นับเป็นโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญส่งท้ายปี จากเหตุ เพลิงไหม้รถบัสขนส่งนักเรียน 23 ศพ
เหตุการณ์นี้ มีการตั้งคำถามถึงความปลอดภัย มาตรฐานของรถบัสทัศนาจรคันนี้ ที่ตรวจพบว่า มีการลอบติดตั้งถังก๊าซเพิ่มอีก 5 ถัง รวมเป็น 11 ถังและอายุการใช้งานของรถ ที่พบเอกสารจดทะเบียนครั้งแรก เมื่อปี 2513
ปูพื้นกันเล็กน้อย ว่ารถบัสประเภทนี้ คือ “รถจดประกอบ” ที่ใช้กันในประเทศไทยในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในปัจจุบัน “ภาครัฐ” ไม่อนุญาตให้มีการจดทะเบียนรถจำพวกนี้แล้ว
วัตถุประสงค์ เนื่องจากแต่ก่อน ที่ประเทศเรากำลังพัฒนา ต้องการใช้รถบรรทุก รถโดยสาร จำนวนมาก อุปสรรคคือรถพวกนี้ของใหม่ราคาสูงเป็นอย่างยิ่ง ภาครัฐก็เลยเปิดให้นำเข้าชิ้นส่วนเข้ามาประกอบรถ บรรทุก รถบัส รถแทรกเตอร์ ต่างๆ ได้
นั่นหมายความว่า แต่ก่อนกฎหมายอนุญาตให้นำแชสซีส์ รถใช้แล้ว นำเข้ามาประกอบตัวถังขึ้นมาเป็นรถ โดยโรงงานที่ผ่านการรับรองจากสรรพสามิต แล้วไปตรวจสอบความแข็งแรงมั่นคงกับวิศวกรขนส่ง จึงสามารถจดทะเบียน นำมาใช้วิ่งโดยสารได้นั่นเอง
สำหรับรถบัสที่มีความสูง 4 เมตร หรือรถบัส 2 ชั้น จะต้องผ่านการทดสอบความเอียง 30 องศา ถึงจดทะเบียนได้ แต่ในปัจจุบันนี้ กฎหมายห้ามรถดังกล่าววิ่งแล้ว เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุนั่นเอง
ต่อมา รัฐได้ยกเลิกกฎหมายให้ประกอบชิ้นส่วนรถจากอะไหล่เก่า ประกาศลงราชกิจจา 17 มิ.ย.2556 เพราะตรวจพบว่ามีพวก “นายทุนหัวใส” นำรถสะสม รถสปอร์ต ซูเปอร์คาร์ เข้ามาจดประกอบ ขายในราคาถูก ไม่ตรงตามเจตนารมณ์นั่นเอง
กลับมาที่รถคันเกิดเหตุ รถดังกล่าวประกอบขึ้นจากแชสซีของอะไหล่รถยนต์เก่ายี่ห้ออีซูซุ แล้วนำเครื่องยนต์เบนซ์ มาประกอบตัวถังขึ้นเป็นคัน มีที่นั่งรวม 41 ที่นั่ง
จากเอกสารที่เราได้มา รถบัสคันนี้ มีการขอตรวจสภาพในวันที่ 5 สิงหาคม 2556 (ประกอบเสร็จไปตรวจสภาพขนส่ง) จากนั้นมีการจดทะเบียนเพื่อใช้งาน เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2561 (หากนับอายุรถจริงๆ ก็คือนับแต่เริ่มการตรวจสภาพรถในปี 56 คือมีอายุ 11 ปี
สำหรับรถบัสคันนี้ แจ้งการติดตั้งถังก๊าซทั้งสิ้น 6 ถัง ตรวจสภาพถังก๊าซล่าสุด เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567
ส่วนก๊าซถัง 6 ถัง ยี่ห้อแบนเนอร์ วันที่ถังหมดอายุ ในปี 2569 ตรวจสอบอุปกรณ์และส่วนควบทั้งหมด ผลคือ “ผ่าน” มีกำหนดตรวจครั้งต่อไป ในวันที่ 19 มิถุนายน 2567 (ซึ่งผ่านมาแล้ว) แต่การตรวจสอบโดน พฐ. ล่าสุด พบมีการลักลอบติดก๊าซ เพิ่มมาอีก 5 ถัง รวมเป็น 11 ถัง
