31 คน เป็น เสียงต่อรองเพื่อขอเก้าอี้ “เสนาบดี” อย่างน้อย 3 เก้าอี้ในมือ และ พร้อมแยกทางจาก “พรรคลุงบ้านป่า”
“ประสบการณ์ 6 ปีที่ผ่านมา ได้รับใช้บุคคลคนหนึ่ง และพรรคๆ หนึ่งมามากพอแล้ว ถึงเวลาที่ต้องเดินออกมาแบบไม่ทะเลาะกับใคร” ร.อ.ธรรมนัส กล่าวประโยคทองเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน สส.ฝากฝั่ง “ฝ่ายแค้น” อย่าง “พรรคประชาธิปัตย์” โดย “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” หัวหน้าพรรค แต่งตัวรอเป็น “ตาอยู่” พร้อมนำ สส.ในมือพลิกเข้าร่วมรัฐบาล สลายความเป็นขั้วตรงข้ามกับ “ฝั่งพรรคนายใหญ่” แห่งบ้านจันทร์ส่องหล้า หากดีลขับ “พรรคลุง” ออกจาก ครม.ไม่สำเร็จ
นี่ถือเป็นเรื่องปรกติในการเมืองไทย ที่ตอกย้ำคำว่า “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นบรรทัดฐานหลังจากเหตุการณ์สอย “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกรัฐมนตรี โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญล่าสุดนั้น คือ คุณสมบัติของรัฐมนตรี ตามมาตรา 160
เราลองไปดูกลุ่มว่าที่ “เสนาบดี” ใน “ครม.อุ๊งอิ๊ง 1” ที่อาจสุ่มเสี่ยง ถูกร้องเรียน ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ความเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 มีอยู่ 8 มาตรา ดังนี้
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี
(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
สำหรับคุณสมบัติรัฐมนตรี ที่น่าสนใจ ในมาตรา 160 ที่มักใช้เป็นข้อร้องเรียนให้ตรวจสอบคือ
(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
(7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ / เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(8) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึง 2 ปีนับถึงวันแต่งตั้ง
ย้อนไปในปี 2566 ในการแต่งตั้งรัฐมนตรี ครม.เศรษฐา 1 “ณฐพร โตประยูร” อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร้องเรียนให้ตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี 6 ราย และ 1 ในนั้นคือ “พิชิต ชื่นบาน” อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ครั้งนั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ใช้วิธีการขอให้ “ว่าที่รัฐมนตรีทั้ง 6 ราย” ที่ถูกร้องเรียนคุณสมบัติ / ใช้วิธีการส่งหนังสือชี้แจงกลับมา
ต่อมา สลค. ได้หารือเรื่องดังกล่าว กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ปัญหาเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 (4) กรณีมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมาตรา 160 (5) ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า ทั้ง 2 เรื่องนี้ (ซื่อสัตย์-จริยธรรม) ไม่ได้เป็นปัญหาทางข้อกฎหมาย แต่เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ที่ไม่สามารถตรวจสอบ หรือขอหารือสำนักงานคณะกรรมการกฎษฎีกาได้ เนื่องจากไม่ใช่ปัญหาของข้อกฎหมายที่กฤษฎีการมีอำนาจให้ความเห็น
“แต่เป็นเรื่องอัตวิสัยของแต่ละบุคคล ซึ่งต้องอาศัยข้อเท็จจริงเป็นรายๆ ไป / ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยเรื่องดังกล่าว และไม่มีองค์กรใด ในฝ่ายบริหารวินิจฉัย”
ดังนั้น แน่นอนว่า “คุณสมบัติของรัฐมนตรี” ใน “ครม.อุ๊งอิ๊ง 1” จะต้องคัดสรรบุคคลที่ “ไม่มีประวัติด่างพร้อย” หรือ “ไม่มีความเสี่ยงใดๆ ในเรื่องความซื่อสัตย์และจริยธรรม” เข้ามารับตำแหน่ง “เสนาบดี” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ซ้ำรอยกับยุคอดีตนายกฯเศรษฐา
และเรื่องอัตวิสัยของแต่ละบุคคล ทั้งความซื่อสัตย์ จริยธรรม ที่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงเป็นรายๆ ไปนั้น / ความหมายค่อนข้างกว้าง / ย่อมเข้าทางนักร้องเรียนทั้งหลาย ที่จะยื่นเรื่องเพื่อหวังให้จุดหมายปลายทาง มีการวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญ
โดยว่าที่เสนาบดีใน ครม.อุ๊งอิ๊ง 1 ที่อาจเข้าข่ายกลุ่มถูกยื่นเรื่องตรวจสอบ อาทิ
- กลุ่มให้บุคคลอื่น ทำข้อสอบแทน จนถูกถอดถอนชื่อนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย
- กลุ่มที่เคยต้องคดีอาญา แม้ว่าในเวลาต่อมา จะได้รับอานิสงส์จากกฎหมายล้างมลทิน
- กลุ่มที่เคยถูกคำพิพากษาจำคุก จากคดีชุมนุมทางการเมือง เป็นต้น
แน่นอนว่า การคัดสรร “เสนาบดี” ที่จะร่วม “ครม.อุ๊งอิ๊ง 1” จะต้องถูกคัดเลือกอย่างเข้มข้น ไม่ให้คนที่มีประวัติด่างพร้อยเข้ามามีตำแหน่ง จนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำรอย “ครม.เศรษฐา” ขึ้นมาอีกอย่างเด็ดขาด
เพราะนี่อาจเป็น “ไพ่ใบสุดท้าย” แห่ง “บ้านใหญ่จันทร์ส่องหล้า” ในเกมครองอำนาจการเมืองไทย
……………….
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม