บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC นับเป็น บริษัทเรือธงของธุรกิจเคมีภัณฑ์ (Chemical Flagship) ของ กลุ่ม ปตท. ด้วยยอดขาย 616,635 ล้านบาทในปี 2566 EBITDA 40,007 ล้านบาทในปีเดียวกัน ด้วยสัดส่วนของ EBITDA 2% เท่านั้นที่เป็นผลิตภัณฑ์สีเขียว (Bio & Circularity ) ขณะที่โลกกำลังไปสู่ Net Zero
นับเป็นแรงผลักดันให้ GC ต้องปรับสัดส่วนกลุ่มธุรกิจนี้ให้มากขึ้น สอดคล้องกับแนวคิดของกลุ่มปตท. ที่มีภารกิจต้องนำประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ.2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีพ.ศ.2608 ซึ่งเป้าหมายนี้ต้องไปด้วยกันทั้งองคาพยพทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนคนเล็กคนน้อยก็ต้องช่วยกันทั้งหมด
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา GC ได้พยายามเป็นพื้นที่ศูนย์กลางในการทำงานร่วมกันของทุกๆ ภาคส่วน โดยจัดงาน GC Sustainable Living Symposium ปีนี้จัดขึ้นภายใต้คอนเซปต์ GEN S GATHERING แนวคิด “ยั่งยืนไม่ยาก” รวมพลังครั้งสำคัญของคนหัวใจรักษ์โลก หรือ GEN S (Generation Sustainability) ปลุกกระแสประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
“ณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC บอกเราว่า “GC พร้อมเป็นแกนกลาง และสนับสนุน เพราะเรื่องนี้เราทำคนเดียวไม่ได้”
ความพยายามนี้ของ GC นับว่าไม่สูญเปล่า เพราะในงาน GC Sustainable Living Symposium 2024 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ต.ค.67 ที่ผ่านมา มีผู้ร่วมงานอย่างหลากหลายจำนวนมากจากทุกภาคส่วน และทุก Generation
“ณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์” CEO GC และ “ทศพร บุณยพิพัฒน์” President GC ได้โชว์ความคืบหน้าโครงการใหญ่ ซึ่งถูกจัดขึ้นรูปแบบนิทรรศการที่แสดงให้เห็นว่า GC เอาจริงในการเพิ่มสัดส่วนของธุรกิจสีเขียวไล่เรียงไปตั้งแต่…
1.โครงการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels : SAF) ที่ GC ยืนยันว่า เป็นการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทยในเดือนมกราคม 2568 ด้วย1 SAF กำลังการผลิต 5 แสนลิตรต่อเดือนหรือ 6 ล้านลิตรต่อปี และขยายกำลังการผลิตเป็น 2 ล้านลิตรต่อเดือน หรือ 24 ล้านลิตรต่อปี ใช้น้ำมันพืชใช้แล้ว (Used Cooking Oil : UCO) เป็นวัตถุดิบหลักจัดหาจากภายในประเทศก่อนไม่พอถึงนำเข้า และกำลังศึกษาในการปรับให้ใช้วัตถุดิบได้หลากหลายขึ้น เช่น Ethanol to Jet หรือใช้เอทานอลเป็นวัตถุดิบ เป็นต้น เป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานของ ICAO และ IATA ในอนาคต ซึ่งประเทศไทยจะเริ่มจากภาคสมัครใจก่อน และจะบังคับในปี 2569 ให้ทุกสายการบินจะต้องใช้ SAF ผสมอยู่ในน้ำมันในสัดส่วน 1% และจะปรับเป็น 2% ในปี 2570 โดยกรมธุรกิจพลังงานอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้มี SAF รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โครงการนี้ GC จับมือกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เรียกว่า “GC ผลิต OR ขาย”
2.โครงการเดินเครื่องกำลังการผลิตโรงงานผลิต PLA พลาสติกชีวภาพ ครบวงจรแห่งที่ 2 หรือ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (Nakhonsawan Bio Complex : NBC) ที่ได้เข้าไปลงทุนในสัดส่วน 50% ร่วมกับพันธมิตร คือ Cargill และ เนเจอร์เวิร์ค เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปลายปี 2568 ซึ่งใช้น้ำตาลจากอ้อยเป็นวัตถุดิบหลักผลิต Lactic Acid นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต PLA กำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี
3.ขยายตลาดผลิตภัณฑ์เคลือบผิวในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตสูง เช่น ยานยนต์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยลดการสูญเสีย ลดผลกระทบในกระบวนการผลิต และสิ่งแวดล้อม ดำเนินงานผ่าน บริษัท Allnex Holding GmbH (allnex) ที่มีโรงงานและฐานธุรกิจสารเคลือบผิว (Coating Resins) อยู่ 34 แห่งทั่วโลก และยังจะตอบสนองต่อการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ (High Value & Low Carbon Business) ที่ GC มีเป้าหมายที่จะผลักดันรายได้จากผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จาก 10% ให้เป็น 20% ภายใน 3-5 ปี
4.ทำงานร่วมกับบริษัทกลุ่ม ปตท. ในการพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) ในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทย ชื่อว่า “Eastern Thailand CCS Hub” ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักด้าน CCS ของประเทศ เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรี
ปัจจุบันโครงการกลุ่มปตท. ดำเนินการศึกษาความเป็นได้ทางเทคนิคทั้งดักจับ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งมีการศึกษาศักยภาพในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน โดยมีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และปตท.สผ. ดำเนินงานศึกษาร่วมกับผู้แทนจากรัฐบาลญี่ปุ่น
โครงการนี้ “CEO ณะรงค์ศักดิ์” อธิบายว่า ถ้าไม่มี CCS ประเทศจะไปที่ Net Zero ไม่ได้ เพราะภาคอุตสาหกรรมยังต้องเดินหน้า ซึ่งจะต้องไปทีละขั้นตอน เริ่มต้นจะต้องหาวิธีดักจับ CO2 ในกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ และรอเทคโนโลยีสักระยะ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้การกักเก็บ CO2 จากนั้นอีก 10-15 ปี ถึงจะไปสู่การนำ CO2 ที่กักเก็บไว้นำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตพลาสติก หรืออาหาร เป็นต้น
ในงาน GC Sustainable Living Symposium 2024 ยังมีเวทีเสวนาต่างๆเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองสู่ความยั่งยืน ในหัวข้อ “กลไกการเร่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมาย Net Zero” มีผู้ร่วมเสวนาจากภาคส่วนต่างๆ โดย “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ภาครัฐกำลังออกกฎระเบียบและมาตรการสนับสนุนภาคการผลิตในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การส่งเสริมให้เกิดโครงการ CCS เป็นต้น รวมถึง การซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนผ่านกลไก Direct PPA หรือ การซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าโดยตรง (Direct Power Purchase Agreement) และ UGT หรือ Utility Green Tariff ซึ่งกำลังพิจารณาอัตราให้เหมาะสม
ส่วน “ประวิทย์ ประกฤตศรี” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เสนอให้ภาครัฐเร่งออกกฎหมายและกลไกมาสนับสนุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อลดการปล่อย CO2 และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 เช่น การสนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำวัตถุดิบทางการเกษตรไปใช้ลดการเผา เป็นต้น
ทางด้าน “ดร.ชนะ ภูมี” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำให้สมดุลด้วย เพราะไทยมีทั้งช่วงน้ำเกินและน้ำขาด
ขณะที่ “พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย” ผู้แทนจากสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า ธนาคารต่างๆ ได้ปรับแนวทางการให้เงินสินเชื่อกับโครงการที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) มากขึ้น มียอดการออกหุ้นกู้ ESG เพิ่มขึ้นตามลำดับ จากปี 2561 อยู่ที่ 7-8 พันล้านบาท ปัจจุบันมียอดคงค้าง 3.5 แสนล้านบาท แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องการให้มีการลงทุนโครงการ ESG ให้ถึง 4-5 แสนล้านบาทต่อปี โดยขณะนี้กำลังให้การสนับสนุนกลุ่ม SME ให้ดำเนินโครงการ ESG ด้วย โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา 9 ธนาคารได้ออกวงเงินสินเชื่อ 2 แสนล้านบาทดอกเบี้ยต่ำระยะยาว 5-10 ปี วงเงิน 100% ของโครงการ เพื่อให้ SME ลงทุนโครงการ ESG
เหล่านี้คือส่วนหนึ่งในงาน GC Sustainable Living Symposium ในปีนี้ ที่จัดขึ้นภายใต้คอนเซปต์ GEN S GATHERING แนวคิด “ยั่งยืนไม่ยาก” รวมพลังครั้งสำคัญของคนหัวใจรักษ์โลก หรือ GEN S (Generation Sustainability) ปลุกกระแสประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
…………..
รายงานพิเศษ : “ศรัญญา ทองทับ”