จากข้อมูลโดยสรุป ณ ขณะนี้คือ รถบัสคันดังกล่าว ต่อขึ้นมาในปี 2556 เป็นรถบัส 41 ที่นั่งผู้โดยสาร ผ่านการตรวจสภาพโดยวิศวกรจากกรมการขนส่ง แล้วจดทะเบียน เริ่มนำมาใช้บริการวิ่งรับส่งคนในปี 2561 โดยใช้เชื้อเพลิงเป็นแก๊ส ที่ติดตั้งรวม 6 ถัง
จี้แก้ปัญหาเชิงระบบ ขนส่ง “ตรวจสภาพทิพย์”
แต่ปัญหาที่เราจะพูดถึงต่อไปนี้ นั่นคือ ปัญหาในเชิงโครงสร้าง นั่นคือ ปัญหาการตรวจสภาพทิพย์ การตรวจสภาพ กำหนดให้เจ้าของรถ ผู้ประกอบการ ต้องนำรถยนต์ไปที่ขนส่ง เพื่อตรวจสภาพความแข็งแรงมั่นคง ว่ารถได้มาตรฐานที่จะวิ่งบนท้องถนน เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ผู้ร่วมทางหรือไม่
แต่ปัญหาในปัจจุบัน เนื่องจากมีรถยนต์จำนวนมาก การตรวจสภาพในแต่ละวัน อาจมีข้อจำกัด เลยมีการผ่อนปรนให้ตรวจสภาพนอกสถานที่ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม มีอีกวิธีการ นั่นคือ มี “นายหน้า” คอยวิ่งหาลูกค้าที่ไม่ต้องการเสียเวลา จ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชา เพื่อตรวจสภาพทิพย์ นั่นคือไม่ต้องนำรถไปตรวจที่ขนส่ง แต่จะได้ลายเซ็นรับรองโดยวิศวกร นำไปใช้ต่อภาษี ต่อทะเบียน หรืออื่นๆ ได้ทั้งหมด
อาทิ รถจักรยานยนต์ คันละ 300-400 บาท, รถเก๋ง คันละ 1,000 บาท, รถกระบะ 1,500 บาท ส่วนรถใหญ่ เช่นรถบัสโดยสาร อัตราการจ่ายเงินเพื่อตรวจสภาพทิพย์ จะตกอยู่ที่คันละ 2,000-3,000 บาท เป็นต้น
เมื่อเกิดการ “ลักไก่” ไม่ต้องนำรถมาตรวจสภาพ ก็เลยมีช่องโหว่ ให้ผู้ประกอบการ “ดัดแปลงสภาพรถ” ได้ตามใจชอบ
เช่นกลุ่มรถบรรทุก รถโดยสาร ลักลอบติดตั้งถังก๊าซเพิ่ม เพื่อจะได้เติมก๊าซได้คราวละมากๆ สะดวกวิ่งทางไกล ไม่ต้องไปรอคิวปั๊มเอ็นจีวีนานๆ
เหมือนรถบัสคันเกิดเหตุ ที่ไปลอบติดถังก๊าซเพิ่มอีก 5 ถัง ที่จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งของ “โศกนาฏกรรม” ที่เกิดขึ้น จนต้องสังเวย 23 ชีวิตไปหรือไม่ในอีกไม่นาน เราจะได้คำตอบจากกองพิสูจน์หลักฐาน
นอกจากนี้ หากปล่อยปละละเลยปัญหาเรื่องตรวจสภาพทิพย์ ตามที่เป็นอยู่ ก็อาจเป็นช่องทาง ที่คนร้ายนำ “รถยนต์โจรกรรม” มาสวมซากรถยนต์ถูกกฎหมาย ก็เป็นไปได้อีกเช่นกัน
ล่าสุด กรมการขนส่งทางบกมีคำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ขนส่งสิงห์บุรี ที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจสภาพรถคันนี้ไปแล้วแต่ความจริงต้องรอการพิสูจน์ต่อ ขออย่าเป็นไฟไหม้ฟาง จนต้องมีการถอดบทเรียนอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
……….
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม