คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองการมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โดย “อังคณา นีละไพจิตร” มีการประชุมติดตามกรณีสาวไทย ถูกลักพาตัวไปโดยเกาหลีเหนือ เมื่อ 46 ปีก่อน
วาระประชุมที่น่าสนใจคือ การติดตามเรื่องความช่วยเหลือ นางสาวอโนชา ปันจ้อย ชาว อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ที่ถูกระบุว่า ทางการเกาหลีเหนือ ลักพาตัวไปตั้งแต่ พ.ศ.2521 หรือ 46 ปีก่อน มีนายเอบีฮาระ โทโมฮารุ ประธานกลุ่มช่วยเหลือผู้ที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ (เชียงใหม่) ให้ข้อมูล
เราไปลองไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ การลักพาตัวคุณอโนชา หญิงสาวชาวสันกำแพง ที่ปัจจุบัน เธอจะมีอายุ 77 ปีเต็ม
-ต้นปี 2521 นางสาวอโนชา ปันจ้อย เดินทางไปทำงานที่มาเก๊า พร้อมเพื่อนคนไทย
-วันที่ 21 พฤษภาคม 2521 นางสาวอโนชา ปันจ้อย ถูกลักพาตัวจากมาเก๊าไปเกาหลีเหนือ
-ตุลาคม 2548 ครอบครัวพบว่านางสาวอโนชา ปันจ้อย ยังมีชีวิตอยู่ จากการเปิดเผยข้อมูลของนายชาร์ล โรเบิร์ต เจนกินส์ อดีตทหารอเมริกันหนีทัพที่เข้าไปเกาหลีเหนือ และออกมาให้ข่าวต่อสื่อมวลชนในช่วงเวลานั้น
-ธันวาคม 2548 นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือ แต่ถูกปฏิเสธเรื่องการลักพาตัว
-กรกฎาคม 2549 นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เสนอต่อรัฐบาลเกาหลีเหนือในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างไทย-เกาหลีเหนือเพื่อติดตามข้อมูลและความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว แต่ทางการเกาหลีเหนือไม่มีการตอบกลับ
-กันยายน 2549 คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ประชุมเรื่องดังกล่าวเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ก่อนเกิดรัฐประหารขึ้นในไทย
-มิถุนายน 2552 ครอบครัวปันจ้อยส่งหนังสือขอความอนุเคราะห์ความช่วยเหลือต่อประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา แต่ไม่มีคำตอบรับหรือความเคลื่อนไหว
-มกราคม 2553 ครอบครัวปันจ้อยส่งหนังสือถึงนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขอเจรจาเรื่องดังกล่าวกับเกาหลีเหนือ
-มีนาคม 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบกับเอกอัครทูตเกาหลีเหนือ มีการยกชื่อเรื่อง แต่ไม่มีการเจรจาเรื่องนี้
-ตุลาคม 2553 ครอบครัวปันจ้อยยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอความช่วยเหลือในการติดตามเรื่องดังกล่าว
-มกราคม 2555 ครอบครัวปันจ้อยยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
-มกราคม 2557 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีมติให้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีและกระทรวงการต่างประเทศ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ติดตามผลการดำเนินงาน
-พฤษภาคม 2557 ประเทศไทยเกิดรัฐประหาร รัฐบาลชุดต่อมาไม่มีการเจรจาหรือดำเนินการแต่อย่างใด
-พฤษภาคม 2562 รัฐบาลไทยปฏิเสธการเป็นเจ้าภาพร่วมการจัดประชุม เรื่อง การลักพาตัวชาวต่างชาติโดยเกาหลีเหนือ ณ สำนักงานใหญ่ UN นครนิวยอร์ก มีครอบครัวปันจ้อยเข้าร่วมการประชุมในฐานะวิทยากร
-กรกฎาคม 2562 กลุ่มช่วยเหลือผู้ที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือและครอบครัวปันจ้อย ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่เพื่อขอให้พิจารณาให้ความช่วยเหลือ แต่ไม่มีคำตอบรับหรือความเคลื่อนไหว
จากนั้น กลุ่มช่วยเหลือผู้ที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ และครอบครัวปันจ้อยส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผ่านสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวเชียงใหม่
เพื่อขอเข้าพบ และขอให้พิจารณาบรรจุวาระการเจรจาเรื่องดังกล่าวของการประชุมภาคี ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของไทยและเกาหลีเหนือ แต่ไม่มีคำตอบรับหรือความเคลื่อนไหว
-กรกฎาคม 2563 กลุ่มช่วยเหลือผู้ที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือและครอบครัวปันจ้อย ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอเข้าพบและติดตามความคืบหน้า แต่ไม่มีคำตอบรับหรือความเคลื่อนไหว
จากนั้นกลุ่มช่วยเหลือผู้ที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ และครอบครัวปันจ้อยส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผ่านสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวเชียงใหม่ เพื่อขอเข้าพบและติดตามความคืบหน้า แต่ไม่มีคำตอบรับหรือความเคลื่อนไหว
-กุมภาพันธ์ 2565 กลุ่มช่วยเหลือผู้ที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ ส่งหนังสือถึงประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาการลักพาตัวชาวไทยโดยรัฐบาลเกาหลีเหนือ มีการรับเรื่องอย่างเป็นทางการ และยังอยู่ในการขั้นตอนการพิจารณา
-พฤศจิกายน 2567 คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองการมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน ชุดคุณอังคณา มีการหารือเรื่องนี้
ปัจจุบันรัฐบาลเกาหลีเหนือยังคงปฏิเสธคำยืนยันของนายชาร์ล โรเบิร์ต เจนกินส์ และการมีอยู่ของนางสาวอโนชา ในเกาหลีเหนือ การเจรจาเพื่อขอส่งตัวนางสาวอโนชา กลับประเทศไทยระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเกาหลีเหนือ มานานกว่า 19 ปี ยังไม่มีความคืบหน้า
สำหรับผลการหารือเมือวานนี้ คณะกรรมาธิการ พิจารณาเห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565
อีกทั้ง ให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ หรือ ICPPED จึงเห็นสมควรมีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการดำเนินการและการให้ความช่วยเหลือนางสาวอโนชา
สำหรับกรณีดังกล่าว เป็นการสูญหายนอกราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว อีกทั้งยังมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จะมีบทบาท ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้กฎหมายมีผลในทางปฏิบัติ รวมทั้ง กระทรวงการต่างประเทศจะป้องกันไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก
ต้องบอกว่า ความพยายามของครอบครัวปันจ้อย ที่จะช่วยเหลือคุณอโนชากลับประเทศไทยนั้น เริ่มร้องเรียนเป็นทางการตั้งแต่ยุคนายกฯทักษิณ จนถึงวันนี้ ผ่านมาถึงยุคนายกฯอุ๊งอิ๊ง
ผ่านมา 9 นายกรัฐมนตรี รวมระยะเวลาที่คุณอโนชาสูญหายไป 46 ปี เรียกว่าครอบครัวยังมีความหวัง ที่จะได้พบกันอีกครั้ง
…………
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม