หากเชื่อในสิ่งที่ทำ สมัครสมานสามัคคีรวมกลุ่มกัน และทำให้ถึง การก้าวข้ามอุปสรรคไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม ชาวนาจะผลิตและทำข้าวส่งออกเองก็ไม่เกินจินตนาการ มีตัวอย่างมาแล้วที่ “วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรบ้านห้วยไห” ต.บ้านค้อ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม” ซึ่งผลิตข้าวออแกนิคแปรรูปส่งออกไปทั่วโลกสร้างรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็นกอบเป็นกำ
แต่ก็ไม่ง่ายและไม่เร็วที่จะทำให้กลุ่มฯมีความเข้มแข็งอย่างทุกวันนี้ เพราะทราบกันดีว่าทำนาไม่พอกิน มีแต่เป็นหนี้ค่าปุ๋ยยา สุขภาพก็ถดถอย ชะตากรรมของชาวนาเป็นอย่างนี้มาชั่วนาตาปี แต่การดิ้นรนเอาตัวรอดให้อยู่ได้ในอาชีพชาวนาที่รับไม้ต่อมาจากรุ่นพ่อแม่ของกลุ่มชาวนาบ้านห้วยไห บวกกับผู้นำที่มุ่งมั่นทำให้เขารอด
กลุ่มฯชาวนาที่นี่ทำนาออแกนิค และแปรรูปขายเพิ่มมูลค่า ตอนนี้มีชาวนาออแกนิคในกลุ่ม 34 ราย 700 ไร่ที่ได้เครื่องหมายรับรอง “Organic Thailand” และ 55 ราย 892 ไร่ ได้รับการรับรองมาตรฐานของสหรัฐ “NOP-USDA” และมาตรฐาน “EU Regulation” ของสหภาพยุโรป
นิ่มอนงค์ แก้วไพศาล ประธานกลุ่มฯ หญิงแกร่งแห่งบ้านห้วยไห ซึ่งสวมหมวกหลายใบทั้งประธานกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์จังหวัดนครพนม กลุ่มนาแปลงใหญ่ผลิตข้าวอินทรีย์ บ้านห้วยไห ตำบลบ้านค้อ จังหวัดนครพนม และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรบ้านห้วยไห แล้วก็เป็นวิทยากรในเวทีต่างๆ เล่าอย่างภาคภูมิใจ ว่าที่มาที่มาจากความคิดของป้าเอง ป้าอยู่ในโรงงานทอผ้ามา 29 ปีที่นครปฐมและราชบุรี ชีวิตตอนนั้นโรคภูมิแพ้เล่นงานอย่างหนักแม้แต่มะพร้าว และแตงโมก็กินไม่ได้ ก็เลยกลับมาตั้งหลักที่บ้านห้วยไหบ้านเกิดตัวเอง สานต่ออาชีพชาวนาของพ่อแม่ มองไปมองมารุ่นพ่อแม่ยังทำนาได้ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยา เราต้องทำได้เช่นกัน เป็นที่มาของการทำนาออแกนิค
“เราปลูกข้าวทั่วไปไม่ไหว ราคาข้าวที่ขายได้ กับค่าปุ๋ยยาไม่ทันกัน เหมือนเราเอาเงินไปละลายน้ำ” ทำไปทำมา 10 ปีก่อน พี่นิ่มได้รวมเพื่อนๆชาวนาที่อยากทำข้าวออแกนิคเป็นกลุ่มก้อน และจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรบ้านห้วยไห ในปี พ.ศ.2558 เพื่อรวมกันขายข้าวออแกนิค และแปรรูปข้าวและพืชผลจากแปลงออแกนิค เช่น กล้วย สัปปะรด
ตอนนี้มีชาวนาที่อยู่ในกลุ่มฯ 135 ราย จำนวนนี้ 34 ราย 700 ไร่ ได้เครื่องหมายรับรอง “Organic Thailand” และ 55 ราย 892 ไร่ ได้รับการรับรองมาตรฐานของสหรัฐ NOP-USDA และมาตรฐาน EU Regulation ของสหภาพยุโรป อีก 53 ราย 969 ไร่ปลูกข้าวทั่วไป ซึ่งเราก็ทำตลาดให้ด้วยแต่จะใช้โรงสีอื่น เพราะโรงสีของเราจะทำเฉพาะออแกนิคเท่านั้น
ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ออแกนิคในกลุ่มพี่นิ่มมีหลากหลาย ทั้งข้าวกล้องหอมมะลิ ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ ข้าวกล้องข้าวเหนียวดำ และยังทำสินค้าให้แตกต่างนำข้าวทั้ง 3 ชนิดมาบดเป็นผงขายเป็นอาหารเสริมสุขภาพ แล้วก็ทำข้าวฮางงอกหอมมะลิ ข้าวฮางงอกไรซ์เบอรี่ ข้าวฮางงอกข้าวเหนียวดำที่ทำข้าวฮางงอก เพราะกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดรักสุขภาพ เป็นภูมิปัญญาของถิ่นอีสาน ที่นำข้าวที่ยังไม่สุกดีในระยะเก็บเกี่ยวนำไปแช่ในน้ำสะอาดทิ้งไว้ 1-2 วันช่วยกระตุ้นการงอกของข้าวฮาง นำไปนึ่ง จากนั้นนำไปตากแดดใต้หลังคามุงด้วยตาข่าย แล้วนำไปสีทำการคัดเมล็ดข้าวที่เสียออก และตากอีกหนึ่งแดดเพื่อลดความชื้นเพิ่มสารอาหารมากมายให้ข้าว
นอกจากนี้ทั้งมีสินค้าเป็นผงชงจมูกข้าว 3 ชนิด กล้วยน้ำหว้าผงชงดื่ม เครื่องดื่มผงตะไคร้ผสมใบเตย กล้วยตาก สับปะรดแช่อิ่มอบแห้ง มีการจัดตั้งบริษัท เพชรไพศาลค่ำคูณ เพื่อรองรับและซื้อข้าวออแกนิคอินทรีย์จากสมาชิกกลุ่มมาแปรรูป และหาช่องทางการตลาดทั้งขายในประเทศ และส่งออก
ป้านิ่ม บอกว่า ตอนแรกเราก็ขายไปเรื่อยๆ ก็ใช้การพูดบอกลูกค้า ว่าสินค้าเราเป็นออแกนิค 100% แต่พอลูกค้าถามหาใบรับรองเราไม่มี ก็เลยไปขอใบรับรองออแกนิค นานอยู่กว่าจะได้แต่ก็ทำได้ ทำให้สินค้าเราขายง่ายขึ้นมาก เพราะปัจจุบันมีความต้องการสินค้าออแกนิค เพื่อดูแลสุขภาพมากขี้นเรื่อยๆ และผลิตภัณฑ์ของเรายังได้ OTOP ของจังหวัดนครพนม นอกจากนี้ยังได้รับการันตีอาหารปลอดภัย จากกระทรวงสาธารณสุข ตอนนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นกำลังนำผลิตภัณฑ์ไปวิจัย เพื่อนำสินค้าออแกนิคของเราไปป้อนให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่
ตอนนี้สินค้าเราได้รับการตอบรับจากตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างดี โดยเฉพาะจมูกข้าว 3 ชนิดผงชงพร้อมดื่ม ยอดขายในประเทศ 100 กล่องต่อเดือน กล่องละ 300 บาท และส่งออก เดือนละ 4 ตัน ตันละ 1.2 แสนบาทไปที่ฮ่องกง และจีน ส่วนข้าวฮางงอกเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไป กก.ละ 70 บาท ส่งออกไปเดือนละ 5 ตัน ตันละ 70,000 บาท ไปที่แคลิฟอร์เนีย และอังกฤษ ส่วนข้าวสารออแกนิคมีสัญญากับผู้ส่งออกรอบละ 300 ตันไปตลาดสหรัฐ และยุโรป
ความคึกคักของกลุ่มฯทำให้เห็นว่าชาวนาออแกนิคอยู่ได้แถมมีรายได้เพิ่ม พี่นิ่ม บอกว่า มีชาวนามาเข้ากลุ่มฯเพิ่มขึ้นเพื่อทำข้าวออแกนิคให้ได้การรับรองสามารถขายสินค้าภายใต้กลุ่มฯได้ เพราะแม้เขาทำออแกนิคแต่ไปขายตลาดกลางเขาก็ขายได้ในราคาเหมือนข้าวทั่วไป ราคาข้าวเปลือกกก.ละ 14-15 บาท แต่หากทำออแกนิคและขายให้เราจะได้รับราคา 16-18 บาทต่อกก.แล้วแต่เกรด
ป้านิ่ม บอกว่า ข้าวออแกนิคต้นทุนถูกกว่า เพราะเราใช้ขี้ไก่เป็นปุ๋ย เทียบกับไปซื้อปุ๋ยยูเรียที่ราคาแพงขึ้นทุกวันแถมการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ยังทำให้ดินรวนซุยผลผลิตก็ดีด้วย เราอยู่ได้และได้กินสินค้าปลอดภัยด้วย ตอนนี้พี่นิ่มบอกว่าภูมิแพ้หายไปแล้ว
แต่การพัฒนาต้องไม่หยุดตามคอนเซปต์วิสาหกิจฯบ้านห้วยไห พี่นิ่ม อยากได้รับการสนับสนุนโซลาร์เซลล์ผลิตพลังงาน เพื่อลดรายจ่ายด้านพลังงานทำให้ต้นทุนลดลง ไม่ต้องไปขึ้นราคาสินค้า ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มฯได้รับการสนับสนุนโรงอบแสงอาทิตย์ไว้อบข้าวฮางกล้วย ช่วยลดต้นทุน และรักษาความสะอาดของผลิตภัณฑ์มาแล้ว
ความสำเร็จของพี่นิ่มและกลุ่มฯต้องยกให้กับพลังงานจังหวัดที่มาสนับสนุนด้วย นางสาวมัณฑนา ฟูกุล พลังงานจังหวัดนครพนม บอกว่า กลุ่มวิสาหกิจฯ บ้านห้วยไห เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง สร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในชุมชนด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวออแกนิค และยังมีการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น เครื่องดื่มผงข้าวระยะน้ำนมผสมผักเคล ข้าวกล้องงอกผงชงพร้อมดื่ม และเครื่องดื่ม กล้วยน้ำว้าผงชงดื่ม, ผงตะไคร้ผสมใบเตย ที่ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยกรรมวิธีที่สะอาดมีมาตรฐาน ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน ในส่วนของการสนับสนุนด้านพลังงาน ได้รับงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2565 จำนวน 739,658 บาท ติดตั้งระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 8×20.80 เมตร เพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวที่มีการตากแห้ง ซึ่งการตากในรูปแบบเดิมมีพื้นที่ไม่เพียงพอ และผลิตสินค้าไม่ทันกับความต้องการของตลาด
“การอบแห้ง ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการตากแดดตามธรรมชาติ ซึ่งใช้พื้นที่มาก และยังทำให้ผลิตภัณฑ์แห้งที่ได้มีการปนเปื้อนจากการรบกวนของแมลง ฝุ่นละออง และการเปียกฝน มีผลทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อชุมชนได้นำระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ ช่วยเพิ่มผลผลิตจากเดิมที่ผลิตได้เพียงข้าวฮางงอก ข้าวกล้องงอก และข้าวหอมมะลิ ปัจจุบันก็มีการทำข้าวฮางบด กล้วยตาก สับปะรดแช่อิ่มอบแห้ง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทำให้สินค้ามีมาตรฐาน และทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวได้หลากหลายขึ้น ทำให้สมาชิกไม่ต้องขายข้าวเปลือกธรรมดา มีการประกันราคาข้าวในแต่ละปีให้กับสมาชิกอีกด้วย”
สำหรับสิ่งที่กลุ่มฯอยากได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม นางสาวมัณฑนา ระบุว่าเป็นระบบโซลาร์ผลิตไฟฟ้า เพื่อลดค่าไฟ ซึ่งปัจจุบันในกระบวนการแปรรูปมีค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าไฟอยู่ 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสามารถเข้ามาช่วยได้ ถือเป็นความหวังของชุมชนที่จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในเรื่องเทคโนโลยีในระดับพื้นที่ ทำให้เกิดการพัฒนาในหลายๆด้านรวมถึงด้านเศรษฐกิจ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ได้อย่างดี