วันจันทร์, ตุลาคม 7, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVEอะไรที่ซ่อนอยู่ของ “Dow Thailand” ก่อนจะเป็นฐานผลิตใหญ่ที่สุดในภูมิภาค
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

อะไรที่ซ่อนอยู่ของ “Dow Thailand” ก่อนจะเป็นฐานผลิตใหญ่ที่สุดในภูมิภาค

Dow บริษัทระดับโลกด้านวัสดุศาสตร์ (Materials science) ป้อนอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ และขนส่ง บรรจุภัณฑ์ อาคารและโครงสร้างพื้นฐาน การผลิตเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์​ สีและสารเคลือบผิว อุตสาหกรรมสารยึดติดและสารกันรั่วซึม เป็นต้น ปัจจุบัน Dow มีฐานการผลิตใน 31 ประเทศ มีพนักงานประมาณ 35,900 คน ยอดขายประมาณ 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับประเทศไทย Dow เข้ามาตั้งฐานการผลิตเมื่อ 57 ปีก่อนตั้งแต่ปี 2510 และวันนี้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของ Dow ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วย 13 โรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมฯเอเซีย และนิคมฯดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) จังหวัดระยอง มีทั้งบริษัทที่ Dow เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว กลุ่มบริษัทร่วมทุน SCGC-Dow และที่ร่วมทุนระหว่าง Dow และโซลเวย์ในประเทศไทย

เท่าที่เปิดดำเนินงานในประเทศไทย นับครั้งได้ที่ Dow จะเปิดประตูบ้านให้คนภายนอกได้เข้ามาดู เมื่อเร็วๆนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปี ที่กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เปิดให้เราเห็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของ Dow ในเอเชียแปซิฟิก มองไปลิบๆรอบๆโรงงานของ Dow ในประเทศไทยคราคร่ำไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และสายงานที่เกี่ยวข้องกำลังง่วนกับการทำงาน เพื่อตอบโจทย์โลกในปัจจุบันและอนาคต

สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยของ Dow ไม่ธรรมดา เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ทั้งพลาสติกชนิดโพลิเอทิลีน โพลีสไตรีน อีลาสโตเมอร์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยูรีเทน สไตรีนบิวทาไดอีนเลเทกซ์ โพรพิลีนออกไซด์ และโพรพิลีนไกลคอล และส่วนหนึ่งนำเข้าสินค้าของ Dow ของประเทศอื่นๆมาทำตลาดด้วย เช่น ตัวทำละลาย เคมีภัณฑ์เพื่อการก่อสร้าง ซิลิโคน และพลาสติกชนิดพิเศษ

นายเดชา พาณิชยพิเชฐ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย บอกว่า ไทยเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของ Dow ในเอเชียแปซิฟิก สามารถผลิตวัสดุและเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ ได้มากกว่า 2.5 ล้านตันต่อปี 60% ส่งออกไปยังทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมถึงอินเดีย อีก 40% ป้อนอุตสาหกรรมในประเทศ ปีนี้ยังได้ขยายกำลังการผลิตโรงงานโพรพิลีนไกลคอล เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร น้ำหอม  และผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค

นายเดชา ยังเปิดเผยด้วย ว่าฐานการผลิตในประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในโรงงานของ Dow ที่เป็นเลิศที่สุดในโลกด้านเทคโนโลยีดิจิทัล มีการใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อก้าวสู่ Manufacturing 4.0 โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลและหุ่นยนต์ AI เข้ามาช่วยปฏิบัติงานในโรงงาน ทำให้พนักงานมีความปลอดภัยในการทำงาน ช่วยประหยัดพลังงาน ลดระยะเวลาการทำงาน และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ของโรงงานในเชิงป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เซ็นเซอร์อัจฉริยะ เพื่อเฝ้าระวังการชำรุดของอุปกรณ์และประเมินกำหนดการบำรุงรักษา หุ่นยนต์ AI เพื่อจัดการกับงานที่เป็นอันตรายและลดความเสี่ยงในการทำงานของมนุษย์ และการใช้แอปพลิเคชันมือถือ เพื่อปรับปรุงการทำงานและการสรุปข้อมูลเพื่อตัดสินใจแบบเรียลไทม์

กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ยังเป็นหนึ่งในฐานการผลิตที่มีสถิติความปลอดภัยและความสม่ำเสมอในการผลิตดีที่สุดในโลก จนได้รางวัลต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ สามารถดำเนินงานโดยไม่มีอุบัติเหตุได้มากกว่า 71.8 ล้านชั่วโมง หรือ 4,917 วัน ทุกโรงงานได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับ 4 และได้รับการรับรองคาร์บอนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศ (ISCC Plus) รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น รวมทั้งฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ และฉลากลดโลกร้อน

เราไปค้นพบกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ Dow รักษามาตรฐานจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือศูนย์การวิเคราะห์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ (Center of Advanced Analytical Technology) ที่ Dow ตั้งเป็นแห่งแรกในเอเชียแปซิฟิก เมื่อปี 2560 ที่นิคมฯเอเชีย ลงทุนไปมากกว่า 340 ล้านบาท มีเทคโนโลยีและเครื่องมือด้านการวิเคราะห์ขั้นสูงที่ทันสมัย และเหล่านักวิทยาศาสตร์และนักวิเคราะห์ที่มีความเชี่ยวชาญสูงทำงานร่วมกันทั้งหมด 7 คน เชื่อมโยงการทำงานกับกูรูที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านของ Dow นานาประเทศ

ในแต่ละวันภารกิจของเขาเหล่านี้ก็คือ การแก้โจทย์ยากที่เป็นอุปสรรคปัญหาในกระบวนการผลิต เพื่อทำให้การผลิตผลิตภัณฑ์ของลูกค้าราบรื่น และด้วยสปีดการทำงานที่รวดเร็วทันใจ 3 วันเสร็จ กับประสบการณ์การทำงานตั้งแต่ก่อตั้งศูนย์ฯช่วยบ่มเพาะความเชี่ยวชาญให้กับทีมนักวิทยาศาสตร์และนักวิเคราะห์ทั้ง 7 คนกลายเป็นหน่วยสืบสวนมาตรฐานสากลที่ถูกกล่าวขานของ Dow ระดับโลก เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของ Dow ได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากลูกค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ

ด้วยความท้าทาย และความสำคัญของภารกิจ ปัจจุบันศูนย์การวิเคราะห์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์แห่งนี้ยังคงทำงานแก้โจทย์แตกต่างที่มาไม่เว้นแต่ละวันอย่างแข็งขัน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศมาจนถึงทุกวันนี้

ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 7 คนที่นับว่าหาตัวจับยากในวงการเขาไม่เก็บประสบการณ์ไว้กับตัวแต่ได้ถ่ายทอด ศาสตร์การวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูงให้กับคนไทย โดยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำนิสิตปริญญาเอกเข้ามาร่วมแก้โจทย์ที่เกิดขึ้นจริงในกระบวนการผลิตกับผู้เชี่ยวชาญไทย และกูรูในแต่ละด้านของ Dow ทั่วโลก สามารถปั้นนักวิจัยที่พร้อมทำงานออกไปสู่สังคมได้ 2 รุ่น

นอกจากการมีส่วนผลิตนักวิทยาศาสตร์ชั้นเลิศให้สังคมไทยแล้ว เรื่องสำคัญที่ Dow กำลังมุ่งทำเพื่อสังคมโลกก็คือการเดินทางสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 15% หรือ 5 ล้านตันภายในปี 2573 และเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2568 รวมถึงการดำเนินการตามแผนการบริหารและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

โดยมีเป้าหมายจะสนับสนุนวงจรรีไซเคิลเปลี่ยนขยะพลาสติกและนำวัสดุทางเลือกรูปแบบอื่นๆมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ให้ได้ 3 ล้านตันต่อปีภายในปี 2573 ซึ่งการสนับสนุนวงจรรีไซเคิลนั้น Dow ไม่ได้ทำคนเดียวแต่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลาย เช่น SCGC เพื่อคืนคุณค่าพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่อุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยังจับมือกับชุมชนทำโครงการศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร ที่บ้านฉาง จังหวดระยอง ให้เป็นต้นแบบการคัดแยกและยกระดับคุณภาพวัสดุรีไซเคิลเหลือใช้ในชุมชนด้วยนวัตกรรมและฝืมือคนไทย พร้อมกับดำเนินการรูปแบบธุรกิจชุมชน เพื่อให้พลาสติกใช้แล้ว และวัสดุที่รีไซเคิลได้เข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิลปีละ 1,000 ตัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 2,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

การทำโครงการต่างๆนั้นจะทำให้ Dow บรรลุเป้าหมายในระยะไม่ไกลนัก ที่จะนำแพคเกจจิ้งทั้งหมดของ Dow กลับมารีไซเคิลภายในปี 2578 และหวังที่จะมีส่วนผลักดันให้เกิดการจัดการขยะจากต้นทางตั้งแต่ระดับครัวเรือนเป็นรูปธรรมลดปริมาณขยะในหลุมฝังกลบของประเทศ

สำหรับ Dow เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 และได้ร่วมกับเอสซีจี เคมิคอลส์ ก่อตั้งกลุ่มบริษัทร่วมทุนเอสซีจีซี-ดาว ในปี พ.ศ. 2530 โดยดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมายาวนานเกือบ 60 ปี ด้วยความมุ่งมั่นในพันธสัญญาการดำเนินงานอย่างยั่งยืนและตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img