ภายหลัง เลขาธิการนายกฯ นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช ได้นำรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดแพทองธาร 1 ส่งให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตรวจทาน และนำรายชื่อครม.ทั้งหมด ส่งให้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา
เพื่อนำไปตรวจสอบลักษณะต้องห้ามและการขัดต่อคุณสมบัติรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติรธน.ฉบับปัจจุบัน สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ล่าสุด ตั้งแต่เช้าวันนี้ มีรายงานข่าวว่า เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฏีกาชุดใหญ่ ซึ่งมี นายมีชัย ฤชุพันธ์ และนายวิษณุ เครืองาม ร่วมอยู่ด้วยพิจารณารายชื่อ “รัฐมนตรี”
ปรากฎว่า บุคคลที่มีปัญหาเข้าข่ายขัดคุณสมบัติ คือ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ซึ่งแกนนำพรรคเพื่อไทย ได้แจ้งให้พรรคภูมิใจไทยทราบแล้ว เพื่อส่งรายชื่อคนใหม่มาเป็นรัฐมนตรีแทนต่อไป
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณชาดาต้องย้อนไปดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ได้ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” รวมถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีถอดถอนคุณเศรษฐาล่าสุด
ศาลระบุเอาไว้ว่ากรณีแต่งตั้งคุณพิชิตชี้ถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้มีลักษณะต้องห้ามและขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 และคำวินิจฉัยดังกล่าว มีผลผูกพันไปทุกองค์กร
นี่จึงเป็นที่มาของการตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีอย่างเข้มงวดในการจัดตั้ง “ครม.แพทองธาร 1” เพื่อไม่ให้ถูกสอยซ้ำรอยอดีตนายกฯ เศรษฐา จนทำให้อดีตรัฐมนตรีอย่างน้อย 2 คนต้องสลับตัวแทนเข้ามาดำรงตำแหน่งคือ
- ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
ทำหน้าที่ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อปี 2563 เหตุต้องโทษในคดี ที่ถูกตัดสินโดยศาลออสเตรเลีย เมื่อปี 2537 และเป็นที่มาของวาทะแห่งปี เมื่อปี 2564 ว่า “มันคือแป้ง” รวมถึงข้อกล่าวหาเรื่องการเรียน “ด็อกเตอร์”
- ชาดา ไทยเศรษฐ์
ทำหน้าที่ “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย” ท่ามกลางข้อครหาว่า เป็น “ผู้มีอิทธิพลใน จ.อุทัยธานี”
ปี 2545 เคยถูกกล่าวหาในคดีจ้างวานฆ่า สุดท้ายศาลยกฟ้อง คดีนี้คุณชาดายืนยันความบริสุทธิ์ตัวเองมาโดยตลอด
ปี 2560 ถูกตรวจค้นรถยนต์และพบอาวุธปืน รวมถึงสิ่งผิดกฎหมายหลายรายการแต่สุดท้ายผู้ครอบครองคือ “ลูกน้อง-คนสนิท” รวมทั้งข่าวคนใกล้ชิด ถูกจับกุมคดีอาชญากรรม
แน่นอนว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญวางมาตรฐานจริยธรรมไว้อย่างเข้มงวด การจัดตั้ง ครม.อิ๊งค์ 1 จึงต้องคัดสรรบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเสนาบดีอย่างเข้มงวด
ดังนั้น หากบุคคลใดอยู่ในเกณฑ์สุ่มเสี่ยงขาดคุณสมบัติขัดมาตรฐานจริยธรรม จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุการเมืองซ้ำรอ
และไม่ได้หมายความว่าบุคคลเหล่านี้กระทำผิดแต่อย่างใด แต่เป็นผลเนื่องจากมาตรฐานจริยธรรมใหม่ของบรรดานักการเมือง ที่ถูกขีดเส้นเอาไว้โดยองค์กรอิสระ อย่างศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง!
……………
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม